HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 16/07/2556 ]
โลกเปลี่ยนไปแล้ว! เลิกง้อลูกหลาน 'สูงวัย'แห่จอง'คอนโดผู้เฒ่า'

  ถ้าเป็นเมื่อ 10 ปีก่อน การสร้าง "คอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงอายุ" ยูนิตละ 850,000 บาท ให้สิทธิแก่ลูกค้าเข้าพักอาศัยได้ตลอดชีพ แต่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องพักให้กับลูกหลานหรือญาติคนอื่นๆ ได้ คงหาลูกค้ายากเต็มที
          ทว่า การเปิดตัวของ "สวางคนิเวศ" คอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงอายุ เฟสที่ 2 เมื่อปีที่แล้ว ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าวัย 55 ปีอัพ อย่างล้นหลาม เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความจริงบางอย่าง
          เราพูดกันถึงแต่สังคมผู้สูงวัยที่กำลังจะก้าวเข้ามา ซึ่งว่ากันตามจริงสังคมไทยย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่เมื่อ 9 ปีที่แล้ว และกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (หมายถึงมีสัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 20% และอายุ 65 ปีขึ้นไปเกินกว่า 14% ของประชากรทั้งหมด) ในอีก 11 ปีข้างหน้า
          น่าแปลกที่ว่า มีการเตรียมรองรับปรากฏการณ์นี้มาตั้งแต่ 60 ปีก่อน โดยการตราพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ พ.ศ.2494 เพื่อเป็นหลักประกันด้านรายได้ของข้าราชการเมื่อถึงวัยเกษียณ
          พ.ศ.2496 กรมประชาสงเคราะห์สร้างบ้านบางแคให้แก่ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งหรือยากจน และเปิดศูนย์บริการผู้สูงอายุในปี พ.ศ.2522
          และในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับภารกิจของรัฐต่อประชากรสูงอายุไว้ในมาตรา 53 และ 80(1) นั่นคือรัฐต้องสงเคราะห์และจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้
          แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่คืบหน้าไปสักเท่าใด "สวางคนิเวศ" โครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเล็งเห็นว่า จำนวนประชากรผู้สูงอายุจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทรงต้องการให้สภากาชาดไทยจัดสร้างอาคารที่พักเพื่อตอบสนองการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุที่เหมาะสม
          เฟส 2 ที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว 300 ยูนิต เต็มจนล้น มีรายชื่อผู้จองคิวยาวเป็นหางว่าว เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงถึงวิถีของสังคมยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปแล้ว
          จากที่เคยเป็น "ครอบครัวขยาย" อยู่กันอย่างอบอุ่น 3 เจเนอเรชั่น กลายเป็น "ครอบครัวเดี่ยว" คนเป็นโสดมากขึ้น มีลูกน้อยลง มีทั้งพ่อ/แม่ใบเลี้ยงเดี่ยวเต็มไปหมด และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเริ่มมองหาสถานที่ที่ตนสามารถฝากผีฝากไข้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตด้วยตนเองอย่างอิสระ สบายใจกับชุมชนคนวัยเดียวกันมากยิ่งขึ้น
          "มติชน" แวะไปเยี่ยมเยือนชุมชนสวางคนิเวศ ที่บางปู จ.สมุทรปราการ สมาชิกหลายต่อหลายท่านที่ได้พูดคุยด้วยต่างบอกว่า "เดินเข้ามาจองห้องพักด้วยตนเอง"
          เช่น รัชดาวรรณ ตั้งมั่น ในวัย 60 ปี กำลังจะเกษียณจากงานในต้นปีหน้า สมาชิกใหม่ของห้องพักในเฟส 2 ที่ตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า "ไม่เคยสนใจ ถ้าจะมีคนมองว่าถูกโดดเดี่ยวจากลูกหลาน"
          รัชดาวรรณ เป็นหนึ่งในตัวแทนของคนเจน-เอ็กซ์ เป็นกลุ่มเป้าหมายของ "สวางคนิเวศ" ที่ภาษาทางการตลาดว่า ระดับ C+ ถึง B หัวสมัยใหม่ รักอิสระ มีการศึกษา
          เธอเปรียบพฤติกรรมผู้บริโภคของ "สวางคนิเวศ" ว่าต่างจาก "บ้านบางแค" อย่างชัดเจนที่ "เมื่อก่อนผู้สูงอายุถูกจูงเข้าไป แต่ที่นี่ส่วนใหญ่ตั้งใจเดินเข้ามาเอง"
          ขณะที่ พญ.นาฏ ฟองสมุทร กรรมการโครงการที่พักผู้สูงอายุ สวางคนิเวศ อธิบายถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันว่า
          "สังคมไทยในอุดมคติที่เราโหยหาเมื่อ 50 ปีก่อน มีทั้งคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายและหลานอยู่ด้วยกัน ถามว่าในชีวิตจริงของเรายังมีอยู่เยอะมั้ย ต่างจังหวัดอาจจะยังพอมี แต่สังคมในเมืองจริงๆ หายากแล้ว
          "สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ทัศนคติของผู้สูงอายุเปลี่ยนไป ผู้สูงอายุรุ่นเก่า ความสุขในชีวิตคือได้อยู่กับลูกหลาน มีหลานให้เลี้ยง แต่ถามท่านที่เป็นเจเนอเรชั่นใหม่ ท่านต้องการเป็นอิสระ ดูแลตัวเองได้ และส่วนหนึ่งเริ่มมองว่า การอยู่ด้วยกันเหมือนจะเป็นภาระให้ต้องดูแล
          "แต่ละท่านที่พักที่นี่มีความภาคภูมิใจว่าไม่เป็นภาระของใคร ดูแลตนเองได้ เพราะมีการเตรียมพร้อมมาตั้งแต่วัยทำงาน ทั้งเรื่องการเงิน วิถีชีวิต และการดูแลสุขภาพ
          "ที่นี่คอนเซ็ปต์ไม่ได้เป็นการสงเคราะห์ ทุกท่านตัดสินใจด้วยตัวเองที่จะเข้ามาพักที่นี่ เรามองว่าผู้สูงอายุไม่ได้ไร้ประโยชน์ แต่ยังมีคุณค่า ยังประโยชน์ให้กับสังคมและคนรอบข้างได้ ฉะนั้น กิจกรรมที่เราจัดขึ้นเสมอ จึงเป็นกิจกรรมที่เป็น 'ผู้ให้' ต่อสังคม ไปแจกของเด็กๆ ในอนาคตจะมีจิตอาสาไปสอนเด็กๆ ที่โรงเรียน"
          คุณหมอนาฏบอกอีกว่า เมื่อ 16 ปีก่อน ตอนที่เปิดเฟสแรก สังคมยังไม่รู้จัก สังคมยังนึกไม่ออกถึงทางเลือกที่เป็นไลฟ์สไตล์แบบนี้ ต้องใช้เวลาให้ความรู้กับสังคมไปเรื่อยๆ ประกอบกับผู้สูงอายุกลุ่มใหม่ คือกลุ่มนี้ที่ไปเห็นในต่างประเทศมาแล้วเข้าใจว่า "สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ไม่ใช่สถานสงเคราะห์" แต่เป็นทางเลือกของไลฟ์สไตล์หนึ่งสำหรับผู้สูงอายุที่คิดว่า อยากอิสระ มีคุณค่าในตัวเอง และปลอดภัยด้วย ทุกคนมีภาพชัดเจนว่าในอนาคตตนเองจะเป็นอย่างไร
          ที่นี่เราไม่ได้เรียกว่าเป็นการ "ซื้อขาย" ทุกท่านจะภูมิใจว่าเป็นการ "บริจาค" ก่อสร้างตึกเพื่อสภากาชาด และสิ่งที่สภากาชาดตอบแทนกลับไปก็คือสิทธิในการพักอาศัยตลอดชั่วชีวิต
          หมอนาฏบอกว่า หลังจากที่คณะกรรมการโครงการตกลงใจให้เริ่มต้นโครงการในเฟส 2 ซึ่งด้วยพื้นที่ที่มากถึง 23 ไร่ ประกอบด้วยอาคาร 6 ชั้น รวม 8 อาคาร จึงว่าจ้างบริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ (แอลพีเอ็น) เข้ามาบริหารในส่วนของอาคาร
          "สภากาชาดไม่จำเป็นต้องเก่งทั้งหมด อันไหนเราไม่เก่ง เราก็จ้างคนที่เก่งที่เชี่ยวชาญเข้ามาทำ ส่วนสภากาชาดเก่งเรื่องสุขภาพก็ทำเรื่องสุขภาพ แต่ขณะเดียวกันเราก็สร้างทีมของเรา เรียนรู้การบริหารไปด้วย"
          แน่นอนว่า การดำเนินงานของเฟส 2 ส่วนสำคัญมาจากการพัฒนาต่อยอดจากเฟส 1
          "เราเปิดมา 16 ปี ข้อมูลที่ได้มาจากเสียงสะท้อนของคนที่อยู่ที่นี่ นับเป็นงานวิจัยชั้นดี ฉะนั้นจะเห็นว่าห้องพักในเฟสที่ 2 ใหญ่กว่าเฟสแรก คือ 40 ตร.ม. (เฟสแรก 30 ตร.ม.) มีการแบ่งโซนนิ่ง เป็นส่วนของห้องนอน มุมรับแขก ห้องครัว ห้องน้ำ โดยประตูเป็นประตูสไลด์เพื่อสะดวกกรณีที่ใช้รถวีลแชร์ และมีปุ่มสัญญาณฉุกเฉิน 2 จุด คือที่หัวเตียงและในห้องน้ำ"
          คุณหมอนาฏสะท้อนภาพของสังคมไทยในอนาคตว่า เชื่อว่าจะมีโครงการในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีกมาก เพราะคนอายุ 40 ขึ้นไป เริ่มมองแล้วว่าเขาจะอยู่อย่างไรที่ไม่เป็นภาระกับลูกหลาน และมีกลุ่มหนึ่งคือไม่มีลูกหลาน เพราะอยากมีอิสระ มีวิถีชีวิต มีเพื่อนที่ความสนใจใกล้เคียงกัน
          "เพราะสิ่งสำคัญมากอย่างหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุคือ ต้องได้รับการกระตุ้นโดยปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ กระตุ้นโดยการออกกำลังกาย เห็นแสง มีที่โล่งกว้างๆ ถ้าเราเก็บผู้สูงอายุอยู่กับบ้านมีแต่จะเฉาลง" สวางคนิเวศไม่ใช่ อาคาร ไม่ใช่ตึกที่เราเห็น แต่สวางคนิเวศคือวิถีชีวิต-วิถีชีวิตที่มีเพื่อนฝูง มีกิจกรรม ซึ่งส่งเสริมสุขภาพและสามารถทำประโยชน์กับสังคมได้ด้วย
          ถามว่าจะมีเฟสต่อไปหรือไม่ คุณหมอนาฏตอบทันทีว่า...
          "ไม่ทำแล้วค่ะ สภากาชาดไม่ได้มีอาชีพสร้างตึก แต่ที่นี่มีองค์ความรู้ มาดูมาใช้ที่นี่เป็นต้นแบบ เป็นโรงเรียน แล้วเอาความรู้จากที่นี่ไปใช้พัฒนาต่อไป เรายินดีให้คำแนะนำ"
          อัมพร งามเอก อายุ 84 ปี
          มาจองห้องพักตั้งแต่ยังไม่ก่อสร้าง เพราะตัวคนเดียว (โสด) จะพึ่งใครไม่ได้เลยในโลกนี้นอกจากพึ่งตัวเอง และเป็นคนชอบอิสระ ฉะนั้นก็เก็บสะสมเงินไว้บั้นปลายเพื่อที่จะพึ่งตัวเอง แล้วก็มานั่งนึกว่า ถ้าเราเจ็บ ช่วยตัวเองไม่ได้ เราจำเป็นต้องหาคนมาดูแล จึงบริจาคเพิ่มอีก 1 ยูนิต เพราะ 1.มั่นใจในความปลอดภัย 2.บริจาคเพื่อเป็นการกุศลต่อไป โดยไม่ยึดถือว่าจะต้องเป็นของเราหรือเป็นหลานของเรา แต่เป็นการอุทิศเป็นการกุศล เพราะเป็นของสภากาชาดไทย และคิดว่าเราคนเดียว ใช้เงินไป ตายก็หมดพอดี
          รัชดาวรรณ ตั้งมั่น อายุ 60 ปี
          สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจคือ โครงการนี้เป็นของสภากาชาด การบริจาคแบบนี้คิดว่าเราได้คืนมามากกว่าด้วยซ้ำ เพราะชีวิตเราจะอยู่ยาวหรืออยู่สั้น เราไม่ทราบ แต่ตอบโจทย์เราได้หมด และคิดว่าเราคงจะมามีเพื่อนชุดสุดท้ายที่อายุเท่ากัน มีเรื่องที่เราจะคุยกัน ชีวิตไม่ต้องรีบร้อน มีกิจกรรมร่วมกัน ได้ช่วยเหลือกัน และเรารับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้โดยที่เราไม่เดือดร้อน เพราะสุดท้าย ถ้าเราป่วยกะทันหัน เราก็คงจะอยู่ในมือพยาบาลทันที


pageview  1205475    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved