Follow us      
  
  

โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 30/10/2557 ]
จะหยุดได้ไหมหากลูกเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
 ถ้าการเป็นหนุ่มเป็นสาวไม่ใช่เรื่องธรรมชาติอีกต่อไป จะทำอย่างไรดี?ปัจจุบันไทยมีประชากรที่อายุต่ำกว่า 14 ปี จำนวนกว่า 11.7 ล้านคน เป็นเด็กชาย 5.6 ล้านคน เป็นเด็กหญิง 6.1 ล้านคน แต่เราพบว่า 2-3% ในจำนวนเด็กๆ เหล่านี้กำลังประสบกับภาวะที่เรียกกันว่า "เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย" หรือสรีระมีการเปลี่ยนแปลงจากเด็กสู่วัยรุ่นก่อนเวลา ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสภาพจิตใจของเด็กๆ อีกด้วย
          เด็กอ้วนมีสิทธิเป็นสาวก่อน
          เมื่อกล่าวถึงภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยของเด็ก พ่อแม่มักนึกถึงสารเคมี หรือฮอร์โมนที่อาจปนเปื้อนมากับอาหาร แต่ประเด็นที่น่าพิจารณาและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนเด็กซึ่งเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วขึ้นกว่าอดีต โดยเฉพาะในหมู่เด็กผู้หญิง คือ เรื่องของความอ้วน
          นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เด็กไทยกำลังประสบปัญหาด้านโภชนาการไม่เหมาะสม โดยเฉพาะโรคอ้วน เด็กผู้หญิงที่อ้วนมีแนวโน้มจะเป็นสาวเร็วกว่าเด็กทั่วไป คือมีเต้านมโต มีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ ในทางตรงกันข้ามเด็กผู้หญิงที่รูปร่างผอม จะมีประจำเดือนช้ากว่า สาเหตุที่เด็กผู้หญิงอ้วนเป็นสาวเร็วมีปัจจัยหลายประการ แต่ปัจจัยที่เชื่อว่าเป็นต้นเหตุสำคัญคือความผิดปกติของสารเลปติน (Leptin) ซึ่งสารชนิดนี้สร้างมาจากเซลล์ไขมันที่ไปกระตุ้นต่อมในสมองที่ควบคุมกระบวนการกิน และกระตุ้นฮอร์โมนเจริญเติบโต ทำให้เด็กเป็นสาวเร็ว
          "แนะนำให้ผู้ปกครองดูแลอาหารการกินของลูกหลาน ลดอาหาร รสหวาน หรืออาหารที่มีไขมันมาก ฝึกให้เด็กกินผักผลไม้เพิ่มขึ้น ให้เล่นตามวัย เด็กที่มีความเสี่ยงจะอ้วนง่ายกว่าเด็กทั่วไป คือ เด็กที่มีพ่อหรือแม่อ้วน ลูกมีโอกาสอ้วน 4-5 เท่าตัว แต่ถ้าพ่อแม่อ้วนทั้งคู่ ลูกก็จะมีโอกาสอ้วนสูงถึง 14 เท่า เพราะว่าพ่อแม่กินอย่างไร ลูกก็จะได้กินอย่างนั้น" นพ.พรเทพ กล่าว
          เด็กโตไว อนาคตผู้ใหญ่ตัวเตี้ย
          พญ.เอินฟ้า ณ นคร กุมารแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาโบลิซึม โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โดยทั่วไปเด็กผู้หญิงจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่ออายุประมาณ 8 ขวบ เริ่มเป็นสาวอายุประมาณ 9-10 ขวบ และมีรอบเดือนอายุประมาณ 11-15 ปี แต่หากเด็กมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระก่อนวัย 8 ขวบ เช่น มีเต้านม มีส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มมีสิว มีกลิ่นกาย แสดงว่าเด็กคนนั้นกำลังประสบภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนของเด็กที่อยู่ในภาวะนี้พบว่ามีปรากฏในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากสาเหตุใดที่แน่ชัด
          "หากผู้ปกครองสังเกตว่าบุตรหลานของตนเข้าข่ายการเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย จะต้องพาเด็กๆ ไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ซึ่งอาจจะมีการเอกซเรย์เพื่อตรวจอายุกระดูก เนื่องจากการเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยมีผลทำให้กระดูกมีอายุมากกว่าอายุจริง ตรวจเลือดวัดฮอร์โมน การเติบโตก่อนวัยอันควรจะทำให้ฮอร์โมนเพศมีระดับสูงกว่าปกติ และสุดท้ายทำการตรวจ MRI สมองและทำอัลตราซาวด์ บริเวณมดลูกสำหรับเด็กผู้หญิงเพื่อยืนยันว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากเนื้องอกในสมองหรือความผิดปกติที่รังไข่หรือมดลูก
          "เด็กบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการสูงผิดปกติ อย่างเด็กตั้งแต่ 4 ขวบ ถึงวัยรุ่นจะสูงเฉลี่ยปีละ 5-6 ซม. เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจะสูงเฉลี่ยปีละ 8-10 ซม. แต่ถ้าเข้าสู่ภาวะหนุ่มสาวเร็ว เด็กจะตัวโตกว่าเด็กปกติโดยข้ามขั้นความเป็นเด็กไป เขาจะสูญเสียความสูงในวัยเด็กไป ตามทฤษฎีทางการแพทย์พบว่า เด็กที่เป็นหนุ่มหรือเป็นสาวเร็ว จะมีกระดูกที่แก่และปิดเร็ว โดยเฉพาะกระดูกส่วนยาวคือกระดูกแขนและขา ซึ่งเป็นผลมาจากผลของฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้ในระยะแรกๆ เด็กเหล่านี้จะดูสูงกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน ต่อมาเมื่อกระดูกปิดก็จะหยุดสูงเร็วกว่ากำหนด อาจทำให้กลายเป็นผู้ใหญ่เตี้ยในที่สุด" กุมารแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาโบลิซึม กล่าว
          สังเกตร่างกาย ดูแลจิตใจ
          จริงอยู่ว่าการเป็นสาวก่อนวัย ไม่ใช่เรื่องอันตรายถึงชีวิต แต่ในภาวะนี้ก็มีเรื่องที่น่าเป็นห่วง คือ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนยังมีผลต่ออารมณ์และจิตใจ จะพบว่าเด็กๆ จะมีอาการหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน หรือมีภาวะซึมเศร้าได้ง่าย สภาพจิตใจของเด็กเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญและต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
          "การที่เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกายผิดไปจากเพื่อนวัยเดียวกัน อาจทำให้เขาอับอาย โดนเพื่อนล้อ หรือถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ จากคนภายนอก บางคนอาจจะกลายเป็นเด็กขาดความมั่นใจในตัวเอง เพราะสับสนและไม่รู้จะจัดการกับตัวเองอย่างไร โดยเฉพาะกับเด็กผู้หญิงที่ประจำเดือนมาเร็ว คนภายนอกจะมองว่าเขาเป็นสาวแล้ว ทั้งๆ ที่เขาก็เป็นแค่เด็กคนหนึ่ง
          อย่างไรก็ตาม เมื่อพบว่าลูกกำลังเผชิญกับภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือให้ความรู้กับลูกว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น โดยอธิบายให้ลูกเข้าใจตามความเป็นจริง ไม่ควรบอกปัดหรือพูดโกหก ที่สำคัญต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา โดยต้องอธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษา
          "นอกจากสภาพจิตใจที่ต้องดูแลแล้ว พ่อแม่จะต้องใส่ใจในสุขอนามัยทางเพศของเด็กด้วย เพราะเด็กๆ จะไม่ชินกับการเปลี่ยนแปลงร่างกาย เด็กผู้หญิงที่มีประจำเดือนเร็วก็อาจจะละเลยเรื่องสุขอนามัยทางเพศที่ถูกต้อง การให้ความรู้เรื่องเพศแก่ลูกตามความเหมาะสมของวัยจะทำให้เด็กรับรู้สภาพของตัวเอง และไม่ตกใจกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ดังนั้นผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ การ เตรียมความพร้อมให้เด็กตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้เด็กสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ดีขึ้น" พญ.เอินฟ้า แนะนำ
          รับมือและลดความเสี่ยง
          พญ.เอินฟ้า อธิบายว่า ในกรณีที่ตรวจพบว่าเด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวด้วยสาเหตุของฮอร์โมนผิดปกติ แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ยาฉีดควบคุมฮอร์โมนเพศ โดยจะฉีดหนึ่งเข็มทุก 4 สัปดาห์ จนกว่าอายุจริงจะเท่ากับอายุกระดูกหรือจนกว่าเด็กผู้หญิงจะมีอายุพร้อมที่จะมีประจำเดือนก็จะหยุดยาดังกล่าวเพื่อให้เด็กเจริญเติบโตตามพัฒนาการต่อไป
          ส่วนการลดความเสี่ยงต่อการเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยที่ง่ายที่สุด ในเด็กที่มีภาวะอ้วน ก็คือ การดูแลเรื่องโภชนาการและควบคุมน้ำหนักของเด็กให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ส่งเสริมให้ลูกหลานออกกำลังกาย ถ้าพบว่าเด็กมีน้ำหนักเกิน พ่อแม่ต้องเร่งแก้ไขตั้งแต่ลูกยังเล็ก เพราะไม่เพียงแต่จะลดความเสี่ยงต่อภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยแล้ว ยังลดความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ ในเด็กได้ด้วย
          สำหรับปัจจัยด้านสารปนเปื้อนในอาหารเมื่อเราไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด แต่ด้วยหลายปัจจัยเทน้ำหนักไปที่ฮอร์โมนที่ปนเปื้อนในอาหารและภาชนะที่มีความเสี่ยง ดังนั้นการลดความเสี่ยงจากปัจจัยเรื่องอาหาร คือ การจัดการโภชนาการที่เหมาะสมให้กับลูกหลาน โดยรับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ไม่กินอาหารเดิมๆ ซ้ำซาก หลีกเลี่ยงการนำพลาสติกเข้าไมโครเวฟ หลีกเลี่ยงอาหารเสริมหรือยาบำรุงต่างๆ ควรปล่อยให้เด็กๆ เติบโตตามวัยจะเหมาะสมที่สุด
 pageview  1204949    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved