Follow us      
  
  

เนชั่นสุดสัปดาห์ [ วันที่ 03/02/2555 ]
ฟ้องหมอทำไม? "ไม่มีใครดีใจหรอกที่คนไข้เสียชีวิต" นพ.ปรีชา สิริจิตราภรณ์
          เพราะเคยถูก (คนไข้) ฟ้องร้อง ต้องดิ้นรนต่อสู้คดีด้วยตนเอง หมดเงินเป็นแสน แต่นั่นยังไม่เท่ากับการเสียความรู้สึก เสียกำลังใจในการทำงาน ซึ่งเป็นเหตุให้ นพ.ปรีชา สิริจิตราภรณ์ ผอ.รพ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน จ.เชียงใหม่ เข้าใจถึงหัวอกแพทย์ที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกันว่า สุดแสนจะรันทดและเกิดอาการเหว่ว้าในหัวใจขนาดไหน ดังที่เจ้าตัวเล่าว่า
          "พอถูกฟ้องปุ๊บ เราไม่รู้จะพึ่งใคร เพราะเป็นเรื่องใหม่ ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง นิติกรหรือทนายที่จังหวัดจ้างไว้ให้ ไม่เข้าใจเพียงพอ นิติกรของกระทรวงก็ไม่เข้าใจเพียงพอ และไม่พอเพียงด้วย พอไปปรึกษาอัยการ หากไม่มีความรู้ด้านการแพทย์เพียงพอ หรือไม่มีเวลาก็ไม่ได้ประโยชน์อีก ฉะนั้น ต้องพึ่งตนเองอย่างมาก"
          เมื่อต้องพึ่งตนเองให้ได้ เขาจึงหาหนังสือกฎหมายมาอ่าน ติดตามคดีฟ้องแพทย์ ศึกษาคำพิพากษา และกลายเป็นคนช่วยเขียนสำนวนให้กับแพทย์คนอื่นๆ
          เหตุที่ต้องมาช่วยงานด้านนี้ เพราะนิติกรไม่เข้าใจวิธีการทำงานของหมอ ขณะที่หมอเองก็ไม่เข้าใจการเขียนคำให้การในคดี แบบที่คนทั่วไปอ่านและเข้าใจได้ง่าย
          "ถ้าหมอถูกฟ้องร้องคดีในภาคเหนือ ก็ส่งเรื่องมาให้ผมดู บังเอิญผมพอรู้จักกับอาจารย์กฎหมายแล้วมีประสบการณ์พอรู้ว่าควรทำอะไรต่อไป เช่นคดีนี้ดูสำนวนแล้ว ไม่ควรสู้ คือดูคร่าวๆ ก่อน หากฟังเนื้อหาแล้วไม่ควรสู้ ต้องไกล่เกลี่ย"
          ล่าสุด ได้เขียนต้นฉบับออกมาชิ้นหนึ่ง ชื่อ 'ฟ้องผม ทำไม' ด้วยหวังจะตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างคนไข้และหมอว่า เหตุใดคนไข้จึงฟ้อง และหมอในโรงพยาบาลรัฐที่เคยถูกฟ้องรู้สึกผิดหวังอย่างไร
          "ผมหมดเงินเป็นหลักแสน แต่สิ่งที่คิดเป็นมูลค่าไม่ได้คือ เสียความรู้สึก ความตั้งใจ เสียชื่อเสียง และบั่นทอนสภาพจิตใจ อย่างหมอที่ผมไปช่วยเขียนสำนวนให้ เขามีความตั้งใจผ่าตัด และเป็นคนดี"
          นั่นเป็นเหตุให้ นพ.ปรีชา เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้เพื่อนร่วมอาชีพ โดยทำหน้าที่ประสานแพทยสภา เพื่อให้ความเห็น และขอผู้เชี่ยวชาญมาให้แพทย์ที่ถูกฟ้อง รวมทั้งเขียนคำให้การเพื่อให้คนทั่วไปอ่านได้เข้าใจโดยง่าย
          เมื่อคนไข้เดินทางมาโรงพยาบาล ย่อมหวังว่าแพทย์จะช่วยรักษาอาการให้ดีขึ้น หากเหตุการณ์กลับกลายเป็นตรงกันข้าม และมีข้อชวนให้คิดว่าเป็นความประมาทหรือผิดพลาดของหมอ
          คดีฟ้องร้องระหว่างแพทย์และคนไข้ จึงเกิดขึ้น
          ความคืบหน้าของการตีพิมพ์หนังสือ
          หาที่ลงยาก กลุ่มคนอ่านคือคนใช้บริการว่าผิดหวังอย่างไร อีกกลุ่มเป็นหมอซึ่งอ่านเพื่อป้องกันตัวเอง ฉะนั้น ตลาดไม่กว้าง ผมส่งไปสองสำนักพิมพ์ เขาปฏิเสธมาหนึ่งแห่งแล้ว
          เนื้อหากล่าวถึงอะไรบ้าง
          เล่าถึงตัวอย่าง ที่ผมและลูกน้องถูกฟ้อง อีกส่วนนำเรื่องของหมอโรงพยาบาลรัฐเคยถูกฟ้องว่า เขารู้สึกผิดหวังอย่างไร คือเขาลงมาทำคลอด เตรียมตัวจะผ่าตัด แต่ปรากฎว่าคนไข้เสียชีวิตขณะย้ายขึ้นเตียงผ่าตัด เขาผิดหวังในการคาดหวังของคนไข้อย่างไร ใช้เวลาสองปีต่อสู้ เกิดความเครียดอย่างไร ลูกได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่างที่แพทย์มีความผิดชัดเจน หรือผมรักษาไข้เลือดออกแล้วส่งต่อ คนไข้เสียชีวิตในเวลาต่อมา บังเอิญญาติเป็นนักจัดรายการวิทยุท้องถิ่น เขาไปพูดชื่อผมออกอากาศว่ารักษาไม่ดี แม้ไปร่วมงานศพเขายังย้ำว่า ผมรักษาเป็นคนแรก
          เนื้อหาพูดถึงว่าเหตุใดคนไข้ถึงฟ้องหมอ วิธีการที่ไม่ให้ฟ้องควรลงเอยอย่างไร แม้ผมเป็นหมอก็ไม่ได้เข้าข้างหมอด้วยกัน บางเรื่องมันต้องมีอะไรผิดพลาดบางอย่าง คนไข้จึงตาย
          ไม่มีใครดีใจหรอก ที่คนไข้เสียชีวิต เราเรียนมาเพื่อช่วยเหลือคน เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยแล้ว เราควรเยียวยาอย่างไรให้คนไข้อยู่ได้ เราก็อยู่ได้ ไม่ใช่ว่าคนไข้อยู่ได้ หมอตายเลย
          ที่ว่าหมอตายเลย หมายถึงต้องชดใช้ค่าเสียหาย หรือตายจากหน้าที่การงาน
          ทั้งสองอย่าง ทางออกคือหมอควรรู้หลักธรรมชาติว่า ไม่ว่าจะทำอย่างไรคนไข้มีโอกาสเสียชีวิตทั้งนั้น เพียงแต่ต้องทำหน้าที่ให้เต็มที่ แต่บางเรื่องชี้แจงไม่ได้หรอก สมมติผมเป็นหมอสูติแพทย์ ผมเขียนไว้ข้างหลัง (หมายถึงติดไว้ที่ผนังในห้องแพทย์) ได้ไหมว่า การคลอดอาจทำให้แม่และเด็กตายได้ตลอด ผมเขียนได้ไหม มันเป็นข้อเท็จจริงนะครับ แต่คนไม่ยอมรับ
          คนก็บอกว่าทำไมหมอไม่ชี้แจง ผมพูดได้ไหมครับว่า คนที่มาฝากครรภ์นั้นมีโอกาสตายได้ เหมือนคนขับรถสองแถว คนนั่งถามว่าเที่ยวนี้รถจะคว่ำไหม หรือถามกัปตันเรือว่าเรือที่บรรทุกผู้โดยสารเที่ยวนี้จะล่มไหม เหมือนที่เรืออิตาลีล่มไม่มีใครกล้าถามและกล้าตอบ มันมีโอกาสเป็นได้ทั้งนั้น แต่เวลากัปตันเรือทำผิดขึ้นมา อย่างเก่งติดคุก ผู้โดยสารสี่พันกว่าชีวิตตายกี่ชีวิตไม่รู้ แต่หมอตั้งใจทำงานเต็มที่ พอพลาดขึ้นมาถูกฟ้องติดคุกครับ
          อย่างคดีหนึ่ง หมอผ่าตัดไส้ติ่งถูกศาลตัดสินว่าผิด ต้องติดคุก และต้องอุทธรณ์ คดีนั้นทำให้หมอทั่วประเทศไม่ผ่าตัด ซึ่งผลกระทบตกกับคนไข้ เช่น แทนที่จะได้ผ่าตัดไส้ติ่งตอนสิบโมง หมอก็ส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่น (เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่า) ระหว่างนั้นไส้ติ่งอาจจะแตกก่อน
          แล้วได้อธิบายเหตุผลให้คนไข้ฟังบ้างหรือไม่
          คนอ่านข่าวชอบความมัน ชอบข่าวที่เป็นแง่ลบ เมื่อไรก็ตามหนังสือพิมพ์มีเรื่องครู พระ หมอเป็นข่าว หนังสือพิมพ์ขายดีใช่ไหมครับ เมื่อไรหมอทำให้คนตายทำให้หนังสือพิมพ์ขายดี สิ่งที่พิมพ์ไปมันประทับในจิต การเผยแพร่เป็นดาบสองคม
          สื่อมวลชนเผยแพร่ข่าว เปรียบเหมือนเอาขนนกไปโปรยในบ้าน ลมพัดไปแล้วตามเก็บได้ไหมครับ มันอยู่ในความรู้สึกของคน พอคนเจอนิดหน่อยก็คิดว่าไม่ดี และคนที่เจ็บช้ำจากการรักษาของหมอก็มีส่วนหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าหมอตั้งใจให้เกิดขึ้น แต่ธรรมชาติถูกกำหนดมา (เน้นเสียง)
          ยกตัวอย่างง่ายๆ หมอทำอัลตราซาวด์คนไข้ตั้งครรภ์ บังเอิญเด็กพับแขนไว้ มองไม่เห็น คลอดออกมาเด็กแขนกุด คนไข้จะฟ้องหมอ ผมต้องบอกว่าหมอไม่ใช่คนทำลูกคุณนะ เขาฟ้องว่าอัลตราซาวด์ไม่ดี ถ้ารู้ว่าพิการจะได้ตัดสินใจว่าเอาเด็กออกหรือไม่ ทำไมไม่โทษว่าพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ไม่ดีล่ะ.
          หนังสือที่คุณหมอเขียนถือเป็นคู่มือเบื้องต้นให้ระวังตัว นั่นจะทำให้หมอเพิกเฉยต่อคนไข้มากขึ้นหรือไม่
          ไม่ครับ ถ้าเขาอ่านดีๆ จะเข้าใจ และเห็นใจคนไข้ว่าเขาสูญเสีย มีคำถามหนึ่งที่ถามในวงสนทนาแห่งหนึ่งว่า ทำไมเวลาหมอรักษาคนไข้เสียชีวิตลง ต้องไปงานศพ คือการรักษา คนไข้อาจมองว่าหมอทำผิดพลาด ไม่น่าตายกลับตาย ทำไมหมอต้องไปงานศพ หมอผิดใช่ไหม จึงไปงานศพ มันไม่ใช่
          คุณควรรู้ว่าหัวใจคนเป็นเนื้อ ไม่ใช่หัวใจเหล็ก เมื่อทำอะไรลงไปแล้วย่อมเกิดความเสียใจ การไปงานศพเพื่อแสดงความเสียใจ ไม่ใช่บอกว่าตัวเองผิด อย่างน้อยไปในฐานะเพื่อนร่วมโลกว่ารับรู้ความโศกเศร้าของคุณ.คนไข้บางคนก็ดีใจที่เรามาเคารพศพ ให้เกียรติผู้วายชนม์ เพราะมันเป็นครั้งเดียวในชีวิต
          สรุปว่าหนังสือเล่มนี้ให้ประโยชน์ทั้งคนไข้และหมอ
          คนให้บริการและคนรับบริการ คนที่อยู่วงนอกด้วย เนื้อหาหนักนิดหนึ่ง และอยากบอกว่าบางครั้งหมอไม่ได้มีเจตนาทำร้ายใคร แต่เราเป็นผู้ช่วยเหลือ
          ฟ้องผมแล้วได้อะไร นี่เป็นสิ่งที่พยายามบอกให้สาธารณชนรับรู้ อธิบายก่อนคือการชี้แจง อธิบายภายหลัง ถือว่าแก้ตัว พูดถึงการเขียนเวชระเบียนทำอย่างไรให้ปลอดภัย ให้เข้าใจกันมากขึ้น.
          เคสที่เป็นแรงบันดาลใจมีสองเคส คุณหมอจึงมาช่วยเขียนคำร้องให้เพื่อนร่วมอาชีพ
          เคสที่หนึ่ง - โรงพยาบาลในภาคเหนือ ถูกฟ้องคดีคุ้มครองผู้บริโภคกรณีอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์แล้วมีเลือดออกในสมอง ผ่าตัดแล้วเสียชีวิต สอง - แม่มาคลอดบุตรแล้วเสียชีวิตเพราะน้ำคร่ำอุดตันในเส้นเลือด แต่ตอนนี้ถอนฟ้องแล้ว.ถ้าไม่มีความเข้าใจระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการที่ดีขึ้น ปัญหาจะเกิดในอนาคตมากขึ้น หมอจะเป็นโรคหวาดระแวงไม่อยากทำอะไรที่เสี่ยงๆ เช่น ผ่าตัด หรือทำคลอด
          ในอดีตผมโดนคนไข้ขู่จะฟ้อง หมอรุ่นน้องถูกฟ้องสามคน ทำให้คิดว่าในชีวิตหนึ่งเมื่อเราถูกกระทำอะไรบางอย่าง ควรเอาวิกฤตินั้นมาเผยแพร่ อยากให้เป็นบทเรียนสำหรับคนรุ่นต่อไป เพื่ออย่างน้อยให้เกิดความรู้สึกที่ดีระหว่างหมอกับคนไข้ ให้กลับมางดงามเหมือนสมัยก่อน เพราะตอนนี้ต่างระแวงซึ่งกันและกัน
          ศึกษาจนเชี่ยวชาญ และเขียนเป็นหนังสือได้หนึ่งเล่ม
          เป็นสำนวนที่คนทั่วไปอ่านเข้าใจ ทนายความเขียนมีข้อจำกัดคือไม่เข้าใจกระบวนการทำงานของหมอ ขณะที่หมอก็เขียนให้คนทั่วไปอ่านไม่เข้าใจ ผมเลยทำส่วนนี้ให้ หมายความว่าเข้าใจสาเหตุ ความเป็นมา ทำให้คนทั่วไปอ่านก็เข้าใจ.
          ผมเคยเกือบถูกฟ้อง จึงต้องสนใจด้านกฎหมาย เมื่อก่อนไม่รู้ก็อาศัยจมูกคนอื่น อาศัยว่าเวลาอ่านกฎหมาย ซื้อมาอ่านเอง รู้พื้นฐานบ้างนิดหน่อย แต่จริงๆ หลักของกฎหมายคือหลักเหตุและผล ช่วงหลังคิดว่าต้องมาปกป้องคนอื่น ในฐานะที่เป็นข้าราชการคนหนึ่ง หน้าที่คือสร้างสันติสุขให้กับชุมชน.
          ผมคิดว่าควรมีหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง แต่โครงสร้างก็ยังไม่เกิด.อย่างผมไม่ได้จบนิติศาสตร์ บังเอิญอาจารย์แพทย์ที่คณะท่านไว้ใจและเห็นว่าผมเข้าใจกฎหมายดีพอสมควร เวลามีเวทีเกี่ยวกับการฟ้องแพทย์ ผมมักได้รับเชิญให้เป็นผู้วิพากษ์คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น
          โดยส่วนตัวคิดอย่างไรกับกฎหมายที่ให้ฟ้องแพทย์ได้
          ที่ไม่เห็นด้วยคือกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค หมายถึง พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 เพราะฟ้องแพทย์ง่ายมาก ทำให้ยุ่งยากในการต่อสู้คดี น่าจะยกเว้นการบริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลภาครัฐ ซึ่งไม่ควรนำมาอยู่ตรงนี้ ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนเขามีทีมไกล่เกลี่ยที่เข้มแข็ง แต่เราไม่มีใครเลย.
          อย่างที่ผมทำขณะนี้ เมื่อถูกฟ้องแล้ว ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชา ต้องประสานท่านอัยการ ประสานแพทยสภา ร่วมกันเป็นทีม รวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อเขียนคำให้การในการต่อสู้คดี หากเห็นว่ากระบวนการให้การรักษาเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องและเหมาะสม เหมือนทีมฟุตบอลต้องลงแข่ง คือขึ้นศาลแล้วรอคำตัดสิน ถ้าชนะก็ดูเหมือนว่าหมอได้เปรียบทุกทาง ผู้ป่วยเสียเปรียบตลอด ถ้าแพ้-หมออาจจะต้องติดคุกคนเดียว
 pageview  1204509    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved