Follow us      
  
  

ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 19/08/2564 ]
ครม.อนุมัติซื้อไฟเซอร์30ล้านโดสส่งมอบปีนี้

 การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติอนุมัติงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส วงเงิน 9,372 ล้านบาท และยังอนุมัติจองวัคซีนไฟเซอร์อีก 10 ล้านโดส คาดว่าจะส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์ 30 ล้านโดส ได้ในไตรมาส 4 หรือปลายเดือนกันยายน-ต้นเดือนตุลาคม 2564
          นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ที่ลงนามจัดซื้อไปแล้ว 20,001,150 โดส วงเงิน 9,372 ล้านบาท แบ่งเป็น การจัดหาวัคซีน 8,439 ล้านบาท และการบริหารจัดการ 933 ล้านบาท เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19 และรับทราบการจัดหาเพิ่มเติมอีกจำนวน 10 ล้านโดส โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรค ลงนามกับบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไบออนเทค ทำให้การจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ รวมทั้งสิ้น 30 ล้านโดส จะเริ่มทยอยจัดส่งในไตรมาส 4
          การทำข้อตกลงในครั้งนี้ จะทำให้ไทยมีวัคซีนโควิด-19 กระจายให้ประชาชนเกือบครบทุกชนิด ตามนโยบายรัฐบาลที่จะ จัดหาวัคซีนให้ประชาชน 100 ล้านโดส ในสิ้นปี 2564
          ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐได้บริจาควัคซีน ไฟเซอร์ให้กับรัฐบาลไทยแล้ว 1.5 ล้านโดส และจะมีการมอบวัคซีนไฟเซอร์ให้กับรัฐบาลไทยเพิ่มอีก 1 ล้านโดส รวมถึงมอบ เงินช่วยเหลือให้อีก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ได้มีมติในการจัดหาวัคซีนในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 โดยมอบให้องค์การเภสัชกรรมจัดหาวัคซีนซิโนแวค เพิ่มเติมอีก 12 ล้านโดส และเจรจาจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ เพิ่มเติมอีกจำนวน 10 ล้านโดส ภายในปี 2564
          นอกจากนี้ที่ประชุมครม.เห็นชอบรับมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 AstraZeneca จำนวน 130,000-150,000 โดส จากรัฐบาลภูฐาน บนพื้นฐานของการส่งมอบคืนในอนาคต  รวมทั้งเห็นชอบลงนามข้อตกลงกับกระทรวงสาธารณสุข ประเทศเยอรมนี รับบริจาคยา Monoclonal Antibody (Casirivimab/Imdevimab) ของบริษัท Regeneron จำนวน 1,000-2,000 ชุด โดยรัฐบาลไทยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายขนส่ง และยกเว้นภาษีนำเข้าและส่งออก
          ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยเพิ่มหมวดเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อแยกการจัดการโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่มีลักษณะของการเป็นโรคอุบัติใหม่/โรคติดต่ออุบัติซ้ำที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ เพื่อให้สาระของกฎหมายมีความสอดคล้องกับการดำเนินการด้านสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินโรคระบาดมากยิ่งขึ้น โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียดต่อไป โดยหามาตรการคุ้มครองบุคลากรทางสาธารณสุขด่านหน้า และอาสาสมัครที่ทำงานไปตามปกติ

 pageview  1205468    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved