HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 04/02/2555 ]
ชี้แค่แฟชั่น'ซิมซิมิ'ไม่ก้าวร้าว ราชบัณฑิตห่วง'โจ๋'เคยชิน'ค่านิยม'พูดเขียนคำหยาบ
          ราชบัณฑิต-นักวิชาการห่วงโปรแกรมฮิต'ซิมซิมิ'ทำให้วัยรุ่นเคยชินคำหยาบ ติงผู้ปกครองปล่อยให้ลูกแชตจนซึมซับคำไม่เหมาะสม เชื่อเป็นกระแสชั่วครั้งชั่วคราว พอมีสิ่งแปลกใหม่ก็เลิกฮิตไปเอง
          โปรแกรมซิมซิมิ (simsimi) ซึ่งกำลังระบาดในสังคมออนไลน์ของไทย เนื่องจากข้อความที่พิมพ์ตอบโต้จากโรบอต (Chatting Robot) ใช้คำพูดยียวน และหยาบคายรุนแรง เป็นที่ถึงอกถึงใจของกลุ่มเยาวชน กำลังสร้างความวิตกให้กับบรรดาผู้ปกครองกระทั่งมีการร้องเรียนจำนวนมากไปยังกระทรวงวัฒนธรรม ให้มีการควบคุมสกัดกั้น ขณะที่นักวิชาการด้านการศึกษา อย่างนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าเป็นเพียงกระแสชั่วครั้งชั่วคราว ไม่นานกลุ่มวัยรุ่นจะหันไปสนใจเรื่องแปลกใหม่กว่า พร้อมทั้งแนะให้ใช้โปรแกรมดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาสอนนักเรียนว่าการใช้ถ้อยคำหยาบคายเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง
          โดยในการให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นายสมพงษ์กล่าวว่า วัยรุ่นนิยมเล่นโปรแกรมซิมซิมิ มองว่ากระแสดังกล่าวน่าจะแค่ชั่วคราวเพียงเดือนสองเดือน จากนั้นน่าจะเลิกเล่นไป เพราะเชื่อว่าในอนาคตจะมีโปรแกรมใหม่ๆ หรือว่าของเล่นแปลกๆ มาให้วัยรุ่นฮิตอีก อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากโปรแกรมดังกล่าวที่ไม่ควรมองข้าม คือ การใช้คำหยาบคายในการตอบโต้และพูดคุยของวัยรุ่นหากไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอีก
          นายสมพงษ์กล่าวว่า อยากเสนอให้โรงเรียนต่างๆ นำโปรแกรมนี้เป็นกรณีศึกษา เพื่อสอนให้นักเรียนได้เข้าใจและรู้ว่าการใช้คำหยาบคายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเท่าที่สัมผัสทุกวันนี้พ่อแม่ปล่อยให้ลูกแชตหรือใช้โปรแกรมต่างๆ โดยไม่ได้สนใจว่าลูกได้ซึมซับคำพูดที่ไม่เหมาะสม และรู้สึกเคยชินกับคำหยาบคายไปแล้ว
          "หากมองอีกแง่ถือว่าปรากฏการณ์นี้ จะช่วยกระตุ้นให้สังคมรู้ว่าต้องช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวเสียที" นายสมพงษ์กล่าว
          ด้านนางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทยกล่าวว่า จากการติดตามการใช้ภาษาทั้งพูดและเขียนของเด็กวัยรุ่นยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นในเฟซบุ๊กทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ ในฐานะนักภาษาศาสตร์ ถือว่าเรื่องนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก
          เมื่อก่อนเด็กผู้หญิงหรือว่าเด็กผู้ชาย จะไม่ค่อยมีใครกล้าพูดคำหยาบคาย อาทิ "มึง" "กู" "เห้-ย"และอีกหลายคำในที่สาธารณะ แต่ปัจจุบันเดินไปไหนมาไหนจะได้ยินคำเหล่านี้ออกจากปากเด็กยุคนี้ตลอด คิดว่าน่าจะมีอิทธิพลมาจากการใช้คำพูดคำอ่านในปัจจุบันที่สร้างค่านิยมว่าเคยชิน จนทำให้การพูดหยาบคายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
          นางกาญจนากล่าวต่อว่า กรณีโปรแกรมซิมซิมิ ก็ถือเป็นอีกปรากฏการณ์ที่มองว่าอาจจะช่วยสร้างความเคยชินว่า การพูดหยาบคายเป็นเรื่องดี ใครๆ ก็พูด ก็เขียนกัน ซึ่งทราบว่าโปรแกรมนี้ทุกคนสามารถบันทึกคำตอบหรือว่าพูดต่างๆ ไว้หากผู้เล่นหรือเด็กที่เข้าไปเล่นตอนหลัง ก็จะรับรู้ข้อมูลตามที่มีการบันทึกไว้ ซึ่งมีข้อมูลทั้งที่ถูกต้องและผิดผสมกันไป จึงกังวลว่าท้ายที่สุดแล้ว พอถึงเวลานำคำพูดหรือว่าสถานการณ์ที่ต้องพูด อ่าน เขียน คนส่วนใหญ่ก็จะนำคำมาใช้แบบผิดๆเพราะที่ผ่านมาไม่รู้เลยว่าคำไหนเขียนถูก คำไหนเขียนผิด จึงอยากฝากบอกทุกฝ่ายว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้บ้าง คนไทยในฐานะเจ้าของภาษาควรรณรงค์และใช้ภาษาอย่างถูกต้อง เลิกสร้างความเคยชินให้กับคำหยาบคายและคำพูดที่ไม่เหมาะสมได้แล้ว
          นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การเล่นซิมซิมิ เป็นเพียงกระแสความนิยมของแฟชั่น การพูดจาหยาบคาย หรือคำพูดโดนใจ แต่ไม่สุภาพก็เหมือนความนิยมของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เมื่อกระแสจางก็จะหายไปเอง ส่วนที่กลัวว่าจะติดความไม่สุภาพ กลายเป็นเด็กก้าวร้าวนั้น ไม่น่าเกี่ยวข้องกัน เพราะการที่เด็กหรือคนจะมีนิสัยหยาบคายหรือเป็นคนสุภาพ เป็นเรื่องของนิสัยส่วนบุคคลมากกว่า ซึ่งมาจากการเลี้ยงดูเป็นหลัก
          "หากพ่อแม่ผู้ปกครองกังวลว่าลูกหลานจะติดคำพูดหยาบคายก็ควรพูดกับพวกเขาดีๆ แต่ไม่ควรไปห้าม เพราะยิ่งห้ามก็เหมือนกับยิ่งยุ ดังนั้นควรสอนว่าหากจะเล่นควรระวัง อย่าติดนำไปใช้ในชีวิตจริง เพราะคำพูดเหล่านี้เป็นคำหยาบคายหากใครได้ยินย่อมไม่รื่นหู และจะมองเราเป็นเด็กไม่สุภาพ โดยต้องสอนพวกเขาว่าการพูดจาดีๆสุภาพ ไม่หยาบคายจะทำให้ตัวเองดูน่ารักขึ้น"นพ.ทวีกล่าว
          นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวถึงโปรแกรมซิมซิมิที่มีการโต้ตอบและกล่าวถึงแกนนำคนเสื้อแดงในด้านลบว่า ไม่รู้จักโปรแกรมดังกล่าวเพราะเป็นคนโลว์เทค แต่เทคโนโลยีในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน เมื่อถูกนำมาใช้ในประเทศควรมีหน่วยงานควบคุมดูแลไม่ให้สร้างความเสียหายให้กับบุคคลอื่น ซึ่งในระยะยาวจะเป็นการสร้างความขัดแย้งมากขึ้น และไม่ควรที่จะให้ใครสามารถว่าใครก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ
          "ผมไม่มีเฟซบุ๊ก แต่มีคนใช้ชื่อผมไปเปิดและมีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ผมเลยแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีดำเนินการปิดให้ดังนั้น เรื่องนี้กระทรวงไอซีทีควรร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเฝ้าระวัง จริงอยู่ที่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นได้แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น" นายจตุพรกล่าว
          นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ขอชี้แจงว่า วธ.ไม่ได้สั่งห้ามว่าให้ทุกคนเลิกเล่นโปรแกรมซิมซิมิ หรือคิดจะปิดโปรมแกรมดังกล่าว แต่อยากเตือนสติและสะกิดให้สังคมเห็นว่ามีบางเรื่องไม่เหมาะสมโดยเฉพาะการตอบโต้และการบันทึกคำพูดที่หยาบคายและรุนแรงลงไปในโปรแกรมนี้ จึงอยากบอกทุกคนว่าให้เล่นอย่างระมัดระวัง อย่าหลงไปกับกระแสที่ผิดๆ มากเกินไป
          นางสุกุมลกล่าวต่อว่า ได้รับรายงานว่าขณะนี้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ได้ประสานไปยังเจ้าของระบบที่ประเทศเกาหลี ว่ามีหนทางใดบ้างจะช่วยคัดกรองคำพูดหรือไม่ให้มีการบันทึกคำพูดหยาบคายเหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คาดว่าจะได้คำตอบเร็วๆนี้ และรู้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
          นายณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กระทรวงไอซีที กล่าวว่า หากพูดถึงตัวแอพพลิเคชั่นซิมซิมิไม่มีความผิดอะไร ซึ่งไอซีทีได้ทราบข่าวเรื่องการใช้งานก็มีความกังวลใจเกี่ยวกับคำหยาบและภาษาที่ใช้ จึงได้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) ไปถึงผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นซิมซิมิที่เกาหลีใต้เพื่อสอบถามว่ามีการควบคุมหรือคัดกรองคำหยาบอย่างไรบ้าง ซึ่งผู้พัฒนาได้ขอโทษมาในเบื้องต้น โดยบอกให้ไอซีทีและผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งคำที่ไม่เหมาะสมไปให้
          นายณัฐกล่าวว่า คงต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลของแอพพลิเคชั่นซิมซิมิ  ซึ่งการใช้งานช่วงแรกยังมีจำนวนผู้ใช้งานน้อยทำให้มีคำในฐานข้อมูลน้อย จึงต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลอีกระยะหนึ่ง แต่คงไม่สามารถปิดกั้นการเข้าถึงแอพพลิเคชั่นนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล และการใช้งานซิมซิมิไม่มีอะไรที่เข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ 2550 แต่หากนำไปใช้ในทางไม่ดี เช่น ถามชื่อคนที่ไม่ชอบแล้วโปรแกรมตอบมาด้วยคำหยาบ หากมีการก๊อบปี้แล้วนำไปเผยแพร่ต่อก็อาจเข้าข่ายทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงเป็นการหมิ่นประมาทมีความผิดตามกฎหมายอาญาได้
          ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการทดลองเข้าไปใช้โปรแกรมซิมซิมิบนเว็บไซต์ http://www.simsimi.com/talk.htm ปรากฏว่าเมื่อถามคำถามหรือบทสนทนาส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย ซิมซิมิจะไม่สามารถโต้ตอบได้ จะตอบกลับมาเพียงว่า I have no response. เท่านั้น แม้ว่าจะทดลองโดยการใส่คำหรือประโยคที่ซิมซิมิเคยตอบได้มาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม แต่หากถามหรือสนทนาเป็นภาษาอังกฤษจะสามารถตอบโต้ได้เหมือนเดิม โดยการทดลองเล่นซิมซิมิบนเครื่องโทรศัพท์มือถือไอโฟนก็ได้ผลแบบเดียวกัน เหมือนกับว่าฐานข้อมูลของซิมซิมิในภาษาไทยนั้นถูกลบไป แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าเป็นเพราะเหตุใด
          ด้านดารา - นักแสดงที่มีการเล่นซิมซิมิกันอย่างกว้างขวาง อาทิ อั้ม - พัชราภา ไชยเชื้อ,โป๊ป - ธนวรรธน์  วรรธนะภูติ, บอย - ปกรณ์ฉัตรบริรักษ์, กอล์ฟ - พิชญะ  นิธิไพศาลกุล, วิว- วรรณรท สนธิไชย, แตงโม - ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์, ทับทิม - อัญรินทร์ ธีราธนันพัฒน์ ฯลฯ
          โดยวิว วรรณรท แสดงความเห็นว่า ปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวแอพพลิเคชั่น เพราะคำหยาบคายต่างๆ เกิดจากการใส่คำศัพท์ไว้โต้ตอบกัน ซึ่งไม่เหมาะกับเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง ตนเองตอนแรกที่เริ่มเล่นรู้สึกสนุกดี แต่พอเล่นเป็นระยะเวลานานก็รู้สึกเบื่อและเลิกเล่นไปเองในที่สุด
          เช่นเดียวกับนางเอกสาว ทับทิม - อัญรินทร์กล่าวว่า แอพพลิเคชั่นนี้ไม่เหมาะกับเด็กๆ นอก
          จากมีคำหยาบคายแล้ว ยังทำให้เด็กจดจำการใช้ภาษาไทยแบบผิดๆ ไปด้วย แต่หากเป็นผู้ใหญ่สามารถเล่นเพื่อความสนุกสนานได้ แต่ต้องไม่ลืมใช้วิจารณญาณตัดสินว่าคำที่ใช้นั้นเหมาะสมหรือไม่
          ขณะที่แตงโม - ภัทรธิดา กลับชอบแอพพลิเคชั่นซิมซิมิ เพราะเป็นการช่วยคลายความเครียดให้ผู้ใช้ ส่วนเรื่องคำหยาบคาย หากจะแก้ปัญหาจริงจังควรแก้ที่ต้นเหตุ คือผู้ปกครองไม่ควรซื้อสมาร์ทโฟนให้ใช้ตั้งแต่แรก

pageview  1205124    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved