Follow us      
  
  

ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 20/08/2564 ]
ไทยป่วยโควิดทะลุล้าน ชูสูตรไขว้-บูสเตอร์สู้ เดลตา

 ไทยป่วยโควิดทะลุล้านชูสูตรไขว้-บูสเตอร์สู้'เดลตา'
          ผู้จัดการรายวัน360 - ป่วยรายวันยังสูง 20,902 ราย ตาย 301 คน ติดเชื้อสะสมใกล้ทะลุล้านวันนี้ ยอดฉีดวัคซีนทั่ว ปท. เกิน 25 ล้านโดส "กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์-ศิริราช" เปิดผลทดสอบฉีดไขว้ "ซิโนแวค-แอสตร้าฯ" ภูมิสูงสู้ "เดลตา" บูสฯ แอสตร้าฯ เข็ม 3 เจ๋งกระตุ้นภูมิ 11 เท่า "หมอธีระวัฒน์" ทักอาจไม่ใช่ภูมิยับยั้งไวรัส "รพ.ศิริราช" เปิดจองฉีด "ไฟเซอร์" คนท้อง-ผู้ป่วยเด็ก ลงทะเบียนผ่านแอปฯ Siriraj Connect
          ผู้จัดการรายวัน360 - ป่วยรายวันยังสูง 20,902 ราย ตาย 301 คน ติดเชื้อสะสมใกล้ทะลุล้านวันนี้ ยอดฉีดวัคซีนทั่ว ปท. เกิน 25 ล้านโดส "กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์-ศิริราช" เปิดผลทดสอบฉีดไขว้ "ซิโนแวค-แอสตร้าฯ" ภูมิสูงสู้ "เดลตา" บูสฯแอสตร้าฯเข็ม 3 เจ๋งกระตุ้นภูมิ 11 เท่า "หมอธีระวัฒน์" ทักอาจไม่ใช่ภูมิยับยั้งไวรัส "รพ.ศิริราช" เปิดจองฉีด "ไฟเซอร์" คนท้อง - ผู้ป่วยเด็ก ลงทะเบียนผ่านแอปฯ Siriraj Connect
          วานนี้ (19 ส.ค.) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ประจำวันว่า เพิ่มขึ้นอีก 20,902 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 20,754 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ-ที่ต้องขัง 148 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 301 คน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในช่วงการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ 1 เม.ย.- 19 ส.ค.64 มีจำนวน 960,996 ราย เสียชีวิตสะสม 8,492 คน หากนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดเมื่อต้นปี 63 ยอดผู้ป่วยสะสมจะมีถึง 989,859 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 8,586 คน โดยคาดว่าวันนี้ (20 ส.ค.) ยอดผู้ป่วยสะสมในไทยจะเกิน 1 ล้านราย
          ส่วนผู้หายป่วยรายใหม่มีเพิ่ม 22,208 ราย ผู้หายป่วยสะสม 747,901 ราย (ตั้งแต่ 1 เม.ย.-19 ส.ค.64)
          ขณะที่ยอดฉีดวัคซีนทั่วประเทศเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ฉีดได้ 548,311 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 417,169 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 122,206 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 8,936 ราย ส่งผลให้มียอดฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 25,167,060 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 สะสม 19,143,574 ราย เข็มที่ 2 สะสม 5,503,882 ราย และเข็มที่ 3 สะสม 519,604 ราย ทั้งนี้รัฐบาลประกาศเตรียมเปิดประเทศภายใน 120 วัน ในวันที่ 29 ต.ค. 2564 ซึ่งเหลืออีก 71 วัน และมีเป้าหมายนำวัคซีนเข้าประเทศ 100 ล้านโดส ในสิ้นปีนี้
          ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงรายงานการติดตามผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด และการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ว่า กรมฯได้ร่วมกับศิริราชพยาบาล ทำการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในซีรั่มของคนที่ได้รับวัคซีน โดยใช้ไวรัสสายพันธุ์จริงที่กำลังระบาดในประเทศไทย คือ สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) ซึ่งพบในการติดเชื้อกว่า 90% โดยทำการทดสอบแอนติบอดี (ภูมิ) ที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนในอาสาสมัคร 6 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็ม (SV+SV), กลุ่มที่ 2 ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม (AZ+AZ), กลุ่มที่ 3 ได้รับซิโนแวค และตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า (SV+AZ), กลุ่มที่ 4 ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า และตามด้วยซิโนแวค (AZ+SV), กลุ่มที่ 5 ได้รับซิโนแวค 2 เข็มและตามด้วยซิโนฟาร์ม 1 เข็ม (SV+SV+Sinopharm) และกลุ่มที่ 6 ได้รับซิโนแวค 2 เข็มและตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม (SV+SV+AZ)
          "ระดับภูมิคุ้มกันในกลุ่มต่างๆ หลังการได้รับวัคซีนครบโดส 2 สัปดาห์ ต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า มีค่าเฉลี่ยระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสได้ ผลการศึกษาการให้วัคซีนสลับแบบ SV+AZ มีภูมิคุ้มกันสูงกว่าการให้วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม (SV+SV) และเทียบเท่ากับการให้แอสตร้าฯ 2 เข็ม (AZ+AZ) แต่ใช้เวลาสั้นลง แต่ไม่แนะนำให้ฉีดแอสตร้าฯ เข็มแรก และตามด้วยซิโนแวค (AZ+SV) ส่วนการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าฯ (SV+SV+AZ) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นถึง 11 เท่า" นพ.ศุภกิจ กล่าว
          อีกด้าน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ข้อมูลที่ทางการออกมาเปิดเผยว่า การใช้เข็มที่หนึ่งคือซิโนแวค และเข็มที่สองเป็นแอสตร้าฯนั้น จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ภูมิที่วัดจะดูสูงกว่าซิโนแวค 2 หรือ แอสตร้าฯ 2 แต่ภูมิที่เห็นนั้นเป็น "ภูมิรวม" ไม่ใช่ภูมิที่ยับยั้งไวรัส และเมื่อดูภูมิเฉพาะเจาะจงที่ยับยั้งไวรัสเดลตาที่ดีที่สุดคือ ซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยเข็ม 3 แอสตร้าฯ
          วันเดียวกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ออกประกาศว่า รพ.ศิริราชเปิดให้จองฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ สำหรับสตรีมีครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้ป่วยเด็กอายุ 12-18 ปี ใน 7 กลุ่มโรคกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งโรคหอบหืดที่มีอาการระดับปานกลางหรือรุนแรง, 2. โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมอง, 3. โรคไตวายเรื้อรัง, 4.โรคอ้วนที่มีน้ำหนักเกิน 70 กิโลกรัมในเด็กอายุ 12-13 ปี, น้ำหนักเกิน 80 กิโลกรัม ในอายุ 13-15 ปี, น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัมในเด็กอายุ 15-18 ปี, 5.โรคมะเร็ง หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ, 6.โรคเบาหวาน และ 7. โรคทางพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
          ทั้งนี้ สตรีมีครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้ป่วยเด็กที่เป็นผู้ป่วยของ รพ.ศิริราช และมีรายชื่อเป็นโรคใน 7 โรคกลุ่มเสี่ยง ที่ได้รับการส่งรายชื่อเข้าระบบของกระทรวงสาธารณสุข สามารถเข้าจองวันและเวลารับการฉีดวัคซีน โควิด-19 ของไฟเซอร์ ผ่านแอปพลิเคชัน Siriraj Connect ได้ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.64 เวลา 12.00 น.จนกว่ามีการจองครบตามจำนวนที่กำหนด ทั้งนี้ อาจมีการเปิดคิวจองเพิ่มเติมกรณีที่ รพ.ศิริราชได้รับวัคซีนเพิ่มภายหลัง โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ์ฉีดวัคซีนสามารถเข้ารับบริการฉีดระหว่างวันที่ 26 -29 ส.ค.64 เวลา 09.00-15.00 น. ณ หอประชุมราชแพทยาลัย รพ.ศิริราช.

 pageview  1205468    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved