HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 03/02/2555 ]
คุมยาเส้น-บุหรี่กานพลู อย่าแค่คิด แต่ต้องทำ
          น.รินี เรืองหนู          norrinee@gmail.com
          ผลการศึกษาของนักวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ตลาด"บุหรี่กานพลู"ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ โดยมีการประเมินกันว่าตลาดบุหรี่กานพลูเติบโตขึ้นราวร้อยละ 60 ของตลาดบุหรี่ภายในประเทศ 
          มาถึงตรงนี้...สงสัยกันหรือไม่ว่า เหตุใดบุหรี่กานพลูที่มีต้นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซียจึงเข้ามาทำตลาดในบ้านเราและได้รับความนิยมจากนักสูบกันอย่างล้นหลาม ก็เพราะบุหรี่ชนิดนี้มีหลากหลายรสชาติ กลิ่นหอม บรรจุอยู่ในซองสวยงามมีสีสัน ทันสมัย พกพาง่าย แบ่งขาย และราคาถูก ที่สำคัญวางขายเกลื่อนในย่านชุมชนที่เป็นแหล่งรวมของกลุ่มวัยรุ่น อาทิหน้าห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด โรงภาพยนตร์ สถานีรถไฟฟ้า สะพานลอย ร้านค้าในหมู่บ้าน โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ๆรวมถึงกรุงเทพมหานครและ ปริมณฑล 
          จึงไม่แปลกที่กลุ่มวัยรุ่นให้ความนิยมไปซื้อมาสูบ โดยหารู้ไม่ว่าบุหรี่ชนิดดังกล่าวมีพิษภัยร้ายแรงยิ่งกว่าบุหรี่ทั่วไป ซึ่งนพ.หทัย ชิตานนท์ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และเป็นนักต่อต้านบุหรี่ตัวยง เคยให้ข้อมูลว่า แม้ในบุรี่กานพลูจะมีส่วนผสมของใบยาสูบเพียงร้อยละ 60 มีกานพลูร้อยละ 40 ซึ่งดูเหมือนไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ในบุหรี่ชนิดนี้ยังมีสารยูจีนอล (Eugenol) ซึ่งเป็น "ยาชา"ที่ทันตแพทย์ใช้เฉพาะที่ในผู้ป่วย โดยฤทธิ์ของสารดังกล่าว เมื่อผสมกับฤทธิ์ของกานพลูจะทำให้หลอดลมของผู้สูบชา ยิ่งสูบลึกมากเท่าไหร่ก็จะไม่สำลักควัน
          ดังนั้น กลุ่มเด็กวัยรุ่น หรือกลุ่มนักสูบหน้าใหม่จึงสูบง่าย และติดบุหรี่ชนิดนี้ง่ายมากเมื่อเปรียบเทียบกับการสูบบุหรี่ทั่วไป
          นอกจากนี้ มีการศึกษาพบว่าบุหรี่กานพลูจะปล่อยสารก่อมะเร็ง ทั้งนิโคตินทาร์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ มากกว่าบุหรี่ทั่วไป ผู้สูบจึงมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งมากกว่า  
          พิษภัยของบุหรี่กานพลูมีมากขนาดนี้ แต่น่าแปลกใจคือ ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใดๆ ตื่นตัวที่จะสกัดกั้นการขยายตัวของสินค้าชนิดนี้ เราจึงยังเห็นบุหรี่กานพลูวางเกลื่อนอยู่บนแผงค้าข้างถนน ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยมีการขออนุญาตนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ 
          พูดง่ายๆ บุหรี่กานพลูที่วางอยู่บนแผงทุกวันนี้เป็น "บุหรี่เถื่อน" ที่มีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยทั้งสิ้น ซึ่งเข้าข่ายความผิดหลายกระทง เริ่มตั้งแต่ผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาสูบ พ.ศ.2509 และฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ศ.2534 มาตรา46 ที่ระบุว่าหากลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  500 บาทมาตรา 50 ต้องระวางโทษปรับ 15 เท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดบนซองหรือบรรจุภัณฑ์ 
          นอกจากนี้ยังผิด พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 มาตรา 11 ที่ระบุว่าหากไม่แสดงส่วนประกอบต้องระวางโทษปรับ 100,000 บาท จำคุก 6 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 13 ที่ระบุว่าหากไม่มีภาพแสดงคำเตือนต้องระวางโทษปรับ 20,000 บาท แต่จะว่าไปแล้วโทษเหล่านี้ค่อนข้างเล็กน้อยมาก หากเทียบกับรายได้จากการทำธุรกิจนี้ 
          ยังมีเรื่องน่ากังวลอีกประการ คือ แม้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สถิติการสูบบุหรี่จะลดลงเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะมีการรณรงค์และควบคุมการเข้าถึงของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง แต่ในระยะ 3 ปีหลัง กลับพบว่าอัตราการสูบบุหรี่ไม่ได้ลดลงอย่างที่ควรจะเป็น เพราะนักสูบส่วนหนึ่งหันไปสูบ"ยาเส้น" หรือ "บุหรี่มวนเอง"เพิ่มมากขึ้น มีการสำรวจข้อมูลล่าสุดพบว่าปัจจุบันคนไทยสูบบุหรี่ประมาณ 10 ล้านคน อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แบ่งเป็น ผู้ชาย 9.5 ล้านคน       ผู้หญิง 500,000 คน ในจำนวนนี้หันไปสูบยาเส้น 4-5 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นคนในชนบท ความนิยมหันไปสูบยาเส้นกันมากขึ้น ก็เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ซึ่งทำให้บุหรี่ซองทั้งชนิดที่ผลิตในประเทศไทยและชนิดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีราคาสูงขึ้นมากกว่าราคายาเส้นถึง 900 เท่า
          ความจริง "ยาเส้น"หรือบุหรี่มวนเองก็ไม่ได้ปลอดภัยไปกว่าบุหรี่ก้นกรอง หรือบุหรี่ซองทั่วไป แต่ผู้สูบยังมีความเข้าใจผิดๆ ว่ายาเส้นไม่เป็นอันตราย เพราะรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มาต่างส่งสัญญาณผิดว่ายาเส้นไม่เป็นอันตรายจึงไม่เก็บภาษี ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงยาเส้นมีอันตรายเหมือนกับบุหรี่ก้นกรอง
          ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่1/2555 เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมาคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติจึงมีการหารือถึงการเตรียมยกร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงฉลากรูปภาพ ข้อความคำเตือนถึงพิษภัยของยาเส้น หรือยาเส้นปรุงตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายภาพคำเตือนบนซองบรรจุยาเส้นจากร้อยละ 50 ของพื้นที่ปัจจุบัน เป็นร้อยละ 55 
          นอกจากนี้ มีแผนจะเปลี่ยนจากภาพขาวดำเป็นภาพสี และเปลี่ยนภาพผลกระทบจาก2 ภาพ เป็น 4 ภาพ และเพิ่มข้อความสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 เว็บไซต์ www.thailandquiteline.or.th และเรื่องการเดินหน้ารณรงค์ยุทธศาสตร์การควบคุมบุหรี่และยาเส้น โดยจะเปลี่ยนข้อความสำคัญต่างๆเพื่อสื่อสารกับผู้สูบ เช่น เปลี่ยนคำว่า"ยาเส้น" เป็น "ยาเส้นและยาเส้นปรุง"เป็นต้น
          แต่การเพิ่มมาตรการควบคุมยาสูบที่ขยายผลไปถึงยาเส้นครั้งนี้ ยังไม่เกิดขึ้นหรือมีผลเป็นรูปธรรมได้ทันที เพราะต้องรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำเรื่องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำหรับมาตรการนี้คงต้องรอลุ้นผลกัน!

pageview  1205009    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved