Follow us      
  
  

[ วันที่ 13/11/2556 ]
'ไตวายเรื้อรัง'รู้ก่อนดี...ชะลออาการได้

 

  "ไตวายเรื้อรัง" ถือเป็นปัญหาใหญ่ของสาธารณสุขในประเทศไทย เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการเบื้องต้นผู้ป่วยที่มารับการรักษาส่วนใหญ่จึงมักจะมีค่าการทำงานของไตเหลือน้อย หรือต่ำกว่า20%
          พ.ญ.ปิยะธิดา จึงสมาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตและการบำบัดทดแทนไต ศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง เปิดเผยว่า ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไตวายเรื้อรังส่วนใหญ่จะมาจากผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่อายุมาก และผู้ป่วยที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไตมาก่อน
          นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ่ว ทางเดินปัสสาวะอักเสบและผู้ป่วยที่รับประทานยามาเป็นเวลานาน เช่น ยาต้ม ยาหม้อหรือยาสมุนไพรต่างๆ ด้วย ซึ่งกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ควรเฝ้าระวังอาการด้วยการตรวจปัสสาวะ วัดความดันโลหิต ตรวจเลือดวัดค่าการทำงานของไตเป็นระยะสม่ำเสมอ
          ทั้งนี้ โรคไตวายเรื้อรังแบ่งอาการเป็น 5 ระยะ โดยระยะที่1-2 เป็นระยะที่ปลอดภัย สามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากสาเหตุเป็นนิ่วในไต หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบแต่ถ้าไม่รีบรักษา อาการจะลุกลามไปถึงระยะที่ 3-4-5 ซึ่งถือว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังแล้ว มีค่าการทำงานของไตต่ำกว่า 60%ส่วนใหญ่มักมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง คลื่นไส้ อาเจียนอ่อนเพลีย ตัวซีด สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง มักจะเฝ้าระวังตัวเองอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว จะมีโอกาสพบก่อนว่าตัวเองเป็นโรคไตตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก็จะสามารถรักษาได้ก่อน
          สำหรับโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไม่สามารถรักษาให้หายกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ แต่สามารถชะลออาการไม่ให้ทรุดและลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบได้ แต่ปัญหาของผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่ก็คือ เมื่อทราบว่าตัวเองป่วยมักจะมีอาการผิดหวัง เศร้าใจ และท้อแท้กับชีวิต
          ดังนั้น กำลังใจจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ผู้ป่วยสามารถผ่านพ้นจุดที่เลวร้ายไปได้ การรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ร่วมกับการรักษาบำบัดทดแทนไตอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยยืดระยะเวลาการทำงานของไตได้ยาวนานขึ้น ซึ่งมีหลายวิธี ได้แก่ การล้างไตทางช่องท้อง(มีทั้งแบบล้างไตด้วยตนเองวันละ 4 ครั้ง และล้างด้วยเครื่องอัตโนมัติวันละ 1 ครั้ง) การฟอกเลือด และการปลูกถ่ายไต
          ปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคไตสามารถเบิกค่ารักษาได้ตามสิทธิต่างๆไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ หากผู้ป่วยดูแลตนเองดีๆ ก็สามารถมีชีวิตยืนยาว และทำงานได้เหมือนคนปกติ
          น.พ.สุรพงษ์ บุญประเสริฐ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) กล่าวว่า โรคไตวายเรื้อรังเป็นปัญหาใหญ่ของสาธารณสุขในประเทศไทย ซึ่งทางโรงพยาบาลบ้านแพ้วได้เล็งเห็นความสำคัญ ทั้งในเรื่องของการป้องกัน ร่วมรณรงค์ทำอย่างไรไม่ให้เป็นโรคไต และเมื่อเป็นแล้วจะทำอย่างไรในการรักษาเราได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐในการเปิดศูนย์ล้างไตทางช่องท้องในกรุงเทพฯ 2 สาขา ได้แก่ สาขาพร้อมมิตรและสาขาเจริญกรุง เพื่อรองรับผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
          ล่าสุด ทางโรงพยาบาลบ้านแพ้วยังได้ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม เพื่อขยายเครือข่ายการให้บริการล้างไตทางช่องท้องครอบคลุมถึงผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสังคม ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยประกันสังคม และยกระดับการรักษาผู้ป่วยโรคไตให้เข้าถึงการบริการได้รวดเร็วและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่จะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
          ด้านนางสาวบุปผา พันธุ์เพ็งผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรฐานทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่าแม้ว่าการล้างไตทางช่องท้องจะเป็นวิธีที่เหมาะกับวิถีชีวิตของคนวัยทำงาน เพราะผู้ป่วยสามารถล้างไตได้ด้วยตนเอง  ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลทุกสัปดาห์ แต่ปัจจุบันยังมีผู้ใช้บริการค่อนข้างน้อย
          ดังนั้น สำนักงานประกันสังคมเอง จึงได้มีการขยายช่องทางด้านการรักษาไปยังโรงพยาบาล และสถานพยาบาลเอกชนต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกันตนได้รับบริการมีคุณภาพ สะดวก และรวดเร็ว มีผลช่วยลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรอคิวนานได้
 pageview  1205339    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved