Follow us      
  
  

ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 20/08/2564 ]
กลัวติด-กลัวไม่มีกิน จิตแพทย์ห่วงโควิดเรื้อรัง ทำคนซึมเศร้ารุนแรงไม่รู้ตัว

 "กลัวติด-กลัวไม่มีกิน" จิตแพทย์ห่วงโควิดเรื้อรัง ทำคนซึมเศร้ารุนแรงไม่รู้ตัว!
          แบบตรวจเช็คสุขภาพใจเผย โควิดทำคนไทยซึมเศร้ารุนแรงไม่รู้ตัว ด้านจิตแพทย์แจง ปัญหาปากท้องส่งผลกระทบหนัก ยิ่งเสียชีวิตจากโควิดอย่างกะทันหัน ยิ่งเป็นเหตุให้คนใกล้ชิดเข้ารับคำปรึกษาจำนวนมาก แนะอย่าปล่อยให้ความเครียดกัดกินจิตใจ ทำแบบประเมินเบื้องต้น รู้ตัวเร็ว จัดการได้ไว!!
          ไม่ติดโควิดแต่สภาพจิตใกล้โคม่า!
          กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากบนโลก โซเชียลฯในขณะนี้ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ท่านหนึ่ง โพสต์ภาพแบบประเมินความเครียด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยกรมสุขภาพจิต ผ่านเว็บไซต์ https://checkin.dmh.go.th และต้องตกใจเป็นอย่างมากเมื่อพบว่ามีความเครียดมาก และมีอาการของโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง โดยที่ตนเองก็ไม่รู้ตัว!
          เจ้าของโพสต์จึงแนะนำให้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ท่านอื่น ได้ลองทำแบบประเมินนี้ ผลปรากฏว่าหลายต่อหลายคนพบความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตที่หนักไม่แพ้กัน โดยส่วนใหญ่กล่าวว่าไม่คิดว่าตนเองจะมีความเสี่ยงขนาดนี้ จนโพสต์ ดังกล่าวถูกคนรีทวิตไปแล้วเกือบ 20,000 ครั้ง
          สำหรับ แบบตรวจเช็คสุขภาพใจ หรือ MENTAL HEALTH CHECK-IN เป็นเครื่องมือประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น คัดกรองความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการประเมินประกอบไปด้วย 5 ส่วนคือ ข้อมูลทั่วไป, แบบประเมินพลังใจ, ภาวะเหนื่อยล้า หมดไฟ, ความเครียด, ภาวะซึมเศร้า และ ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.โยธิน วิเชษฐวิชัย แพทย์ชำนาญการด้านจิตเวช โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ได้ให้ความรู้แก่ทีมข่าว MGR Live ว่าการทำแบบประเมินความเครียดเบื้องต้นนั้น เป็นอีกหนทางที่จะช่วยให้รู้เท่าทันสุขภาพจิตด้วยตนเอง ก่อนที่จะสายเกินแก้
          "แบบประเมินความเครียดทั่วไปของกรมสุขภาพจิต ก็อาจจะบอกได้คร่าวๆ ว่าคนที่ทำเครียดแค่ไหน เป็นการประเมินล่วงหน้าได้ว่าเครียดเกินไปแล้วนะ หรืออาจจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้
          ความเครียดนี่มันแปลกอย่างนึง ถ้าคนที่รู้ตัวว่าตัวเองเครียด มันจะผ่อนความเครียดนั้นได้ จะมีวิธีจัดการได้ แต่ถ้าคนที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองเครียด อันนั้นจะจัดการยาก
          ถ้าประเมินแล้วตัวเองมีความเครียดมากขึ้น ก็อาจจะต้องรีบหาวิธีผ่อนคลาย หรือถอยออกมาจากสถานการณ์ที่ทำให้ตัวเองเครียด บางเรื่องที่ทำอยู่มันสร้างความเครียดมากขึ้นรึเปล่า แต่ถ้าหยุดคิดไม่ได้ก็ต้องหาทางเบี่ยงเบนไปทำอย่างอื่น ถ้ามันไม่ไหวก็คงต้องไปหาหมอ ก็อาจจะมียาบางตัวที่ทำให้กินแล้วมันช่วยผ่อนคลาย ให้ผ่านช่วงนี้ไปได้ครับ"
          จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ที่ไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายเพียงอย่างเดียว หากแต่ในด้านของสุขภาพจิตก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน โดยจิตแพทย์ชื่อดังได้กล่าวว่า ความเครียดเกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายนอกอย่างเรื่องสภาพเศรษฐกิจ และปัจจัยภายในคือการที่คนในครอบครัวจากไปอย่างไม่มีวันกลับ
          "ประเด็นภายนอกกับประเด็นภายในน่าจะพอๆ กัน กลัวตายกับกลัวไม่มีกิน ไม่มีกินก็อดตาย ปัญหาหลักตอนนี้ที่กระทบจิตใจ ประเด็นภายนอกเป็นเรื่องของ financial หรือเศรษฐกิจ เรื่องของปากท้องผมว่ามันสำคัญมากขนาดที่มันไปด้วยกันกับจิตใจ พอไม่มีจะกิน ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะทำยังไง ธุรกิจล้ม รายได้ก็น้อยลง มันมีความกลัว กังวลว่าอนาคตเราจะอยู่กันยังไง
          ตอนนี้ทุกคนที่ดาวน์มันไม่ใช่แค่เลเวลที่ไม่ได้ไปเที่ยวหรือไปไหน มันเป็นความรู้สึกว่าจะอยู่ต่อไปยังไง จะใช้ชีวิตยังไง จะหากินต่อไปยังไง ความกลัวมันก็ส่งผลกระทบกับจิตใจอยู่แล้ว เราไม่รู้ว่ามันจะจบเมื่อไหร่ คนทำร้านอาหารจะเปิดร้านอาหารได้มั้ย แล้วลูกน้องจะทำยังไง มันเป็นโดมิโนไปหมด
          ถ้าเรื่องภายใน เช่น ความเจ็บป่วยเรื่องของร่างกาย เรื่องของคนในครอบครัว มีการสูญเสีย มีการพลัดพรากจากคนที่รักอย่างกะทันหันในหลายครอบครัว ปกติถ้าสั่งเสียได้ เขาจะมีความรู้สึกว่าอย่างน้อยก็ได้เคลียร์กันก่อน
          แต่บางบ้านทะเลาะกันก่อนที่จะไปโรงพยาบาล บางบ้านก็มีประเด็นค้างคากันอยู่ คนที่ยังอยู่เขายังรู้สึกว่า เขาจะไปเคลียร์กับคนตายแล้วยังไง มันคงไม่ได้ ประเด็นค้างคาใจเป็นปัญหาที่ค่อนข้างต้องมาพบจิตแพทย์เยอะมาก"
          ทุกช่วงวัยเครียดได้หมด
          เมื่อทีมข่าวถามต่อว่า ช่วงวัยใดได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตในในสถานการณ์โควิด-19 มากที่สุด โดยทางจิตแพทย์ชื่อดังก็ให้คำตอบว่า ความเครียดเกิดขึ้นได้กับเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย หากแต่ว่ามีสาเหตุ ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป
          "ถามว่าวัยไหนกระทบมากสุด ผมว่าโดนทุกวัย แต่คนละแบบ ผู้สูงอายุ 70-80 up จะน้อยใจง่าย กังวลง่ายอยู่แล้ว ผู้สูงอายุจะโดนในเรื่องของการกักตัว แยกตัว พอลูกหลานมาหาไม่ได้ก็คิดนู่นคิดนี่ ตามมาด้วยภาระ ซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวลได้ มีความเสี่ยงเป็นสมองเสื่อม
          ถ้าเป็นวัยทำงาน อย่างที่เรียนไปแล้วคือเรื่องของเศรษฐกิจ เป็นวัยกำลังทำมาหาเลี้ยงชีพ ตอนนี้ทุกอย่างมันพังทลายเหมือนปราสาททราย บางคนก็ดีเพรส บางคนก็ซึมเศร้า รู้สึกผิดหวังในชีวิต บางคนก็ไปด้อยค่าตัวเองว่าทำไมเขายังรอดอยู่ ทำไมเราล้มไปแล้ว
          วัยรุ่น เป็นปัญหาเรื่องเพื่อน การไม่มีกลุ่มที่คอยสนับสนุนในการที่จะพัฒนา ด้านจิตวิทยาอาจจะมีปัญหาเรื่องของการหา identity ตัวเอง มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม โซเชียลเน็ตเวิร์กมันก็ได้ระดับนึง แต่สุดท้ายมันไม่มี contact อย่างอื่น ไม่ได้มีกิจกรรมกลุ่ม
          ส่วนเด็กเล็กจะกระทบเรื่องเรียนออนไลน์ ต้อง มานั่งเรียน นั่งแช่อยู่หน้าคอมพ์ทั้งๆ ที่เป็นวัยที่ต้องไป วิ่งเล่น พอเรียนไม่ไหว งอแง พ่อแม่ก็เครียด ทะเลาะกันเอง ก็เกิดปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ กระทบกันเป็นลูกโซ่"
          นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นสำคัญที่ไม่ถูกพูดถึง มากนัก คืออาการข้างเคียงของติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ ส่งผลถึงสภาพจิตใจโดยตรง
          "อีกประเด็นที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือเรื่องของ ตัวเชื้อโควิด มันเข้าไปติดแล้ว ถ้าคนที่อาการเยอะหน่อย ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือภูมิน้อย ตัวเชื้อมันจะปล่อยให้เกิดการอักเสบในเส้นเลือดสมอง
          พอเส้นเลือดสมองอักเสบ มันไปลดการทำงานของซีโรโทนิน (serotonin) ในหัว ทำให้คนนั้นคิดลบง่าย คุมอารมณ์ไม่ได้ หงุดหงิด พอมีผลกระทบกับสมอง เรื่องจิตใจก็ตามมา เพราะสมองเป็นตัวควบคุมจิตใจ
          ที่เราเห็นตามสื่อ คนเป็นโควิดแล้วออกมา live บางคนที่รู้จักก็บอกบุคลิกเปลี่ยนไป ไม่ใช่คนเดิม มันขึ้นสมอง ก็จะมีผลกับจิตใจ เราจะเห็นผู้สูงอายุสมองเสื่อม แล้วอารมณ์หงุดหงิด หรือผู้หญิงตอนก่อนมีประจำเดือน ก็จะอารมณ์ผิดปกติเพราะพวกนี้สมองเป็นตัวควบคุม"
          ทั้งนี้ แพทย์ชำนาญการด้านจิตเวช ได้ฝากถึงการจัดการกับสภาพจิตใจที่ดีที่สุดในภาวะวิกฤตเช่นนี้ คือการอยู่กับปัจจุบัน และการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางใจ
          "สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด อยู่กับปัจจุบันก่อน ทำอะไรได้ก็ทำ ทำอะไรที่ทำให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง เกิดความรู้สึกดีกับตัวเองขึ้นได้ก็ทำ ผมยังคิดว่าหลัก "เมตตาตัวเอง" น่าจะใช้ประโยชน์ได้ดีที่สุดในช่วงนี้ บางคนไปอยู่กับอดีต ผ่านไปแล้วยังจมทุกข์กับสิ่งที่เกิดขึ้น รับไม่ได้กับสิ่งที่ผ่านมาแล้ว และมันก็แก้อะไรไม่ได้
          หรือไปอยู่กับอนาคต ไปคิดกังวลว่าจะทำยังไง เราไปอยู่กับสิ่งที่มันไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเรา มันค่อนข้างแก้ไขอะไรยาก พวกนี้มันยิ่งทำให้สถานการณ์เราแย่ลงครับ เรื่องของการยอมรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็สำคัญ บางทีเราแก้อะไรไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือยอมรับมัน
          วัคซีนก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ผมว่ามันอยู่เหนือการควบคุมของพวกเราประชาชน แต่มันอยู่ในเงื้อมมือของผู้บริหารประเทศ ตอนนี้สิ่งที่ประชาชน เราก็คงไม่มีอะไรที่จะทำได้ดีกว่านี้นอกจากการดูแลป้องกันตัวเองไม่ให้ไปอยู่ในสถานที่เสี่ยง หรือว่าไม่ให้ตัวเองไปอยู่ในกลุ่มคนที่เสี่ยง ก็อยากให้กำลังใจทุกคน ผมว่าตอนนี้มันไม่ใช่ทั้งประเทศ มันทั้งโลก กระเทือนกันหมด อันไหนเราให้กำลังใจกันได้ก็ให้ครับ" .

 pageview  1205465    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved