HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 24/02/2555 ]
สำรวจค่าใช้จ่ายสุขภาพคนกรุงแบกค่าเดินทางสูงถึง113บาท
          เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยภญ.อุษาวดี มาลีวงศ์ นักวิจัยอิสระ แถลงข่าว "ทำไมจึงไม่ควรเก็บ 30 บาท" ซึ่งจัดโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พร้อมเผยผลการสำรวจค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพฯครั้งแรก ว่าจากการรวบรวมผลงานวิจัยทั้งสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่าประเด็นการรื้อฟื้นนโยบายร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค  มีเหตุผลที่ไม่เชื่อมโยงหลายประการโดยเฉพาะหากต้องการรีแบรนด์เพื่อช่วยสถานพยาบาลที่ประสบภาวะขาดทุนยิ่งไม่ใช่ เนื่องจากข้อมูลพบว่าสาเหตุหลักของโรงพยาบาล (รพ.) ขาดทุนมาจากปัญหาค่าตอบแทน ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ30-40 ของปีงบประมาณ 2552 ซึ่งเป็นค่าตอบแทนในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน แต่การจะมาผลักภาระมาให้ประชาชนแบกโดยการร่วมจ่าย 30 บาทไม่ถูกต้อง
          ภญ.อุษาวดีกล่าวว่า การเก็บ 30 บาทจึงเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่ได้มีผลในการแก้ปัญหาค่าตอบแทนเพราะหากเก็บ 30 บาทในประชาชนบัตรทอง คิดเป็นเงินราว 1,900 ล้านบาทเล็กน้อยมากไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาค่าตอบแทนหรือ รพ.ขาดทุน แต่เป็นการซ้ำเติมคนจนอย่างข้อมูลปี 2550 พบว่าประชาชนที่เข้ารับการรักษา โดยเฉพาะในกลุ่มคนจน รายได้น้อย มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 79 บาทต่อคนต่อเดือน จ่ายเป็นเงินสด 76 บาทต่อคนต่อเดือน ในขณะที่คนกลุ่มที่มีฐานะพบว่า มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 880 บาทต่อคนต่อเดือน จ่ายเป็นเงินสด 511 บาทต่อคนต่อเดือน
          น.ส.กชนุช แสงแถลง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ล่าสุด มูลนิธิผู้บริโภคและศูนย์ประสานงานหลัก ประกันสุขภาพของกทม. ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในสิทธิบัตรทองถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ระหว่างวันที่ 10-15 กุมภาพันธ์2555 กระจายตามโซนต่างๆ แบ่งเป็น 48 เขตของ กทม. จำนวน 589 คน อายุระหว่าง1-90 ปี พบว่า มีรายได้เฉลี่ย 210 บาทต่อวัน โดยร้อยละ 40.4 มีอาชีพรับจ้างทั่วไปรองลงมาเป็นค้าขาย ทำสวน โดยพบว่าร้อยละ 91.3 เป็นผู้  ป่วยนอก ร้อยละ 55 เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคเรื้อรัง ไปรับการรักษาต่อเนื่อง และร้อยละ 49.2 ไปรับบริการที่รพ.ขนาดใหญ่ สะท้อนถึงอาการเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องรับการรักษา นอกจากนี้ ในการไปรับบริการนั้นพบว่า ร้อยละ 47 เดินทางด้วยแท็กซี่ ซึ่งมีลักษณะอาการรุนแรง ไม่สามารถเดินทางด้วยรถประจำทางได้ ขณะที่ร้อยละ 38 ต้องมีญาติหรือบุคคลอื่นพาไปและร้อยละ 13.5 ต้องใช้เวลาทั้งวัน สูญเสียรายได้ โดยการไปรับบริการแต่ละครั้ง เฉลี่ยไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่ก็ทำให้สูญเสียรายได้เพราะส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป
          น.ส.กชนุชกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรับบริการต่อครั้ง พบว่า ค่าเดินทาง หากเป็นผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 113 บาท ผู้ป่วยใน 157 บาทค่าอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ ในผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 59 บาท ผู้ป่วยในอยู่ที่ 101 บาท ค่าขาดรายได้ในผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 181 บาท ผู้ป่วยในอยู่ที่ 461 บาท และเมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อการร่วมจ่ายพบว่า ร้อยละ 61.5 ไม่เห็นด้วย เพราะเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย มีเพียงร้อยละ 24.1 เห็นด้วยเพราะเชื่อว่า รพ.จะบริการดีขึ้น ดังนั้น ควรยกเลิกนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท เพราะจะเป็นการซ้ำเติมคนจนมากขึ้น

pageview  1205004    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved