Follow us      
  
  

ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 28/09/2560 ]
โรคหัวใจ...อันตราย ตรวจเช็กก่อนสาย

 หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก เพราะมีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง หัวใจก็จะทำงานหนักขึ้นไปอีก หัวใจทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เคยได้หยุดพักเลยตลอดชีวิตของคนเรา เปรียบเหมือนกับเครื่องจักรหนึ่งตัวในโรงงานใหญ่ที่ไม่เคยปิดพักเครื่องเลยแม้แต่นาทีเดียว จึงมีความเสี่ยงจะชำรุดเสียหายมากกว่าส่วนอื่นที่ได้หยุดพัก โรคภัยที่เกิดขึ้นที่หัวใจจึงมีมากมายหลายอาการ เรียกรวมๆ ว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด(cardiovascular disease)
          องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า กลุ่ม
          โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของผู้คนทั่วโลก ในปี 2015 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ประมาณ 17.7 ล้านคน คิดเป็น 31 เปอร์เซ็นต์ ของอัตราการตายทั้งหมดทั่วโลก แบ่งเป็นผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ประมาณ 7.4 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) 6.7 ล้านคน
          ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2557 บอกว่า มีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 58,681 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน พบได้ทุกช่วงอายุ แต่พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป จากสถิติ โรคหัวใจติดอันดับ 1 ใน 3 ของโรคที่คร่า ชีวิตคนมากที่สุด และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี
          เมื่อปี 2012 สหพันธ์หัวใจโลกได้กำหนดให้วันที่ 29 กันยายนของทุกปีเป็น วันหัวใจโลก (World Heart Day) โดยมี จุดมุ่งหมายจะลดจำนวนผู้ป่วย และลดอัตราการเสียชีวิต
          การศึกษาวิจัยจากทั่วโลกบอกว่า พันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคนมีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีโรค 4 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และความอ้วน ที่เป็นตัวเร่งสำคัญ ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว หรือหลอดเลือดตีบตันแคบ
          อะไรบ้างที่เป็นความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจ
          เทคนิคการแพทย์ กัญจนา สาเอี่ยม ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ N Health กล่าวว่า ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจมีทั้งแบบควบคุมไม่ได้ เช่น พันธุกรรม คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคนี้ และแบบที่ควบคุมได้ เช่น การทานอาหารเยอะเกิน ทำให้น้ำหนักตัวเยอะเกินไป ทานอาหารหวาน มัน หรือเค็มเกินไป
          สัญญาณที่บอกว่า โรคหัวใจจะเกิดขึ้นแล้ว
          อาการที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ เหนื่อยง่าย แน่นและเจ็บหน้าอก หอบ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ ขาบวม เป็นลม วูบ และท้ายที่สุด คือ หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
          การตรวจหัวใจ
          สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แนะนำการตรวจโรคหัวใจพื้นฐานไว้ 4 แบบ คือ 1.ตรวจร่างกาย ดูน้ำหนักและส่วนสูง ดูว่าอ้วนหรือไม่ จับชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอหรือไม่ ตรวจความดันโลหิต 2.ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 3.เอกซเรย์ทรวงอก 4.ตรวจเลือด หาระดับสารต่างๆ ในเลือด ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับ โรคหัวใจโดยตรง แต่ดูเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง

 pageview  1205153    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved