Follow us      
  
  

ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 11/10/2560 ]
ทำง๊ายง่าย!! สูตร "น้ำอัชบาล" ป้องกันโรคปลายฝนต้นหนาว

ช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ หลายคนอาจเกิดอาการป่วยเอาได้ง่ายๆ เพราะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่บางพื้นที่อากาศเริ่มเย็นลง ทำให้เชื้อไวรัสเจิรญเติบโตได้ดี โดยโรคที่มักมากับอากาศในช่วงนี้คือ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม โดยผู้ที่มีความเสี่ยงคือ กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ
          จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 26 กันยายน 2560 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวน 127,477 ราย เสียชีวิต 29 ราย โรคปอดบวม 183,652 ราย เสียชีวิต 191 ราย โรคอาหารเป็นพิษ 83,227 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้อากาศมีการเปลี่ยนแปลง และเป็นช่วงที่กำลังเปลี่ยนฤดูกาล ยังคงพบรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งติดต่อจากการไอ จามรดกัน ดังนั้น ผู้ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แม้จะมีอาการไม่มาก ควรหยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค
          สำหรับอาการโดยทั่วไปของโรคไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ไอ น้ำมูก บางคนมีอาการเจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง เป็นอยู่ประมาณ 3-5 วัน จะคล้ายโรคไข้หวัดธรรมดาอาการก็จะหายไปเอง แต่จะเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีอาการรุนแรง เช่น ไอมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ซึ่งอาจเกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ทำให้ เกิดการอักเสบของปอด ทำให้ปอดบวม การหายใจล้มเหลว ซึ่งอาการอาจจะรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่รุนแรงคือ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกาย
          ทั้งนี้ ในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลเช่นนี้ การรักษาสุขภาพและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ในการป้องกันการเจ็บป่วย ซึ่งตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยก็มีสมุนไพรหลายตัวและมีสูตรหลายตำรับที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคในช่วงปลายฝนต้นหนาวได้ หนึ่งในนั้นคือ "น้ำอัชบาล"
          พท.ป.อัคคฤทธิ์ ภูถนอม แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า หากย้อนไปในสมัยพุทธกาลจะมีน้ำชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า "น้ำอัชบาล" หรือ "น้ำปานะ" ซึ่งพระสงฆ์สามารถฉันน้ำชนิดนี้ได้ตลอดทั้งวัน แทนการขบเคี้ยวอาหารหลังมื้อเพลตามบัญญัติของพระพุทธศาสนา น้ำอัชบาลนี้จะใช้สมุนไพร เช่น มะนาว ส้ม กระเจี๊ยบ มะตูม ใบเตย พริก ขิง ข่า ตะไคร้ เป็นต้น และผสมน้ำผึ้งหรือน้ำตาลทรายแดง และเกลือให้มีรสชาติ ซึ่งตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยแนะนำให้ดื่ม น้ำอัชบาล ซึ่งเป็นน้ำสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว และเผ็ดร้อน ในการช่วยป้องกันโรคในช่วงปลายฝนต้นหนาวได้
          "สาเหตุที่น้ำอัชบาลป้องกันโรคในช่วงปลายฝนต้นหนาวได้นั้น เนื่องจากในช่วง ต.ค. - พ.ย. ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อของฤดูกาล หรือที่เรียกว่าช่วงปลายฝนต้นหนาว ในช่วงนี้ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยเป็นช่วงที่ต้องระวังการเกิดโรคทางเสมหะ หรือธาตุน้ำที่เป็นต้นเหตุในการเกิดโรค เช่น หวัด ภูมิแพ้อากาศ ไอ เจ็บคอ เนื่องจากช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงนี้ ธาตุน้ำในร่างกายมักจะกำเริบ คือ น้ำมูกไหล มีเสมหะ ธาตุลมในร่างกายไหลเวียนไม่สะดวก คือ คัดจมูก ไอ จาม มีผลทำให้ธาตุไฟเสียสมดุล เกิดอาการจมูกแดงและเจ็บคอนั่นเอง ซึ่งน้ำอัชบาลที่มีรสเปรี้ยวนั้น รสเปรี้ยวจะช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ และรสเผ็ดร้อน จะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก และธาตุไฟทำงานได้เป็นปกติ จึงสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคในช่วงนี้ได้" พท.ป.อัคคฤทธิ์ กล่าว
          สำหรับวิธีการทำน้ำอัชบาลนั้น มีขั้นตอนการทำที่ง่าย โดย พท.ป.อัคคฤทธิ์ ระบุว่า สามารถเตรียมและทำเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน โดยสูตรที่จะแนะนำคือ มะนาว พริกขี้หนู น้ำตาลหรือน้ำเชื่อม และเกลือ โดยวิธีในการทำนั้น คือ 1. นำมะนาวมาล้างเปลือกให้สะอาดแล้วผ่าครึ่ง เอาเมล็ดมะนาวออกให้หมด 2. คั้นมะนาวเอาแต่น้ำผสมกับน้ำอุ่น ก่อนเติมน้ำเชื่อมหรือน้ำตาล แล้วใส่เกลือตัดรสเล็กน้อย 3. นำพริกขี้หนู 3-4 เม็ด ล้างน้ำให้สะอาด แล้วทุบพอแตกใส่ผสมลงไป จากนั้นสามารถดื่มได้ตามใจชอบ
          "น้ำอัชบาลนี้สามารถดื่มได้ทั้งวัน ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ จะสามารถช่วยป้องกันโรคได้ และสามารถดื่มได้ทุกเพศทุกวัย แต่ก็มีข้อควรระวังโดยในเด็กเล็ก ซึ่งมีอาการท้องเสียได้ง่าย อาจจะต้องลดความเปรี้ยวลง หรือคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานอาจจะต้องระวังเรื่องการเติมน้ำเชื่อมหรือน้ำตาล และคนที่เป็นโรคไตก็ต้องระวังเรื่องการเติมเกลือ นอกจากนี้ หากเจ็บป่วยแล้วมีไข้สูง ตัวร้อน ไม่ควรดื่มน้ำนี้ เนื่องจากมะนาวที่มีรสเปรี้ยวจะยิ่งทำให้ธาตุไฟในร่างกายกำเริบ และทำให้ไข้ยิ่งขึ้นสูงได้" พท.ป.อัคคฤทธิ์ กล่าว
          พท.ป.อัคคฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนคนธรรมดาสามารถผสมสัดส่วนต่างๆ เหล่านี้ได้ตามใจชอบหรือตามรสที่ถูกใจ ส่วนในการทำน้ำอัชบาลแนะนำว่าควรเป็นน้ำอุ่น เพราะจะช่วยให้น้ำมันหอมระเหยในพริกละลายออกมาแล้วส่งกลิ่นหอม การดื่ม น้ำอัชบาลหากเทียบกับแผนปัจจุบันก็อาจ เทียบได้กับการรับประทานวิตามินซี ซึ่งเป็น สารที่มีในมะนาว โดยวิตามินซีก็จะช่วยในเรื่องขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ กระตุ้นการหลั่งน้ำลายอยู่แล้ว
          ถือว่าเป็นสูตรในการทำน้ำดื่มที่ทำเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน และนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคได้อย่างง่ายดาย และวัตถุดิบก็จัดเตรียมไม่ยาก
          หากไม่อยากเจ็บป่วยในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ก็ลองนำสูตรทำน้ำอัชบาลนี้ไปทดลองปรุงดื่มกันได้ เพื่อบำรุงให้ธาตุต่างๆ ในร่างกายเป็นปกติ ลดโอกาสเสี่ยงในการเจ็บป่วย ดีกว่าเจ็บป่วยแล้วต้องมารักษาหรือพักฟื้นร่างกายภายหลัง.
 

 pageview  1205146    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved