Follow us      
  
  

[ วันที่ 13/11/2556 ]
ดื่ม 'นมแม่' ช่วยลดค่าใช้จ่ายสร้างเด็กไทย'ไอคิว-อีคิว' สูง

 

 ถ้าพูดถึงเรื่องการเลี้ยงลูกด้วย "นมแม่"เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารกแล้วนั้นคงเป็นเรื่องที่คุณแม่ หรือใครๆ หลายๆ คนคงได้ยินเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะได้มีข้อมูลทางการวิจัยมาจากหลายที่ได้ระบุตรงกันว่า นมแม่เป็นนมที่เหมาะสมกับทารกตั้งแต่แรกเกิดเพราะมีสารอาหารครบถ้วนที่เหมาะสมพร้อมทั้งภูมิต้านทานที่ช่วยให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรงไม่เจ็บป่วยบ่อย อีกทั้งช่วยคุณแม่ประหยัดไม่เสียเวลาในการชง สามารถเข้าปากลูกและดูดกลืนน้ำนมได้ทันที
          โดยน้ำนมเหลืองที่ออกมาจากเต้านมของคุณแม่หลังคลอดนั้นเรียกว่า โคลอสครัม(Colostrum) ถือเป็นหัวน้ำนมชั้นยอดของลูก เนื่องจากให้สารอาหารพลังงาน โปรตีนไขมันวิตามิน เกลือแร่ครบถ้วนในสัดส่วนที่พอดีและสร้างภูมิต้านทานต่อเนื่องจากในครรภ์ได้อีกด้วย
          นอกจากนี้  สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เผยผลงานวิจัยการเลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่เพียงอย่างเดียว6 เดือน ช่วยให้แต่ละครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 7 พันบาทต่อปี และช่วยให้สังคมไทยที่มีทารกเกิดใหม่ถึงปีล่ะ 7.6 หมื่นคนต่อปี อีกด้วย
น.พ.ภูษิต ประคองสาย ผอก.สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานฯ กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลความเกี่ยวข้องของประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย เพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้กับผู้กำหนดนโยบายและผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งคาดว่าผลการวิจัยจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในต้นปี 2557 
 
          "ซึ่งจากการจัดเก็บข้อมูลในกลุ่มหญิงหลังคลอดจำนวน 830 รายใน 5 จังหวัดพบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน ช่วยให้ครัวเรือนประหยัดค่าใช้จ่าย 6,616.24 บาท หรือราว1,100 บาทต่อเดือน และเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในภาพรวมของประเทศ ซึ่งตัวเลขล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2555 ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ 7.6 แสนคนต่อปีมีร้อยละ 71 ของเด็กทารกเกิดใหม่ได้รับนมแม่อย่างเดียวเป็นระยะเวลา 3 เดือน และร้อยละ 38 ของทารกได้รับนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือน ซึ่งเท่ากับว่า ครัวเรือนไทยจะสามารถประหยัดรายจ่ายได้มากกว่า1.8 พันล้านบาทต่อปี หากมีการสนับสนุนให้เด็กทุกคน ยกเว้นมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีให้ได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวครบ6 เดือน"
          ทั้งนี้ ยังพบอีกว่าแม้หญิงไทยหลังคลอดส่วนใหญ่จะเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และถึงจะมี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2521 ที่กำหนดสิทธิการลาคลอดไว้ถึง 90 วัน แต่ในทางปฏิบัติแล้วมารดาจะใช้สิทธิลาคลอดน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าวเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจและความจำเป็นด้านการทำงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยได้ผลักภาระให้แม่และครอบครัวเป็นผู้รับผิดชอบทั้งที่ประโยชน์จากการกินนมแม่ไม่ได้เกิดเฉพาะกับเด็กและครอบครัว แต่สังคมและประเทศชาติก็จะได้รับประโยชน์จากการมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ รวมถึงยังช่วยลดภาระทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และรายจ่ายของครัวเรือนที่ลดลงจากการที่เด็กได้รับนมแม่อีกด้วย
          น.พ.ภูษิต กล่าวต่อว่า ดังนั้นทุกภาคส่วนในสังคมไทยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมควรร่วมสนับสนุนให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสม ผ่านการส่งเสริมมุมนมแม่ในสถานที่ทำงาน ให้แม่ทำงานสามารถเก็บน้ำนมกลับไปให้ลูกที่บ้านได้ รวมถึงการขยายระยะเวลาลาคลอดจาก 90 วันเป็น 180 วัน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2554 ที่พบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยให้ประเทศสหรัฐฯประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขที่ต้องใช้เพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วยของเด็กในแต่ละปีได้ถึง 1.1 แสนล้านบาท และลดค่าใช้จ่ายเพื่อการซื้อนมผง 1.17 แสนล้านบาท รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านอาหารเสริมสำหรับแม่หลังคลอด 4.8-6.3 หมื่นล้านบาท โดยในปัจจุบันสหรัฐฯ ใช้งบประมาณเพื่อดูแลพลเมืองที่เจ็บป่วยจากโรคอ้วนสูงถึง 4.4 ล้านล้านบาทต่อปี
          "จากข้อมูลของสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นว่า การกินนมแม่ทำให้เด็กเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ลดลง เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ ภาวะน้ำหนักเกิน และแม่เองก็มีสุขภาพที่ดีกว่าด้วย ดังนั้นการกินนมแม่นอกจากช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทำให้เด็กมีสุขภาพดีมีการเจ็บป่วยน้อยลงซึ่งจะส่งผลจนถึงวัยผู้ใหญ่แล้ว ยังทำให้เด็กเติบโตมีไอคิวและอีคิวสูง ประเทศชาติจะได้ประโยชน์จากการมีประชากรที่มีสติปัญญาดี และสุขภาพแข็งแรง"น.พ.ภูษิต กล่าวสรุป
 pageview  1205166    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved