Follow us      
  
  

ฐานเศรษฐกิจ [ วันที่ 19/08/2564 ]
โควิดลามหนักทุบผลิต ภาคอุตวูบ 30% จี้ปลดล็อกATK ช่วยเอกชนเข้าถึงราคาต่ำ

สภาอุตฯเผยโควิดสายพันธุ์เดลต้าฉุดกำลังการผลิตสินค้าของหายไป 20-30% หลังแรงงานต่างด้าวติดเชื้อกว่า 50% ชี้หากสถานการณ์ลากยาว 1 เดือนสินค้าขาดตลาดมากกว่าที่เห็น เร่งรัฐฉีดวัคซีนภาคอุตสาหกรรม พร้อมปลดล็อกการใช้ชุดตรวจ ATK
          ตัวเลขเป็นทางการของกระทรวงอุตสาหกรรม ณ วันที่ 15 ส.ค.2564 มีสถานประกอบกิจการโรงงาน พบมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมแล้วฝน 731 โรง ผู้ติดเชื้อรวมกว่า 5.1 หมื่นคน ฉุดการใช้กำลังผลิตเครื่องเริ่มสะดุดจากห่วงโซ่อุปทานในระบบถูกเชื้อโควิดเข้าโจมตี  ทำให้ต้องหยุดผลิตเป็นระยะ
          นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังมีผู้ติดเชื้อในระดับ 2 หมื่นคนต่อวัน และการฉีดวัคซีนยังไม่ครอบคลุมมากพอภายใน 1 เดือน คาดสิ้นเดือนสิงหาคมจนถึงต้นเดือนหน้า จะเกิดภาวะขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคในเชลฟ์ของห้างสรรพสินค้า รวมถึงในร้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาหาร รวมถึงของใช้มากขึ้น
          ปัจจุบันในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น พบบางโรงงานที่ใช้แรงงานต่างด้าวจะมีมากกว่า 50% ที่ติดเชื้อ ส่งผลทำให้กำลังการผลิตในภาพรวมหายไปประมาณ 20-30% ของโรงงานที่ ส.อ.ท. ทำการสำรวจ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร, ชิ้นส่วนยานยนต์, ไอทีอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทอ เป็นต้น
          "จากสถานการณ์ดังกล่าว หากเป็นอุตสาหกรรมอาหารส่งออก ก็จะทำให้สินค้าที่ส่งออกอาจจะต้องล่าช้า หรือส่งมอบไม่ได้ตามเวลา  ในทางกลับกันหากเป็นสินค้าอาหารอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในประเทศ ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เชลฟ์ต่างๆ เท่าที่สังเกตมีสินค้าพร่องไปอย่างมาก"
          นอกจากภาคการผลิตที่มีปัญหาแล้ว  ยังมีระบบขนส่ง หรือโลจิสติกส์ที่เวลานี้พนักงานมีการติดเชื้อเป็นจำนวน  ทำให้การขนส่งไม่เป็นไปตามเป้า รวมถึงปัญหาการติดเชื้อของพนักงานที่ศูนย์กระจายสินค้า (DC) ของห้างสรรพสินค้า ซึ่งทำให้สินค้าไม่สามารถส่งไปยังจุดจำหน่ายได้
          ขณะที่ฝั่งของผู้บริโภคก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าขาดแคลน จากพฤติกรรมการทำงานที่บ้าน (WFH) และการล็อกดาวน์ ทำให้เกิดการกักตุนสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะอาหารแห้ง อาหารกระป๋อง และไข่ไก่ ซึ่งกำลังเกิดปัญหาราคาปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าปริมาณการผลิตไข่ไก่ไม่ได้น้อยลงกว่าที่ผ่านมา แต่บางห้างฯ หรือร้านสะดวกซื้อก็ยังไม่มีจำหน่าย
          "ปัญหาจากภาคการผลิต ระบบโลจิสติกส์ และพฤติกรรมของผู้บริโภค เหล่านี้เป็นห่วงโซ่ที่ร้อยเรียงกันจนส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคในปัจจุบัน"
          นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า แนวทางแก้ปัญหาก็คือจะต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิดให้กับพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเท่าที่สำรวจแต่ละโรงงานพบว่ายังมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนไม่มาก เมื่อเทียบกับภาคประชาชน ทั้งที่ภาคการผลิต หรือภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องจักรสำคัญตัวเดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศปีนี้  ไม่ว่าจะผลิตเพื่อบริโภคภายใน หรือส่งออก
          "ตอนนี้โรงงานที่ใช้แรงงานเข้มข้นพนักงานส่วนใหญ่ก็จะเป็นต่างด้าว ซึ่งตามคิวก็ยังไม่ได้รับการจัดสรรให้ฉีด จะได้รับก็ต่อเมื่อคนไทยได้ก่อน  ขนาดแรงงานไทยยังไม่ได้ฉีด แรงงานต่างด้าวจึงติดเยอะขนาดนี้"
          นอกจากนี้ รัฐบาลควรที่จะช่วยเรื่องการนำเข้าชุดตรวจ Antigen Test Kit ให้กับภาคอุตสาหกรรม ในราคาที่ไม่สูงมาก หากได้ในราคาเท่ากับที่ภาคเอกชนผู้ชนะการประมูลจัดหา 8.5 ล้านชุดให้กับองค์การเภสัชกรรมชุดละ 70 บาท ก็จะดีมาก เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนให้โรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากทุกโรงงานต้องพึ่งพาตนเองในการป้องกันไวรัสแพร่ระบาด ต้องมีคัดกรองพนักงานทุกสัปดาห์ก่อนทำงาน หรือ พนักงานในห้องแล็บจะต้องมีการตรวจเชื้อทุกวัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
          อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ย้อนแย้งก็คือ กระทรวงสาธารณสุข และกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรียกร้องให้แต่ละโรงงานช่วยคัดกรองพนักงานทุก 15 วัน แต่การใช้ ATK ยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีข้อบังคับให้จำหน่ายได้เฉพาะสถานพยาบาล หรือคลินิก ทำให้เวลาโรงงานจะนำมาใช้ก็เกรงว่าจะผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้รับการปลดล็อก

 pageview  1205468    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved