HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 18/02/2555 ]
ปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก

         รศ.พญ.สุพร ตรีพงษ์กรุณา

          หน่วยทางเดินอาหาร  ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
          คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
          เมื่อกล่าวถึงการปลูกถ่ายตับ มีความหมายว่า การผ่าตัดเอาตับใหม่มาใส่แทนที่ตับเดิมที่ถูกตัดออกไป เนื่องจากตับเดิมมีความผิดปกติอย่างรุนแรงจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีเพียงพอ
          ปัจจุบันการปลูกถ่ายตับ เป็นวิธีการรักษาวิธีเดียวสำหรับผู้ป่วยโรคตับวายระยะสุดท้ายที่ช่วยให้มีชีวิตรอดได้ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มดำเนินการปลูกถ่ายตับในเด็กมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 ซึ่งเป็นการปลูกถ่ายตับในเด็กสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย 
          โดยทั่วไปการปลูกถ่ายตับจะใช้ตับจากผู้บริจาคสมองตาย แต่เนื่องจากตับที่ได้รับจากผู้บริจาคสมองตายประสบภาวะขาดแคลน ทำให้มีผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายตับจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตก่อนที่จะ ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ
          ในปี พ.ศ.2544 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้ดำเนินโครงการ "ปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก" โดยปลูกถ่ายตับให้แก่เด็กหญิงอายุ 21 เดือน ซึ่งเป็นตับแข็งระยะสุดท้ายสาเหตุจากโรคท่อน้ำดีตีบตัน โดยคุณแม่บริจาคตับเสี้ยวหนึ่งให้แก่ผู้ป่วย ทำให้ผู้ ป่วยรอดชีวิต และมีสุขภาพดีทั้งแม่และลูก นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทยสำหรับการปลูก ถ่ายตับในเด็กโดยใช้ตับบริจาคจากพ่อแม่ที่ยังมีชีวิต และโครงการนี้ได้ดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว มีผู้ป่วยเด็กเข้ารับการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก รวมทั้งสิ้น 50 ราย ปัจจุบันนับว่าเป็นสถาบันที่ปลูกถ่ายตับเด็กจากพ่อแม่สู่ลูกมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีอัตรารอดชีวิตใกล้เคียงกับระดับสากล
          การปลูกถ่ายตับในเด็กโดยใช้ตับส่วนหนึ่งจากพ่อหรือแม่ หรือญาติที่ยังมีชีวิตจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายตับได้ทันเวลาและมีโอกาสในการรอดชีวิตสูงขึ้น ผู้ที่ควรได้รับการปลูกถ่ายตับ 
          ผู้ป่วยที่ต้องรับการปลูกถ่ายตับบ่อยที่สุดคือ ผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะสุดท้าย ส่วนในเด็กมักมีสาเหตุจากโรคท่อน้ำดีตีบตัน ซึ่งทำให้เด็กมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองร่วมกับอุจจาระสีซีดตั้งแต่อายุ 1 ถึง 2 เดือนแรก นอกจากนี้สาเหตุอื่นที่ทำให้เด็กต้องรับการปลูกถ่ายตับ ได้แก่ ภาวะตับวายเฉียบพลัน โรคตับพันธุกรรม เนื้องอกตับที่มีขนาดใหญ่จนไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นต้นขั้นตอนการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก
          การปลูกถ่ายตับให้แก่ผู้ป่วยเด็กโรคตับวายระยะสุดท้ายในแต่ละรายนั้น เริ่มจากการดูแลสุขภาพผู้ป่วยตั้งแต่ระยะก่อนการปลูกถ่ายตับเพื่อให้ผู้ป่วยมีความพร้อมก่อนการผ่าตัด ขณะเดียวกัน ต้องมีการตรวจสุขภาพผู้บริจาคอย่างละเอียด และตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจความพร้อม และความปลอดภัยของผู้บริจาค 
          ในระยะผ่าตัดต้องมีทีมผ่าตัด และวิสัญญีแพทย์พร้อมกัน 2 ห้องสำหรับการผ่าตัดบิดาหรือมารดาผู้บริจาคตับ และผู้ป่วยเด็กซึ่งเป็นผู้รับตับ หลังจากผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว ยังต้องมีการติดตามดูแลผู้ ป่วยเด็กหลังการปลูกถ่ายตับต่อเนื่องระยะยาว เพื่อให้ยากดภูมิคุ้มกันและติดตามดูแลการทำงานของตับให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 
          ส่วนผู้บริจาคหลังจากพักฟื้นระยะเวลาไม่นานก็มักจะกลับมามีสุขภาพแข็งแรงและสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่งอกได้ จึงไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของตับในระยะยาวปัจจัยที่ทำให้การปลูกถ่ายตับประสบผลสำเร็จ
          ปัจจัยที่ทำให้การปลูกถ่ายตับเด็กได้ผลสำเร็จ นอกจากอาศัยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา ทั้งพยาบาล บุคลากรด้าน
          ต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยแล้ว 
               ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากพ่อแม่และครอบครัว ในการดูแลเด็กเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอไปตลอดชีวิต และจะต้องทานยากดภูมิคุ้มกันและยาอื่น ๆ ตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด 
                ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยเด็กด้วยสุขอนามัยที่ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากได้รับการดูแลที่ดี เด็กเหล่านี้จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถไปโรงเรียนเมื่อถึงวัยเรียนและสามารถดำเนินชีวิตปกติได้เช่นเดียวกับเด็กทั่วไป
          ในโอกาสที่โครงการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูกได้ดำเนินการมาครบ 10 ปี ทางคณะกรรมการปลูกถ่ายตับ คณะแพทย ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้จัดงานรำลึกครบ 10 ปี ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ความรู้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการดูแลบุตรหลานก่อนและหลังการปลูกถ่ายตับ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครองผู้ป่วยเด็กปลูกถ่ายตับได้พบปะสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยเด็กปลูกถ่ายตับระหว่างครอบครัว แพทย์ พยาบาล เพื่อเพิ่มพูนขวัญกำลังใจในการดูแลเด็กหลังปลูกถ่ายตับอย่างมีคุณภาพ นอกจากกิจกรรมวิชาการแล้วยังมีการแสดงของผู้ป่วยเด็กหลังปลูกถ่ายตับ และกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ ซึ่งงานนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับพ่อแม่ และเด็กที่รับการปลูกถ่ายตับไปแล้ว และที่ยังรอการปลูกถ่ายตับรวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจ ในวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม 2555 เวลา 08.30-12.00 น ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ กรุณาติดต่อสำรองที่นั่งได้โครงการปลูกถ่ายตับ โทรศัพท์ 0-2201-1661-2 ภายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 (ไม่มีค่าใช้จ่าย).

pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved