HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 23/02/2555 ]
สามกองทุนสุขภาพจับมือเคาะ ราคากลางยา/เครื่องมือแพทย์
          เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และ นพ.เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (สพคส.) ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือจัดทำราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ หลังจากมีการสำรวจพบว่าอัตราค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโตเร็วกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีโดยในช่วงปี 2547-2553 จีดีพีโตร้อยละ 5.8 ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโตถึงร้อยละ 9.6 เฉพาะค่ายาโตถึงร้อยละ 111 ซึ่งการลงนามครั้งนี้จะทำให้ราคามีความสมเหตุสมผล ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายประเทศ
          นพ.วินัยเปิดเผยว่า การกำหนดราคากลางร่วมกันจะเริ่มทันทีในกลุ่มยาบัญชี จ (2) หรือยาจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2554 ซึ่งมีประมาณ 7-8 ตัวแต่จะเริ่มดำเนินการตัวแรกคือ ยาไอวีไอจี(Immunoglobulin G) ซึ่งเป็นยาที่ใช้สำหรับการรักษาโรคยาก เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำที่เกิดจากภูมิคุ้มกันต่อต้านเกล็ดเลือดของตนเองโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคคาวาซากิ (หัดญี่ปุ่น) และโรคภูมิต้านทานตั้งแต่กำเนิดชนิดที่ร่างกายไม่สร้างอิมมูโนโกลบูลิน เป็นต้น ส่วนยาตัวอื่นที่อยู่ในบัญชี จ (2) คาดว่าภายใน2-3 เดือนจะมีกระบวนการเจรจาต่อรองราคายา สำหรับเครื่องมือแพทย์ยังไม่มีการกำหนดราคากลาง แต่จะมีคณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว
          ด้านนายรังสรรค์กล่าวว่า การกำหนดราคากลางไม่ได้ยึดจากราคาที่ สปสช.จัดซื้อได้แต่จะมีคณะทำงาน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญตัวแทนราชวิทยาลัยต่างๆ ตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งแพทย์ที่เป็นผู้ใช้ยา และบริษัทยา มาหารือและกำหนดราคาร่วมกัน และยืนยันว่าวิธีการนี้ไม่ใช่การลดทอนสิทธิข้าราชการ แต่เป็นการลดราคาในส่วนของยาและเครื่องมือแพทย์ที่สูงเกินจริงเช่น สายสวนหัวใจ (สเต็นท์) ที่ สปสช.ซื้อได้ในราคา 20,000 บาท แต่ในส่วนของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จัดซื้อในราคา 40,000 บาท เป็นต้น ถ้ามีราคากลางร่วมกันจะทำให้ราคายาและเครื่องมือแพทย์ที่โรงพยาบาลจัดซื้อสำหรับผู้ป่วยสิทธิข้าราชการลดลง
          นายรังสรรค์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางจะจัดทำอี-ฟาร์มาซี (E-Phatmacy)โดยจะนำราคากลางของยาและเครื่องมือแพทย์หลากหลายราคาและคุณภาพจัดแสดงไว้บนเว็บไซต์ และให้โรงพยาบาลเลือกซื้อตามที่จำเป็นต้องใช้ตามราคากลางที่กำหนดไว้ทั้งนี้ ในอนาคตหากมีโรงพยาบาลใดจัดซื้อเกินราคากลางที่กำหนดจะให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบต่อไป
          ผู้สื่อข่าวถามว่า การกำหนดราคากลางเช่นนี้จะทำให้ผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการได้สิทธิไม่แตกต่างจากผู้ใช้สิทธิบัตรทอง นายรังสรรค์กล่าวว่า การกำหนดราคากลางไม่ได้ดำเนินการในยาทุกตัวและเครื่องมือแพทย์ทุกชนิด แต่จะพิจารณาเฉพาะในส่วนที่เห็นตรงกันว่าสามารถกำหนดราคากลางร่วมกันได้เท่านั้น แต่อาจจะมีการพิจารณาเพิ่มในส่วนของสิทธิประโยชน์ให้กับข้าราชการ เช่น ค่าห้องพัก เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าข้าราชการจะไม่คัดค้าน
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับยาที่อยู่ในบัญชียา จ (2) นอกเหนือจากยาไอวีไอจี อาทิ ยาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะลุกลาม ชนิดnon small cell มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย มะเร็งต่อมลูกหมากที่ดื้อต่อยาฮอร์โมนแล้ว โรคคอบิด และโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก เป็นต้น

pageview  1204957    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved