HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 22/08/2556 ]
กล้ามเนื้อปวดล้าจากการทำงาน

 พนักงานออฟฟิศที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ มักจะเกิดอาการปวดล้าบริเวณต้นคอ หลัง ไหล่ ข้อนิ้วมืออยู่เป็นประจำ จนหลายคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการทั้งหมดที่ว่ามานั้นอาจจะเข้าข่ายอาการที่เรียกว่า WMSDs Work-Related Musculoskeletal Disorders หรือแปลได้ว่า อาการกล้ามเนื้อปวดล้าจากการทำงาน ซึ่งไม่ใช่อาการปวดธรรมดาๆ อีกต่อไป เพราะถ้าไม่ดูแลเอาใจใส่อาจจะกลายเป็นโรคเรื้อรังตามมาได้
          นพ.ภรชัย อังสุโวทัย รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธน ให้ความรู้เชิงวิชาการเรื่อง "ห่างไกลกล้ามเนื้อปวดล้าจาก WMSDs เพื่อสุขภาพที่ดีของหนุ่มสาวออฟฟิศ" ซึ่งจัดโดย บริษัท อังกฤษตรางู (แอล.พี.) จำกัด ร่วมกับโรงพยาบาลนครธน ว่า โรคนี้ส่วนใหญ่มาจากการทำงานในท่าเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา เป็นเวลานาน นอกจากนั้น สิ่งแวดล้อมก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เช่น การทำงานในสถานที่คับแคบ หรือโต๊ะทำงานอยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสมกับร่างกาย อุณหภูมิ และแสงสว่างในห้องไม่เหมาะสม อีกอย่างคือความเครียด เพราะเมื่อเกิดอาการเครียด สารบางอย่างที่หลั่งในสมองจะส่งสัญญาณมาที่กล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว เกร็งตัว เกิดอาการเจ็บขึ้นมา
          เหตุที่ทำให้ WMSDs ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไปก็เพราะว่าทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงเนื่องจากผู้ที่ทำงานเกิดความรู้สึกปวดล้า ไม่สบายตัวบางครั้งต้องหยุดงานเพื่อไปรักษาตัว และที่สำคัญต้องใช้ค่ารักษามหาศาล
         ส่วนวิธีป้องกันมี 3 ปัจจัยหลักคือ
          1. ด้านเครื่องมือ ควรออกแบบเครื่องมือ เครื่องจักร รวมถึงการออกแบบลักษณะและวิธีการทำงานให้เหมาะสมและสะดวกกับผู้ใช้ให้มากที่สุด  เพื่อให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น
          2.ด้านมนุษย์ ควรปรับเปลี่ยนลักษณะท่าทางการทำงานให้ถูกวิธี เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อเกิดอาการล้า การฝึกยืดกล้ามเนื้อ การเพิ่มพลังกล้ามเนื้อ การผ่อนคลายความเครียด และรู้จักช่วงเวลาพักเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย
          3. ด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ขนาดของห้องทำงาน แสงสว่างภายในห้อง ระดับความดังของเสียงบริเวณที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งอุณหภูมิห้อง ควรจัดให้เหมาะสมกับการทำงาน
          ส่วนในด้านการรักษานั้น กรณีเพิ่งเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อแบบเฉียบพลัน สามารถใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของยาในกลุ่มต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไดโคลฟีแนก เพื่อคลายอาการปวดและอักเสบของกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งมีมากมายหลายผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด
          หากปวดมากสามารถใช้ยาทาควบคู่กับยาชนิดรับประทานได้ แต่ไม่ควรกินยาในปริมาณมาก และติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะยามีผลระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือใช้ยาทาประกอบกับการรักษาโดยกายภาพบำบัด แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาด้วยการปรับลักษณะท่าทางให้เหมาะสมในการทำงาน เพื่อป้องกันอาการปวด หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะถ้าละเลยหรือไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องแล้วอาจเกิดโรคเรื้อรังตามมาได้ เช่น เส้นเอ็นยึด กระดูกอักเสบ อาการปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ การบวมอักเสบของข้อต่อที่หัวไหล่ และพังผืดทับเส้นประสาทข้อมือ ทำให้เกิดอาการมือชา หากกายภาพบำบัดเป็นเวลานานแล้วยังไม่หายอาจต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด


pageview  1205889    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved