Follow us      
  
  

ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 11/11/2556 ]
ข้อควรระวัง!..เมื่อต้องนั่งดูทีวีกับลูก(วัยรุ่น)
 เคยไหม เวลานั่งดูโทรทัศน์กับลูกอยู่ดีๆ ก็มีฉากเลิฟซีนแทรกเข้ามา หรือดูแล้วมีฉากชวนทำให้บรรยากาศระหว่างพ่อแม่ และลูกตึงเครียดเข้าไปอีก..เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอ และมีความรู้สึกเหล่านี้ ซึ่งพ่อแม่บางคนไม่รู้จะทำอย่างไร คว้ารีโมตมากดปิด หรือถือโอกาสสั่งสอนลูกในตอนนั้นเสียเลย
          แต่ทราบหรือไม่ว่า พฤติกรรมของพ่อแม่ในข้างต้น จะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกว่า พ่อแม่ไม่ต้องการให้เขารับรู้ในเรื่องนี้ และในอนาคตหากเด็กมีความสงสัยในเรื่องเพศ เด็กก็จะทำนายได้เลยว่า พ่อกับแม่ก็ไม่เปิดรับแน่นอน เมื่อรู้ว่าพ่อแม่ไม่เปิดรับ ลูกๆ ก็จะไม่เปิดเผยเรื่องนั้นกับพ่อแม่
          ไม่แปลกว่าทำไมเด็กที่เข้าสู่วัยรุ่นส่วนใหญ่ ถึงไม่ชอบคุย หรือเข้าไปนั่งดูโทรทัศน์กับพ่อแม่ ทั้งๆ ที่การดูโทรทัศน์ หรือใช้เวลาร่วมกันเป็นสิ่งที่ดี
          ต่อประเด็นนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ ให้ความเห็นไว้ตอนหนึ่งในงานเสวนา "ความสุข..สร้างได้ทุกวัย : ฮอร์โมนสุขใจ..ในวัยว้าวุ่น" ซึ่งจัดขึ้นในงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ปี 2556 โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การดูโทรทัศน์ด้วยกัน เป็นสิ่งที่ดีก็จริง แต่พ่อแม่ไม่ควรแสดงพฤติกรรมจนทำให้ลูกเกิดความรู้สึกอึดอัดขณะดูโทรทัศน์ด้วย
          "เด็กวัยรุ่นบางคนไม่ชอบดูหนังกับพ่อแม่ เพราะว่าอึดอัด อย่างเวลามีฉากจูบปากกันที ก็หันมามองลูกล่ะ ทางที่ดีการจะดูทีวีหรือนั่งดูหนังด้วยกัน พ่อแม่ควรทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย ถ้าดูด้วยกัน ก็ดูกันไปจนกระทั่งจบ หากมีฉากที่ไม่เหมาะสม อย่าเพิ่งไปแทรกถาม หรือแสดงพฤติกรรมให้ลูกรู้สึกอึดอัด ควรให้ตัวละครมันเล่าเรื่องไป จากนั้นค่อยหาช่วงเวลาพักโฆษณา หรือดูให้จบก่อนแล้วค่อยถามความรู้สึกลูกว่าดูแล้วเป็นอย่างไร คิดเห็นอย่างไร"
          เช่นเดียวกับ ปิง-เกรียงไกร วชิร ธรรมพร ผู้กำกับซีรีส์เรื่อง ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซั่น 2 เขาบอกว่า ทุกครอบครัวมีวิธีการสื่อสารกับลูกไม่เหมือนกัน แต่บรรยากาศที่ใช้ในการสื่อสารกัน เป็นสิ่งสำคัญมาก
          "ผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการดูหนังด้วยกันกับลูก เป็นคุณแม่ท่านหนึ่งนั่งดูซีรีส์ฮอร์โมนตอนที่ 8 ซึ่งเป็นตอนของดาวกับลูกสาว คุณแม่ท่านนี้บอกว่า ตอนนั่งดูกับลูกสาวมันรู้สึกอึดอัดเหมือนในเรื่องเป๊ะๆ เลย จนถึงตอนที่ดาวรู้ว่าท้อง หรือไม่ท้อง บรรยากาศก็ยิ่งกดดันมากขึ้นไปอีก กระทั่งดูกันจนจบ คุณแม่ก็ลุกขึ้นไปกอดลูกสาว กอดแน่นมากๆ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นการสื่อสารแบบหนึ่งนะ
          บางครอบครัวอาจมีกำแพงประมาณหนึ่ง แต่บางครอบครัวเปิดเผยได้ แม้จะไม่เหมือนกัน อย่างน้อยๆ บรรยากาศที่เราสื่อสารกัน มันเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการพยายามทำความเข้าใจกันระหว่างเจเนอเรชัน ไม่เช่นนั้นเราจะอยู่กันแบบไม่เข้าใจกันไปเลย ปัญหาทุกอย่างมันก็จะไม่ถูกแก้" ผู้กำกับรุ่นใหม่ท่านนี้ให้ความเห็นไว้ในงานเดียวกัน
          สำหรับประเด็นเรื่องการนั่งดูโทรทัศน์กับลูก นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเคยเขียนบทความเรื่องเพศ เรื่องเซ็กซ์ เด็กๆ เรียนรู้จากพ่อแม่ ซึ่งมีตอนหนึ่งได้เขียนแนะนำพ่อแม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง
          "สิ่งที่ดีที่สุด เวลาดูหนังกับลูก ควรดูไปเรื่อยๆ ไม่ว่าเป็นฉากอะไรก็ตาม ไม่ต้องเห็นดีเห็นงาม แต่ก็ไม่ต้องรังเกียจเดียดฉันท์ในฉากต่างๆ เพราะมันแสดงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง หากเป็นฉากเกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น เลิฟซีนต่างๆ คุณพ่อคุณแม่แสดงออกแบบเฉยๆ เด็กก็รับรู้เลียนแบบพ่อแม่ โดยเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อใดก็ตามที่เห็นว่าเป็นการแสดงเกินเหตุ ก็พูดคุยกับลูกได้ว่า นี่เป็นการแสดงเกินพอดี ปกติคนทั่วๆ ไปเขาไม่ทำกันอย่างนี้ หรือในวัฒนธรรมไทยเราไม่ทำกันอย่างนี้ ซึ่งการพูดคุย พ่อแม่จะต้องสื่อสารสองทาง พูดความคิดเห็นของเรา แล้วเปิดโอกาสให้ลูก บอกความคิดเห็นของเขา เป็นการพูดคุยแบบเพื่อนที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตรตามมา"
          ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลี้ยงลูกวัยรุ่น เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องรับมือหนักกว่าวัยไหนๆ แต่ถ้าให้ความรัก ความเข้าใจ แล้วเลี้ยงพวกเขาให้มีความสุข ลูกวัยรุ่นก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ นั่นเพราะความสุขมีความสัมพันธ์กับสมอง ดังที่ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเอาไว้ว่า
          "เมื่อคนเรามีความสุข สมองซีกซ้าย ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล การวิเคราะห์ และการคำนวณจำทำงานมากขึ้น ขณะที่เมื่อเรามีความรู้สึกในเชิงลบ หรือมีความทุกข์ สมองซีกขวา ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดสร้างสรรค์จินตนาการ และศิลปะจะทำงานมากกว่า
          ดังนั้น คนที่สมองซีกซ้ายทำงานมากกว่าซีกขวา จึงเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มแย้ม และมีความคิดในเชิงบวก คนที่อยู่รอบข้างก็มักจะรู้สึกถึงความสุขไปด้วย ซึ่งแตกต่างจากพวกที่สมองซีกขวาทำงานมากกว่า ที่จะพบว่า เป็นคนที่มีความคิดในแง่ร้าย ความจำไม่ดี และมีความรู้สึกในเชิงลบมากกว่า ทำให้คนที่อยู่รอบข้างรับรู้ถึงความทุกข์ไปด้วย"
          อ่านแล้วลองนำไปปรับใช้กันดู อย่างน้อยๆ ก็ลดอาการปวดเศียรเวียนเกล้า อันเนื่องมาจากพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของลูกในวัยนี้ลงไปได้มาก
 pageview  1205165    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved