Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 25/05/2561 ]
เพิ่มโทษ ไซบูทรามีน ปรับ2ล้านจำคุก20ปี

 กรุงเทพธุรกิจ อย.ยกระดับ "ไซบูทรามีน"เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 1 ลักลอบใช้โทษเพิ่มขึ้น 100 เท่า สูงสุดปรับ 2 ล้านบาท จำคุก 20 ปี จากเดิมเป็นยาอันตราย เอาผิดตามกฎหมายอาหารโทษแค่ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท จำคุก 2 ปี หลังพบแอบใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ก่ออันตรายถึงตาย สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย
          วานนี้ (24 พ.ค.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทว่า คณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตฯเห็นชอบให้ยกระดับ ไซบูทรามีน(Sibutramine) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามพ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)เสนอ โดยมอบหมายให้อย. จัดทำประกาศยกระดับไซบูทรามีนเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)พิจารณาลงนามภายในเดือน ก.ค. 2561
          เมื่อมีการประกาศยกระดับไซบูทรามีน จะส่งผลผู้ที่ลักลอบใส่ไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์มีโทษสูงขึ้น โดยผู้ที่ผลิต นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มี ไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท - 2 ล้านบาท กรณีหากผลิต นำเข้า ส่งออกเพื่อขายก็มีโทษจำคุกตั้งแต่ 7-20 ปี และปรับตั้งแต่ 7 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท กรณีหากผู้ใดนำเข้ามาผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุจะมีโทษจำคุก 4-7 ปี หรือปรับ 8 หมื่น- 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากผลิตโดยการแบ่งบรรจุเพื่อขาย จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 -20 ปี และปรับ 4 แสน- 2 ล้านบาท และหาก ผู้ใดขายจำคุก 4 -20 ปี และปรับ 4 แสนบาท- 2 ล้านบาท ที่ผ่านมาเมื่อตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ขึ้นทะเบียนเป็นอาหารลักลอบใส่ไซบูทรามีนจะมีความผิดและโทษตามพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐานจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์จะมีโทษ จำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท จะเห็นว่าในส่วนของโทษสูงสุดหลัง ยกระดับ จะปรับเพิ่มขึ้น 100 เท่าและจำคุกเพิ่มขึ้น 10 เท่า ที่สำคัญหากมีการเสียชีวิตจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและพิสูจน์ได้ว่าตายจากการไซบูทรามีน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาจมีโทษทางอาญา ฐานพยายามฆ่าด้วย
          ด้านนพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากล่าวว่า เดิมไซบูทรามีนจัดเป็นยาอันตราย ซึ่งในประเทศไทยไม่มีการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาแม้แต่รายการเดียว ดังนั้น การยกระดับเป็นวัตถุออกฤทธิ์ฯประเภท 1 จึงไม่กระทบกับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แต่อย่างใด
          อย่างไรก็ตาม ในส่วนของยาซิลเดนาฟิลที่มักตรวจพบมีการลักลอบใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับเพศชายแล้วโอ้อวดสรรพคุณว่าทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะไม่สามารถออกฤทธิ์ต่อร่างกายได้แบบนั้น ให้สงสัยได้เลยว่ามีการแอบใส่ยาปัจจุบันดังกล่าว แต่ซิลเดนาฟิลไม่สามารถยกระดับเป็นวัตถุออกฤทธิ์ฯได้เพราะยังมีประโยชน์ทางการแพทย์ ปัจจุบันจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และในโรงพยาบาลเท่านั้น วิธีการก็จะต้องมีการคุมเข้มการใช้ในทางที่ผิดมากขึ้น
          รองเลขาฯอย. กล่าวอีกว่า คณะกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ฯยังได้หารือในประเด็นที่หากตรวจพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลักลอบใส่ยาแผนปัจจุบัน ควรจะยกระดับเอาผิดตามพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2511 ซึ่งจะมีโทษรุนแรงกว่าพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 โดยมอบหมายให้ฝ่ายนิติกรไปศึกษารายละเอียดก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯในการประชุมครั้งหน้า
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามพ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 การประกาศเป็นประเภท 1 ถือเป็นระดับประเภทที่สูงสุด โดยเป็นวัตถุออกฤทธิ์ที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดสูง
          "วิระชัย"ลงพื้นที่ตรวจโรงงานกากขยะ ขณะที่ความคืบหน้าการตรวจสอบกากอุตสาหกรรม วานนี้(24พ.ค.)พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ โรงงานของบริษัทไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัดในย่านนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังหลังตรวจพบหลักฐานทางบัญชีของบริษัทที่มีการตรวจก่อนหน้า
          โดยพล.ต.อ.วิระชัยเปิดเผยว่าโรงงานดังกล่าวนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มาจาก 4 ประเทศ คือ ฮ่องกง อังกฤษ ศรีลังกา และสิงคโปร์ โดยนำเข้ามาได้ประมาณ 3 ปี และพึ่งย้ายมาตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ได้ประมาณ 3 เดือน โดยปิดโรงงานที่สมุทรปราการไปแล้ว จากการตรวจสอบพบว่า โรงงานนี้ส่งเศษซากขยะอุตสาหกรรม ไปที่โรงงานรีไซเคิล ในอ.แปลงยาว และอ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา จึงมั่นใจว่า น่าจะมีความเชื่อมโยงกันในเรื่องของกลุ่มทุนชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจประเภทนี้
          เบื้องต้นโรงงานแห่งนี้ มีความผิด 7 ฐานความผิด อาทิ การสำแดงเท็จการนำเข้า หลีกเลี่ยงภาษีอากรศุลกากร และลักลอบหนีศุลกากร ตาม พ.ร.บ.ศุลากร และมีความผิดฐานลักลอบนำเข้าและครอบครองวัตถุอันตราย เนื่องจากตรวจพบว่า มีแบตเตอรี่หลายชนิด เช่น ซากแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นวัสดุอันตราย ห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย
          ด้านนายสุรพล ชามาตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โรงงานนี้มีใบอนุญาตประกอบกิจการทำลายขยะอุตสาหกรรมภายในประเทศ แต่ในส่วนของวัตถุอันตรายที่พบ ไม่สามารถนำเข้ามาเพื่อทำลายได้ จึงต้องตรวจสอบว่ามีการนำเข้าโดยวิธีใด และทำไมขั้นตอนการนำเข้าจึงสามารถปล่อยให้ขยะอุตสาหกรรม มากขนาดนี้เข้ามาภายในประเทศได้
          สนช.รับหลักการพ.ร.บ.วัตถุอันตราย
          วันเดียวกันประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติ195ต่อ0เสียงรับหลักการ(วาระแรก)ร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ..และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.วัตถุอันตราย จำนวน 23 คน พิจารณาแปรญัตติภายใน 7 วัน ทั้งนี้ในการอภิปรายที่ประชุมได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับวัตุถุที่เป็นอันตรายภาวะเป็นพิษจากสารพาราควอทขยะอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงประเด็นการนำเข้าวัตถุมีพิษ โดยนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่าการแก้ไขอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการวัตถุอันตรายจากเดิมเป็นปลัดกระทรวงเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการควบคุมวัตถุอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถตรวจสอบวัตถุอันตรายได้ในทันที รวมทั้งมีการควบคุมอย่างชัดเจน ในส่วนของการนำเข้าวัตถุอันตรายนั้นมีระเบียบกำหนดไว้อย่างชัดเจน หากไม่เกิดประโยชน์ก็จะไม่นำเข้ามาในประเทศไทยอย่างแน่นอน

 pageview  1205016    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved