HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 08/07/2556 ]
วัณโรคในสัตว์

 ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ จ.สุรินทร์ ประกาศว่า มีการพบวัณโรคระบาดในกระบือตามชายแดน จ.สุรินทร์ พร้อมระบุให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่เกิดโรคระบาดในสัตว์ จากการตรวจสอบกระบือทั้ง 259 ตัวนั้น พบว่ามีกระบือที่ติดเชื้อวัณโรคแล้ว 3 ตัวและต้องทำลายทิ้ง ส่วนที่เหลือกักกันไว้สังเกตอาการนั้น
          วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคคุ้นหูว่าเป็นโรคที่เกิดในคน แต่ความจริงสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน และคนสู่สัตว์ได้ทั้งนั้น
          มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า ไมโคแบคทีเรียม โบวิส (Mycobacterium bovis) ซึ่งเชื้อแบคทีเรียมีด้วยกันหลายสายพันธุ์ มีทั้งสายพันธุ์ที่เกิดเฉพาะในคน สายพันธุ์ที่เกิดเฉพาะในสัตว์และการข้ามสายพันธุ์
          นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า ในอดีตที่การเลี้ยงปศุสัตว์ยังไม่อยู่ในรูปแบบฟาร์ม ความเจริญในเชิงการฆ่าเชื้อยังไม่มากนัก พบการติดเชื้อวัณโรคจากสัตว์สู่คนในแถบยุโรป โดยเกิดจากการดื่มนมวัว
          ทางทฤษฎีในปัจจุบันจึงถือว่า การติดเชื้อจากคนสู่สัตว์มีความเป็นไปได้ แต่การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนแทบไม่เกิดขึ้นและเป็นไปได้น้อยมาก สาเหตุเนื่องจาก การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดวัณโรคนั้น ไม่ได้ติดต่อกันง่ายนัก เปรียบเทียบจากกรณีการติดเชื้อระหว่างคนสู่คน ในพื้นฐานที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันดี ถ้าคน 100 คนอยู่รวมกันในห้องที่มีเชื้อแบคทีเรียวัณโรคจะมีคนติดเชื้อเพียง 30 คน หรือ 1 ใน 3
          การติดต่อของเชื้อวัณโรค จะได้รับจากช่องทางการได้รับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ส่วนมากจะออกมาจากไอ จาม เมื่อได้รับเชื้อบางคนจะไม่แสดงอาการ บางคนใช้เวลา 5-10 ปี จึงจะแสดงอาการ และเมื่อป่วยเชื้อจะอยู่ที่ปอด เมื่อไอจามก็จะพาเชื้อออกมาด้วย ซึ่งวิธีการแพร่กระจายเชื้อดังกล่าวจึงทำให้คนติดเชื้อจากคนมากกว่าติดเชื้อจากสัตว์ เพราะสัตว์ไม่สามารถไอจามกลายเป็นพาหะของโรคได้ ทำให้เกิดการกระจายโรคจากสัตว์สู่คนน้อยลง ส่วนการได้รับเชื้อจากสารคัดหลั่งโดยปกติเป็นไปได้น้อย เพราะสัตว์ที่ป่วยด้วยวัณโรคจะมีอาการผอม มีอาการหอบ ซึ่งคนมักจะไม่นำนมหรือเนื้อจากสัตว์ป่วยมากิน
          สำหรับอาการของสัตว์ที่เป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่ระยะแรกจะไม่มีการแสดงอาการ ซึ่งจะแสดงอาการให้เห็นหลังจากได้รับเชื้อมาเป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน ส่วนใหญ่จะพบว่าสัตว์ป่วยอ่อนแอ ผอม น้ำหนักลด ไอ หอบ อาจพบมดลูกหรืออัณฑะอักเสบ และตายในที่สุด
          แต่หากประชาชนพบสัตว์ป่วยผิดปกติ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ให้มาตรวจสอบโดยเร็ว และควรตรวจสัตว์บริเวณใกล้เคียงด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดและเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดด้วย
          ในกรณีการพบโคป่วยด้วยวัณโรคนั้น คำแนะนำที่ดีที่สุดคือการทำลายแหล่งรังโรค และแยกสัตว์ออกมาสังเกตอาการเพื่อเฝ้าระวัง เพราะไม่มียารักษาวัณโรคในสัตว์ โดยเฉพาะการทำลายแหล่งรังโรคจึงเหมาะสมที่สุดเพื่อตัดการแพร่กระจายโรค
          ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้เลี้ยงและคลุกคลีกับสัตว์ การติดเชื้อสามารถเกิดได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของกระบือ การคลุกคลีกับสัตว์ การบริโภคนมกระบือที่มีเชื้อวัณโรคและยังไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ การรับประทานกระบือแบบสุกๆ ดิบๆ เป็นต้น
          การป้องกันจึงควรล้างมือทุกครั้งหลังการทำปศุสัตว์ เฝ้าระวังสัตว์ป่วย และบริโภคเนื้อสัตว์ปรุงสุก น้ำนมที่ผ่านการพาสเจอไรซ์


pageview  1205867    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved