HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 15/09/2564 ]
4ตค.ลุยฉีดวัคซีนน.ร.29จว. แจงเกณฑ์เปิดร.ร.ตามโซนสี เด็กติดโควิด1.2แสนตาย15

 สธ.เตือนอย่าชะล่าใจยอดป่วยโควิดลด ย้ำงดรวมกลุ่มกินหมูกระทะ
          กทม.ป่วยเกินพันแค่จว.เดียว
          เมื่อวันที่ 14 กันยายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ในประเทศ มีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 11,786 ราย อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 4,860 ราย พื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ 777 ราย จังหวัดอื่นรวม 67 จังหวัด 5,873 ราย เรือนจำและห้องขัง 271 ราย และจากต่างประเทศ 5 ราย มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,377,679 ราย หายป่วย 14,738 ราย หายป่วยสะสม 1,235,470 ราย รักษาอยู่ 129,025 ราย อยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) 37,283 ราย อยู่ใน รพ.สนามและอื่นๆ 91,742 ราย อาการหนัก 4,080 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 818 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 136 ราย เสียชีวิตสะสม 14,527 ราย
          จังหวัดติดเชื้อใหม่สูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 2,788 ราย ชลบุรี 955 ราย สมุทรปราการ 811 ราย สมุทรสาคร 542 ราย นนทบุรี 482 ราย ภาพรวมการติดเชื้อใหม่ใน 71 จังหวัด มีผู้ติดเชื้อ 6,650 ราย คิดเป็น 59% ส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑล 4,860 ราย คิดเป็น 41% โดยมี 1 จังหวัดที่ยอดติดเชื้อเกิน 1,000 ราย คือกรุงเทพฯ พบติดเชื้อเกิน 100 ราย มี 26 จังหวัด ไม่ถึง 100 ราย มี 50 จังหวัด และไม่พบติดเชื้อ 1 จังหวัด คือพะเยา
          สำหรับผู้เสียชีวิต 136 ราย เป็นชาย 78 ราย หญิง 58 ราย คนไทย 131 ราย เมียนมา 2 ราย กัมพูชา 2 ราย เกาหลีใต้ 1 ราย เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 96 ราย มีโรคเรื้อรัง 28 ราย รวมทั้ง 2 กลุ่มนี้อยู่ที่ 92% ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 12 ราย ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ 28 ราย จังหวัดปริมณฑล 29 ราย
          ส่วนภาพรวมการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 13 กันยายน ฉีดเพิ่ม 676,669 โดส แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 237,043 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 438,126 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 1,500 ราย ทำให้ยอดการฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-13 กันยายน อยู่ที่ 40,953,025 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 27,540,743 ราย คิดเป็น 38.2% เข็มที่ 2 จำนวน 12,795,707 ราย คิดเป็น 17.8% และเข็มที่ 3 จำนวน 616,575 ราย
          'อนุทิน'ยันฉีดไฟเซอร์น.ร.
          ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปว่า วางแผนไว้ว่าจะไปให้บริการถึงในโรงเรียน ส่วนวัคซีนที่จะให้บริการเบื้องต้นมีเฉพาะไฟเซอร์ เนื่องจากเป็นยี่ห้อเดียวที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่าสามารถฉีดผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ วัคซีนไฟเซอร์จะมาเพิ่มและทยอยมาครบ 30 ล้านโดส ในปีนี้ สำหรับวัคซีนยี่ห้ออื่นหากจะมาให้บริการกับเด็กก็ต้องไปขึ้นทะเบียนใหม่กับ อย.
          นายอนุทินกล่าวถึงมาตรการด้านสาธารณสุขมีความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศตามนโยบายของนายกฯในวันที่ 1 ตุลาคมหรือไม่ว่า มีความพร้อมอยู่แล้ว ทุกอย่างที่วางแผนไว้ก็มาตามกำหนด แม้ก่อนหน้านี้จะมีการด้อยค่า ปรามาส สบประมาทว่าจะทำไม่ได้ เช่น ที่บอกฉีดวัคซีนวันละ 3 แสนโดส จะทำไม่สำเร็จ แต่ระบบสาธารณสุขของไทยแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพฉีดได้วันละ 9 แสนโดสต่อวัน
          เมื่อถามว่า วันที่ 1 ตุลาคม เราจะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ต้องดูสถานการณ์ หากมีช่องทางคลายล็อกได้เราก็ไม่เคยช้า มีการประเมินโดยกรมควบคุมโรคอยู่แล้ว เมื่อถามย้ำว่า วันที่ 1 ตุลาคม จะเปิดประเทศหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ยังไม่ได้กำหนดวัน ต้องประเมินตามสถานการณ์ทุกวัน เมื่อถามว่า สิ้นเดือนกันยายนมีกระแสข่าว ศบค.จะลดบทบาทลง สธ.มีความพร้อมรับช่วงต่ออย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า ยังไม่ทราบ ศบค.เป็นเรื่องของทำเนียบรัฐบาล สธ.คอยสนับสนุนและปฏิบัติ
          อย.ยังไม่ให้'ซิโนฟาร์ม'ฉีดเด็ก
          นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า หลังจากบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มในประเทศไทย นำเอกสารมายื่นกับ อย.เมื่อวันที่ 2 กันยายน เพื่อขอขยายกลุ่มอายุใช้วัคซีนจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 18 ปีขึ้นไป เป็นตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปนั้น จะมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาด้านความปลอดภัย ประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งเมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ประชุมเห็นว่าเนื่องจากทางบริษัท ไบโอจีนีเทค ส่งข้อมูลการวิจัยใช้วัคซีนมาในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 จึงยังสรุปเรื่องความปลอดภัยในการขยายกลุ่มอายุที่จะใช้วัคซีนซิโนฟาร์มไม่ได้
          นพ.ไพศาลกล่าวว่า ต้องการข้อมูลการวิจัยในระยะ 3 รวมถึงขนาดการใช้วัคซีน เพราะการใช้ในเด็กต้องใช้ปริมาณที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ อย่างเช่น เด็กอายุ 3 ขวบ ต้องฉีดเท่าไร แล้วเข็มที่ 2 ต้องห่างกันเท่าไร เราจึงต้องขอให้ทางบริษัทส่งเอกสารวิจัยมาเพิ่มเติมโดยเร็วที่สุด
          "อย.ยังไม่อนุญาต แต่ไม่ใช่ไม่อนุญาต ต้องให้เขาส่งข้อมูลสำคัญการวิจัยเฟส 3 มาเพิ่มเติมทั้งความปลอดภัยและประสิทธิภาพ รวมถึงปริมาณการใช้วัคซีนในเด็กเล็ก" นพ.ไพศาลกล่าว
          ผู้สื่อข่าวถามถึงวัคซีนซิโนแวค ที่นำเอกสารมาขอขยายกลุ่มอายุการใช้วัคซีนตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปเช่นกัน นพ.ไพศาลกล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในฐานะตัวแทนนำเข้ากำลังขอเอกสารวิจัยจากซิโนแวคที่กำลังศึกษาวิจัยเฟส 3 ในแอฟริกาใต้
          4ตค.ดีเดย์ฉีดน.ร.ใน29จว.
          นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า วันที่ 15 กันยายนนี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงขั้นตอนการฉีดวัคซีนนักเรียนอายุ 12-17 ปี ตั้งแต่การสร้างความเข้าใจกับนักเรียน และผู้ปกครอง จากนั้นผู้ปกครองต้องแจ้งยินยอมให้ฉีดวัคซีน ซึ่งการฉีดครั้งนี้จะเป็นความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ
          "เมื่อผู้ปกครองแจ้งความประสงค์แล้ว โรงเรียนจะรวบรวมข้อมูลส่งให้ สพท.เพื่อส่งต่อไปยังศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำแผนจัดสรรวัคซีน โดยจะเริ่มฉีดใน 29 จังหวัดสีแดงเข้มก่อน จากนั้นจะกระจายไปยังจังหวัดอื่น หากไม่มีปัญหา คาดว่าจะเริ่มฉีดเข็มแรกให้นักเรียนได้วันที่ 4 ตุลาคมนี้" นายอัมพรกล่าว และว่า ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี หรือกลุ่มเด็กประถมศึกษานั้น จากข้อมูลทางการแพทย์ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนที่เหมาะสม แต่หากกลุ่มเด็กโต และกลุ่มผู้ใหญ่ฉีดจนครบตามเป้าหมายของประเทศ จะช่วยลดความเสี่ยงของเด็กๆ ลงได้ แต่หากมีวัคซีนที่เหมาะสม และปลอดภัยก็พร้อมดำเนินการ
          โพลสธ.อยากให้เปิดเรียนมากสุด
          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมอนามัยสำรวจ Anamai Event Poll ประเด็นคิดเห็นอย่างไรกับมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ในหัวข้อสถานประกอบการหรือกิจกรรมที่ประชาชนอยากให้เปิดมากที่สุด ผลสำรวจพบว่าอยากให้เปิดสถานศึกษา โรงเรียนมากที่สุด ร้อยละ 25.8 รองลงมาคือร้านอาหาร ร้อยละ 20.5 และห้างสรรพสินค้าร้อยละ 6.3 เหตุผลที่อยากให้เปิดมากที่สุดคือ เพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้นร้อยละ 36.3 และมาตรการที่ประชาชนอยากให้มีเพิ่มคือพนักงานและผู้ใช้บริการทุกคนต้องฉีดวัคซีนแล้ว ร้อยละ 60.3 รองลงมาคือสถานประกอบกิจการและกิจกรรมต้องผ่านเกณฑ์ประเมินของ สธ. ร้อยละ 41.1 และพนักงานและผู้ใช้บริการทุกคนต้องมีผลตรวจโควิดเป็นลบ ร้อยละ 38.3
          เด็กติดเชื้อ1.2แสนตาย15ราย
          นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า กลุ่มเด็กวัยเรียน อายุ 6-18 ปี ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-11 กันยายน 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 129,165 ราย แบ่งเป็นเดือนเมษายน 2,426 ราย พฤษภาคม 6,432 ราย มิถุนายน 6,023 ราย กรกฎาคม 31,377 ราย และสิงหาคมสูงถึง 69,628 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 15 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว จังหวัดที่พบติดเชื้อสูงสุด คือ กทม. แนวโน้มผู้ติดเชื้อในกลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่น แม้ว่าไม่เปิดเรียน แต่ยังพบการติดเชื้อ นั่นหมายถึงส่วนหนึ่งติดเชื้อในครอบครัว และสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน
          นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า การรับวัคซีนในบุคลากรการศึกษา เช่น ครู บุคลากรอื่นในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ข้อมูลเมื่อวันที่ 5 กันยายน มีผู้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็ม 2 รวม 897,423 ราย คิดเป็น 88.3% มีผู้ยังไม่รับวัคซีนอีก 118,889 ราย คิดเป็น 11.7% ขณะที่เด็กอายุ 12-18 ปี กลุ่มที่มีโรคประจำตัว ข้อมูลเมื่อวันที่ 11 กันยายน ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 จำนวน 74,932 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,241 ราย
          แจงเกณฑ์เปิดร.ร.ตามโซนสี
          นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า กรมอนามัยร่วมกับ ศธ.ดำเนินมาตรการแซนด์บ็อกซ์ เซฟตี้ โซน อิน สคูล (Sand Box Safety zone in School) นำร่องในโรงเรียนประจำ จัดเรียนแบบไฮบริดจ์ ด้วยการเรียนออนไซต์ร่วมกับออนไลน์ ปรากฏว่าเป็นได้อย่างดี แม้จะพบผู้ติดเชื้อแต่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยของโรงเรียน แต่เป็นการสัมผัสผู้ติดเชื้อนอกโรงเรียน จึงหารือร่วมกันระหว่าง สธ.และ ศธ. เพื่อกำหนดแนวทางจัดให้มีมาตรการแซนด์บ็อกซ์ เซฟตี้ โซน อิน สคูล ในโรงเรียนไป-กลับ โดยคำนึงเรื่องการระบาดในพื่นที่ตามจังหวัดกลุ่มสี ได้แก่ 1.จังหวัดสีเขียว เน้นให้เข้ม 6 มาตรการหลักและเสริม โดยมี 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา ครูและบุคลากรต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 85% ประเมินความเสี่ยงนักเรียน ครู บุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 2.จังหวัดสีเหลือง ให้เพิ่มการสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจเอทีเค  สัปดาห์ละ 1 ครั้ง 3.จังหวัดสีส้ม เพิ่มการตรวจเอทีเค  และประเมินความเสี่ยงบุคคลให้ถี่มากขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
          นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า 4.จังหวัดสีแดง ต้องกำหนดมาตรการเพิ่ม 3 ข้อ คือให้สถานประกอบการรอบสถานศึกษาในระยะ 10 เมตร ต้องผ่านการประเมินจาก Thai Stop COVID Plus ตามแนวทาง COVID Free Setting มีการทำ School Pass ของบุคคลในโรงเรียน เพื่อประเมินความเสี่ยงของบุคคลผ่านไทยเซฟไทย สัปดาห์ละ 3 วัน ผลตรวจเอทีเค ประวัติรับวัคซีนหรือประวัติการติดเชื้อโควิดใน 1-3 เดือน และต้องจัดกลุ่มนักเรียนห้องละไม่เกิน 25 คน สุ่มตรวจ เอทีเค 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ และ 5.จังหวัด สีแดงเข้ม ให้ทำเหมือนจังหวัดสีแดงโดยเพิ่มการประเมินความเสี่ยงบุคคลผ่านแอพพ์ ไทยเซฟไทย ให้ถี่ขึ้นเป็นทุกวัน ด้วยสุ่มตรวจเอทีเค สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
          ย้ำ7มาตรการเข้มเปิดเรียน
          นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า สำหรับ 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษาโรงเรียนไป-กลับ ได้แก่ 1.สถานศึกษาประเมินความพร้อมผ่าน Thai Stop COVID Plus และรายงานผลผ่าน MOECOVID 2.ให้ทำกิจกรรมในโรงเรียนเป็นกลุ่มย่อย ลดการสัมผัสข้ามกลุ่ม 3.เน้นสุขาภิบาลอาหาร 4.จัดการสิ่งแวดล้อมให้เป็นตามมาตรฐาน เนื่องจากพบการติดเชื้อของนักเรียนเพราะอยู่แออัดในห้องเรียน โดยเฉพาะห้องปรับอากาศ และต้องจัดให้มีห้องแยกกักในโรงเรียน 5.มีแผนเผชิญเหตุร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และซักซ้อมแผนกรณีพบติดเชื้อในโรงเรียน 6.โรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนต้องควบคุมการเดินทางจากบ้านมาโรงเรียน ให้มีความปลอดภัย และ 7.จัดให้มี School Pass
          "เน้นย้ำว่าหากจำเป็นต้องเปิดเรียนอีกครั้ง การจำกัดคนเข้าออก การคัดกรองด้วยชุดตรวจเอทีเค การจัดกิจกรรมเป็นกลุ่มย่อย การประเมินความพร้อม การสุ่มตรวจหาเชื้อบุคลากรเป็นระยะ" นพ.สุววรณชัยกล่าว
          เมื่อถามถึงเหตุการติดเชื้อในโรงเรียนประจำ และสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า รายงานดังกล่าวเกิดจากบุคคลส่วนหนึ่งที่ไปกลับ แล้วติดเชื้อจากภายนอก ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญกับมาตรการและเข้มข้นว่าต้องคัดกรองความเสี่ยง รวมถึงการเดินทางแบบซีลรูท
          ปชช.ฉีดวัคซีนเข็ม1แล้ว55%
          ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ. เฉวตรสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน ฉีดวัคซีนได้ 676,669 โดส ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-13 กันยายนฉีดสะสม 40,953,025 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 27,540,743 ราย คิดเป็น 38.2% ส่วนเข็มที่ 2 จำนวน 12,795,707 ราย คิดเป็น 17.8% จำแนกตามกลุ่ม พบว่ากลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 687,984 คน คิดเป็น 68.8% ส่วนกลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค 3,218,607 คน คิดเป็น 50.7% ประชาชนทั่วไปฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 15,884,959 คน คิดเป็น 55.5% ส่วนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเข็มที่ 1 ฉีด 5,692,528 คน คิดเป็น 52.2% และหญิงตั้งครรภ์ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 56,642 คน คิดเป็น 11.3% ถือว่ายังน้อย กำลังเร่งรัดกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ให้ฉีดมากขึ้น
          นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า ผลการฉีดวัคซีนถึงวันที่ 13 กันยายน พบว่าครอบคลุมประชากรมากกว่า 50% มีกรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และภูเก็ต ส่วนที่ครอบคลุมประชากร 40-49% คือ นนทบุรี ยะลา พระนครศรีอยุธยา เพชบุรี พังงา ระนอง ส่วนครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 70% มีกรุงเทพฯ ปทุมธานี ภูเก็ต และระนอง ส่วนกลุ่มที่ครอบคลุมผู้สูงอายุ 50-69% มีสมุทรสาคร สมุทรปราการ สงขลา ยะลา พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา สุราษฎร์ธานี ตรัง และพัทลุง ทั้งนี้ ในภูมิภาคอาเซียน ไทยเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ซึ่งฉีดไป 116 ล้านโดส ไทยอยู่ที่ 40 ล้านโดส
          เตือนรวมกลุ่มกินหมูกระทะ
          นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า วันเดียวกันนี้ประเทศไทยพบติดเชื้อ 11,786 ราย ซึ่งลดลงต่อเนื่อง แต่ต้องย้ำว่ายังต้องระวัง เพราะหลังผ่อนปรนให้เปิดกิจการ กิจกรรมบางส่วนมีโอกาสการแพร่โรคแบบไม่รู้ตัว เดือนตุลาคมก็อาจมีตัวเลขผงกหัวกลับมาได้ แต่จะเกิดหรือไม่อยู่ที่ความระมัดระวังของพวกเรา" นพ.เฉวตสรรกล่าว
          "จากการติดตามสถานการณ์จุดสูงสุดประมาณกลางเดือนสิงหาคม แนวโน้มยังลดลงต่อเนื่อง แต่ให้ระมัดระวัง เพราะจากการคาดประมาณการณ์หลังผ่อนคลายมาตรการเปิดกิจกรรมต่างๆ อาจสัมผัสเชื้อได้ ซึ่งข้อเท็จจริงก็เจอกลุ่มก้อนเล็กๆ อย่างการรับประทานหมูกระทะ วงอาหารที่รับประทานอาหารร่วมกัน ดังนั้น อย่าเพิ่งวางใจเรื่องเหล่านี้" นพ.เฉวตสรรกล่าว
          เมื่อถามว่า มีปัจจัยอะไรที่อาจเห็นตัวเลขเดือนตุลาคมขึ้นมาอีก นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า จากการเจอผู้ป่วยและสอบสวนโรคก็ไม่ชัดเจนว่าติดจากไหน แต่อาจมาจากกลุ่มคนใกล้ชิด ดังนั้น มาตรการป้องกันโรคครอบจักรวาล หรือ Universal Prevention ต้องเข้มงวด ทั้งนี้ช่วงล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้ทำให้ห่างไกลกัน เมื่อผ่อนคลายก็อยากไปพบเจอ จึงขออย่าเพิ่งทำ
          รบ.ซื้อโมเดอร์นาล.โดสให้กาชาด
          น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินงบกลางจำนวน 946.31 ล้านบาท ให้กับสภากาชาดไทย สำหรับใช้ในโครงการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา ให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เป็นตัวแทนจัดหาและกระจายวัคซีนโมเดอร์นาในประเทศไทยจะส่งมอบวัคซีนงวดแรกได้ในต้นปี 2565
          น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สภากาชาดไทยมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐ ด้วยการให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน รวมถึงการจัดทำโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางโดยไม่คิดมูลค่า ด้วยการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งในส่วนของสภากาชาดไทยที่ดำเนินการเองส่วนหนึ่ง และให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมดำเนินการด้วย จะเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 เป็นต้นไป
          ราชวิทยาลัยฯจ่อบูสต์โมเดอร์นา
          วันเดียวกัน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศความร่วมมือกับแซดพี เทอราพิวติกส์ (ZP Therapeutics) หน่วยธุรกิจภายใต้ ซิลลิค ฟาร์มา ผู้ให้บริการดูแลสุขภาพชั้นนำในเอเชีย ในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิดโมเดอร์นา 8 ล้านโดส ใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนในปี 2565 โดยจะจัดสรรวัคซีนผ่านองค์กรนิติบุคคลประเภทต่างๆ ตามนโยบายของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คาดว่าจะส่งมอบวัคซีนได้ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมปี 2565
          ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ผลการศึกษาเบื้องต้นของการใช้วัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มกระตุ้นต่อสายพันธุ์เบต้า แกมม่า และเดลต้า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงถึง 32 เท่า, 43.6 เท่า และ 42.3 เท่า ตามลำดับ ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยฯ จะจัดสรรและกระจายวัคซีนโมเดอร์นาให้แก่กลุ่มองค์กรนิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงสถานพยาบาล ตลอดจนกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่เคยได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยฯ เป็นกลุ่มแรกก่อน เนื่องจากกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นทางเลือกอีกตัวหนึ่งที่จะใช้วัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และฉีดเพียง 1 เข็ม (ปริมาณ 50 ไมโครกรัม) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 จะเปิดให้องค์กรนิติบุคคลประเภทต่างๆ ยื่นจองขอรับการจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาช่วงเดือนตุลาคมนี้  และจะกำหนดราคา พร้อมประกันภัยคุ้มครองผลกระทบจากการฉีดวัคซีนในราคาเดียวกันทั่วประเทศต่อไป
          กทม.แจกเอทีเค2ล้านชุด16กย.
          ที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ (กทม.) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงความร่วมมือระหว่าง กทม.กับ สปสช.แจกแอนติเจน เทสต์ คิท หรือเอทีเค 2,026,000 ชุด ให้กลุ่มเสี่ยงในกทม.
          นพ.จเด็จกล่าวว่า การแจกเอทีเคให้ประชาชน เป็นกลไกควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากมีข้อมูลว่า การที่ประชาชนใช้ชุดตรวจเอทีเคตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองจะช่วยให้ได้รับการรักษาหรือเข้ากักตัวได้เร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย กทม.เป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญที่จะต้องควบคุมการระบาด ซึ่ง เอทีเค จะแจกจ่ายผ่านศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) หรือร้านขายยา ให้กลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงไปเข้ารับบริการ
          พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า จะเริ่มแจกชุดตรวจเอทีเค ให้ประชาชนนำไปตรวจหาเชื้อได้เองที่บ้าน ในวันที่ 16 กันยายนนี้ โดยแจกกลุ่มที่ 1 คือ ชุมชนแออัด 210,000 คน จำนวน 420,000 ชุด กลุ่มแรกที่จะได้รับ คือ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายติดเชื้อโควิด เช่น ไอ มีไข้ เจ็บคอ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ ประชากรในพื้นที่เสี่ยงสูง เช่น ตลาด (410,000 ชุด) ขนส่งสาธารณะ (440,000 ชุด) ร้านเสริมสวย (20,000 ชุด) ร้านนวด สปา (56,000 ชุด) ครูอาจารย์ (300,000 ชุด) ซึ่งจะได้รับบริการผ่านสำนักงานเขต ร้านขายยา หรือศูนย์บริการใกล้บ้าน คนละ 2 ชิ้น และรับฟังการสาธิตวิธีการใช้งานที่ถูกต้องจาก อสส.เพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพ
          พล.ต.ท.โสภณกล่าวว่า ทั้งนี้ สามารถประเมินความเสี่ยงผ่าน แอพพลิเคชั่น "เป๋าตัง" หากพบว่ามีความเสี่ยง สามารถเข้าไปรับชุดตรวจได้ที่ร้านขายยา หรือศูนย์บริการใกล้บ้านได้เลย หากไม่มีแอพพ์เป๋าตัง ก็ไปเข้ารับบริการได้ที่ร้านขายยา หรือศูนย์บริการใกล้บ้านได้เช่นกัน
          สาวฉีดวัคซีนวูบรถชนฟุตปาธ
          จ.นนทบุรี อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี รับแจ้งเหตุรถเก๋งเสียหลักพุ่งชนขอบทางไม่ทราบสาเหตุ คนขับหมดสติอยู่ภายในรถ บนถนนแจ้งวัฒนะขาออก ใกล้ปากซอยแจ้งวัฒนะปากเกร็ด 18 ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด
          ที่เกิดเหตุพบรถเก๋งยี่ห้อโตโยต้า รุ่นยาริส สีบรอนซ์ ทะเบียน 1 ขค 7132 กรุงเทพฯ สภาพหน้ารถพุ่งชนขอบฟุตปาธ ในรถพบผู้ขับขี่คือ น.ส.ปัญญตา แสงวุธ อายุ 19 ปี ไม่ได้สติ อาสาสมัครพยายามช่วยกันเรียกและหาวิธีเปิดประตูรถใช้เวลากว่า 20 นาที ต่อมา น.ส.ปัญญตา เริ่มมีสติจึงเปิดกระจกรถ โดยยังอยู่ในอาการมึนงง โดยให้การเบื้องต้นว่าเพิ่งไปฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่สำนักปลัดกระทรวงกลาโหมมา และกำลังขับรถกลับห้องพัก จากนั้นมีอาการวูบไม่ได้สติ เจ้าหน้าที่กู้ภัยจึงช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลชลประทานปากเกร็ด
          'อุดรฯ'นักโทษติดโควิด4พันคน
          ส่วนสถานการณ์การระบาดของโควิดในจังหวัดต่างๆ
          จ.อุดรธานี พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 104 ราย มีผู้ป่วยหายกลับบ้านเพิ่ม 72 ราย เหลือรักษาตัวอยู่ 1,476 ราย
          สำหรับการแพร่ระบาดของโควิดในเรือนจำกลางอุดรธานี พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มอีก 34 ราย สะสม 3,234 ราย จากนักโทษทั้งชายและหญิง 5,084 คน รักษาหายเพิ่ม 4 ราย ผู้ป่วยหายสะสม 182 ราย นอนรักษาตัวที่ รพ.อุดรธานี 14 ราย ที่ รพ.สนามในเรือนจำ 3,037 มีผู้เสียชีวิตรายแรก 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 27 ปี
          นพ.สุมน ตั้งสุนทรวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ รพ.ศูนย์อุดรธานี ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ รพ.สนามเรือนจำกลางอุดรธานี กล่าวว่า คาดว่าจะมีนักโทษชาย-หญิงในเรือนจำอุดรธานีป่วยราว 80% หรือ ราว 4,000 คน ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ สำหรับผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายอายุ 27 ปี ตรวจพบติดเชื้อเมื่อวันที่ 8 กันยายน ต่อมาเอกซเรย์พบปอดอักเสบได้ส่งตัวเข้ารับการรักษาทันที อาการปอดติดเชื้อรวดเร็วมาก เสียชีวิตหลังรักษาอยู่ 7 วัน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ตรวจพบกว่า 3,000 คน อัตราการเสียชีวิตยังต่ำมาก
          จ.ชัยภูมิ พบผู้ป่วยใหม่ 212 ราย สำหรับคลัสเตอร์ใหม่ภายในเรือนจำชัยภูมิ ที่มีผู้ต้องขังติดเชื้อ 41 ราย ล่าสุดพบผู้ต้องขังติดเชื้อเพิ่ม 173 ราย รวมแล้ว 214 ราย มีผู้ต้องขังอีกกว่า 1,800 คน รอผลตรวจยืนยัน
          จ.มุกดาหาร ผู้ป่วยใหม่ 13 คน พบใน อ.ดงหลวง 12 คน ถือเป็นคลัสเตอร์ใหม่ นายไพบูลย์ บุตรวัง ปลัดอำเภอดงหลวง ประกาศควบคุมพื้นที่บ้านนาหินกอง หมู่ 8 และบ้านสุขสวัสดิ์ หมู่ 16 ต.กกตูม ห้ามแข้า-ออกพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 13-20 กันยายน
          เมืองคอนป่วยพุ่ง-สั่งปิดตลาด
          จ.นครศรีธรรมราช พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 320 ราย คลัสเตอร์ที่น่าจับตาคือ คลัสเตอร์วงพนัน อ.บางขัน, ร่อนพิบูลย์, ท่าศาลา มีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก
          นายไกรสร วิศิฎวงศ์ ผู้ว่าฯ นครศรี ธรรมราช แถลงว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยกว่า 200 ราย แต่วันเดียวกันนี้สูงถึง 320 ราย คลัสเตอร์หลักคือ ตลาด ซึ่งแม่ค้าติดเชื้อไปแพร่ในครอบครัว ลามถึงพื้นที่ในหมู่บ้าน ทำให้มียอดผู้ป่วยสูงในพื้นที่ อ.เมือง อ.ท่าศาลา อ.ปากพนัง อ.ทุ่งสง อ.พระพรหม โดยเฉพาะคลัสเตอร์ใน อ.ปากพนัง มีผู้ป่วยสูงมาก 13 ตำบล ส่วนใหญ่มาจาก 4 ตลาด ได้แก่ ตลาดวงเวียน ตลาดร้อยปี ตลาดวัดหูล่อง และตลาดบางวัง จึงอนุมัติวัคซีนให้แม่ค้าใน อ.ปากพนัง เพิ่มเติม ขณะที่สั่งปิดตลาดบางวังชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด


pageview  1205832    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved