Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 14/05/2561 ]
สธ.ระวังโรคเกษตรกรไทยเผย5ปียอดเสี่ยงสารพิษพุ่ง

 กรุงเทพธุรกิจ สธ.เฝ้าระวังโรคเกษตรกรไทย พบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างเพียบ เจาะเลือดตรวจคัดกรองกว่า 4 แสน ใน 72 จังหวัด พบผลเสี่ยงไม่ปลอดภัย 1.5 แสนคน คิดเป็น 36.76 % รอบ 5 ปีเพิ่มสูงขึ้น ระบุออร์กาโนฟสอเฟต-คาร์บาเมตขัดขวางการทำงานระบบประสาท แนะเกษตรกรเลิกใช้สารเคมี มุ่งเกษตรชีวภาพแทน เดินหน้าตั้ง "ศูนย์สุขภาพเกษตรกร"
          พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2559 มีเกษตรกรที่ได้รับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส ด้วยกระดาษทดสอบ(Reactive Paper) จำนวน 418,672 คน เป็นผู้ที่มีผลการตรวจเลือดเสี่ยงและ/หรือไม่ปลอดภัย จำนวน 153,905 คน คิดเป็น 36.76% จาก 72 จังหวัดที่มีการรายงานเข้ามายังสำนักฯ เมื่อเทียบผลการตรวจคัดกรองสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มเกษตรกรในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2559 พบว่า ปี 2555 คัดกรอง 244,822 ราย ใน 31 จังหวัด ผลเสี่ยง/ไม่ปลอดภัย 75,749 ราย คิดเป็น 30.94% ปี 2556 คัดกรอง310,490 ราย ใน 50 จังหวัด ผลเสี่ยง/ไม่ปลอดภัย 95,739 ราย คิดเป็น 30.83% ในปี 2557 คัดกรอง 314,603 ราย ใน 71 จังหวัด ผลเสี่ยง/ไม่ปลอดภัย 107,989 ราย คิดเป็น 34.33% ในปี 2558 คัดกรอง 325,944 ราย ผลเสี่ยง/ไม่ปลอดภัย 113,547 ราย คิดเป็น 34.84% และปี 2559
          จะเห็นได้ว่า 1 ใน 3 ของเกษตรกรที่ได้รับการคัดกรองอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะป่วยจากการใช้สารเคมี แม้ไม่ป่วยด้วยพิษเฉียบพลันก็อาจป่วยในระยะยาวได้
          พญ.ฉันทนา กล่าวอีกว่า สำนักฯดำเนินการโครงการเกษตรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส" มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 โดยมีการรณรงค์การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของเกษตรกรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลหลายแห่งทั่วประเทศ ร่วมกับโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไปบางแห่ง ซึ่งวิธีการประเมินความเสี่ยงเกษตรกรจากสารกำจัดศัตรูพืช จะใช้วิธีสัมภาษณ์เพื่อให้ตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีและผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้น เช่น ท่านใช้สารเคมีกำจัดแมลง/สารเคมีกำจัดวัชรพืชในการฉีดพ่นหรือไม่ ขณะทำงานท่านสูบบุหรี่/ยาเส้นหรือไม่ ท่านรับประทานอาหาร/ดื่มน้ำในบริเวณที่ทำงานหรือไม่ ก่อนการใช้สารเคมีขวดใหม่ ท่านอ่านฉลากที่ภาชนะบรรจุหรือไม่ ขณะทำงานกับสารเคมีท่านสวมถุงมือยางป้องกัน สารเคมีหรือไม่ และเมื่อเสื้อผ้าเปียกชุ่ม สารเคมี ท่านอาบน้ำหรือล้างผิวหนังที่สัมผัสสารเคมีทันทีหรือไม่ เป็นต้น
          ดำเนินการร่วมกับ การสอบถามอาการภายหลังจากการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เช่น ไอ คันผิวหนัง อ่อนเพลีย หนังตากระตุก ท้องเสีย เป็นต้น และนำมาให้คะแนนตามสูตรสำเร็จซึ่งขึ้นกับพฤติกรรมในการใช้สารเคมี และความรุนแรงของอาการ คะแนนที่ได้จะถูกจัดออกเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ค่อนข้างสูง  ปานกลางและต่ำ  จากนั้นทำการคัดเลือกเกษตรกรผู้ที่มีคะแนนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงและค่อนข้างสูงไปทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเอนไซม์โคลีน เอสเตอเรส โดยใช้กระดาษทดสอบ(Reactive Paper) ซึ่งเอนไซม์ตัวนี้จะลดลงต่ำ เมื่อได้รับสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชในกลุ่ม ออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมตเข้าสู่ร่างกาย        สารออร์กาโนฟอสเฟต มีฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทส่วนปลาย โดยจะจับกับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส ซึ่งมีหน้าที่ ส่งสัญญาณประสาทหยุดการทำงาน ผลการจับตัวกับเอนไซม์ทำให้ปริมาณของเอนไซม์ลดลง และมีผลต่อกล้ามเนื้อต่าง ๆ ต่อมต่าง ๆ และกล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ในการทำงานมากกว่าปกติ เนื่องจากปริมาณเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสมีไม่มากพอที่จะหยุดการทำงาน พบอาการ ม่านตาหรี่ หายใจลำบาก เวียนศีรษะ อาเจียน มือสั่น เดินโซเซ ชัก หมดสติ ระบบกล้ามเนื้อพบอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว ที่กล้ามเนื้อ  ต่อมต่าง ๆ ต่อมน้ำลายขับน้ำลายออกมา มาก ต่อมเหงื่อขับเหงื่อออกมามาก ส่วนสารคาร์บาเมต ออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับสารออร์กาโนฟอสเฟต แต่ความเป็นพิษน้อยกว่า อาการที่เกิดขึ้นเหมือนกัน ยกเว้นอาการชัก ไม่รู้สึกตัวเกิดขึ้นน้อย
          พญ.ฉันทนา กล่าวด้วยว่า การเจ็บป่วยจากการใช้สารเคมี เพื่อกำจัด ศัตรูพืชไม่เพียงส่งผลกระทบทางสุขภาพของเกษตรกรเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังส่งผลกระทบ ต่อกลุ่มผู้บริโภคอีกด้วย รวมถึง สารเคมีทางการ เกษตรนอกจากจะปนเปื้อนในพืช ผัก ผลไม้ แล้วยังเกิดการสะสมในสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ ดิน อากาศ  เช่น กรณีสารพาราควอตและไกลโฟเสดที่ใช้ฆ่าวัชพืช ในหลายพื้นที่ของประเทศ การเจ็บป่วยที่เกิดจาก การใช้สาร เคมีในการกำจัดศัตรูพืช จึงจำเป็นจะต้องได้รับการ ดำเนินการควบคุม แก้ไข เพื่อลดจำนวน ผู้สัมผัส ทั้งกลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภค ซึ่งต้องอาศัยความ ร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะเกษตรกร เองต้อง ซึ่งควร ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี และใช้วิธีเกษตรแผนใหม่ หรือเกษตร อินทรีย์ เน้นการใช้สารชีวภาพ ให้มากขึ้น
          "เกษตรกรพึงตระหนักว่า การใช้สารเคมี ทำให้เสียหายสองต่อ นอกจากจะเสียเงินในการซื้อสารเคมีแล้ว ในอนาคตต้องนำเงินที่ได้นั้น มารักษาสุขภาพที่เสียไปจากสารเคมี เสียทั้งสุขภาพ เสียเงิน เสียเวลา ได้ไม่คุ้มเสีย จึงเชิญชวนให้เกษตรกรทุกท่าน ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของ ตัวท่านเองและคนรอบข้าง"พญ.ฉันทนากล่าว
          พญ.ฉันทนา กล่าวอีกด้วยว่า นอกจากปัญหาการใช้สารเคมีแล้ว ยังพบปัญหาโรคและภัยสุขภาพในกลุ่มเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรมีลักษณะของการทำงานที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพอีก 5 ด้าน ได้แก่ 1.เกษตรกรมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยโรคติดต่อจากสัตว์ สู่คน เช่น โรคฉี่หนูหรือเลปโตสไปโรซิส ไข้หวัดนก โรคแอนแทรกซ์ รวมถึง การบาดเจ็บจากการถูกสัตว์ร้ายกัด งูหรือสัตว์มีพิษ กัดต่อย  เป็นต้น 2.ปัจจัยทางกายภาพ เช่น การทำงานในที่มีอากาศร้อน ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำจากเหงื่อออกมากเกินไป อ่อนเพลีย หมดสติ  เป็นลมแดด และอาจเสียชีวิตได้
          3.ท่าทางและสภาพการทำงานที่ ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ และอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และข้อ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่มักเกิดขึ้นในเกษตรกรส่วนใหญ่ 4.ความเครียด จากการประกอบอาชีพ มักเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม เช่น จากราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่ได้ผลผลิตตามที่คาดหวังไว้ จนเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิด อาการซึมเศร้า หรือพยายามฆ่าตัวตาย หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย เช่น อาจป่วย เป็นโรคกระเพาะ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น และ5.อุบัติเหตุจากการทำงาน เช่น อุบัติเหตุจากการใช้เครื่องจักร ถูกบาดจากของมีคมตกจากต้นไม้ เป็นต้น
          "กรมควบคุมโรคได้สนับสนุนให้หน่วยบริการปฐมภูมิ โดยเฉพาะรพ.สต.ให้ประเมินความเสี่ยงเกษตรกรและให้คำแนะนำให้ครบทั้ง 5 ด้าน และในอนาคตตั้งใจให้มีการรวบรวมองค์ความรู้ ทำงานวิจัย และจัดตั้งเป็น ศูนย์สุขภาพเกษตรกร ตามที่มีเกิดขึ้นในหลายประเทศ เพื่อดูแลให้เกษตรกรทำงานได้ผลผลิตสูงควบคู่ไปกับสุขภาพที่ดี ตามหลักการป้องกันก่อนเจ็บป่วย ที่สำคัญ ในยุค 4.0 นี้ โลกกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนพื้นที่เพาะปลูก ดังนั้น เกษตรกรยังคงเป็น กระดูกสันหลังของชาติ ต่อไป"พญ.ฉันทนากล่าว

 pageview  1205140    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved