Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 23/02/2561 ]
นมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์เสริมภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่


          กรุงเทพธุรกิจ งานวิจัยพบคนภูมิต่ำดื่ม"นมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์" 6 สัปดาห์บวกฉีดวัคซีน ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น
          ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง  ศึกษาวิจัยในคนเกี่ยวกับประสิทธิผลของนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์คือจุลินทรีย์ แลคโตบาซิลัส พาราคาเซอิ 431 (Lactobacillus Paracasei 431) ต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่างานวิจัยครั้งนี้เป็น การทดลองทางคลินิก ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนชุดกลาง มหาวิทยาลัยมหิดล โดยทีมนักวิจัยจากสถาบันโภชนาการ คณะเวชศาสตร์เขตร้อนและศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารJournal of Functional Food ซึ่งเป็นวารสารวิชาการระดับนานาชาติเมื่อปี 2560 มีอาสาสมัครสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว อายุ 18-45 ปี เข้าร่วมโครงการจำนวน 60 คน แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 30 คน
          โดยกลุ่มหนึ่งได้รับนมเปรี้ยวที่มี โพรไบโอติกส์ อีกกลุ่มได้รับนมแต่งกลิ่นรสที่ไม่มีโพรไบโอติกส์ เป็นการสุ่มแบบปกปิด อาสาสมัครทุกคนได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จำนวน 1 ครั้ง ที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ม.มหิดล เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อต้าน เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอช1เอ็น1, ชนิด เอช3เอ็น2 และชนิดบี รวมทั้ง อาสาสมัครยังได้รับประทานนมวันละ 1 ขวด ตามกลุ่มที่กำหนดเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนรับวัคซีน และรับประทานต่ออีก 4 สัปดาห์หลังรับวัคซีน ระหว่างนี้อาสาสมัครทุกคนงดรับประทานอาหารอื่นที่มีโพรไบโอติกส์และมีการเจาะเลือดเพื่อวัดภูมิคุ้มกันตั้งแต่ก่อนรับนมเปรี้ยว หลังรับนมเปรี้ยว 2 สัปดาห์ช่วงก่อนรับวัคซีน หลังรับวัคซีน 4 สัปดาห์ และหลังหยุดรับนมเปรี้ยว 2 สัปดาห์ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่
          สำหรับการตรวจภูมิคุ้มกันได้ส่ง ตัวอย่างเลือดไปตรวจที่คณะเวชศาสตร์ เขตร้อน ด้วยเทคนิคเอชไอ  เพื่อให้ผลตรวจ ถูกต้องไม่มีการลำเอียง และนักวิจัยสถาบันโภชนาการ นำมาวิเคราะห์ผล โดยทราบเพียงว่าอยู่กลุ่ม A หรือ B แต่ไม่ทราบว่า A คืออะไร B คืออะไร ผลการวิเคราะห์จึงน่าเชื่อถือ ปราศจากการลำเอียง
          ผลการวิจัยพบว่า ในอาสาสมัครที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ คือ ค่าเอชไอ ไทเทอร์ ( HI titer) น้อยกว่า 40 หากได้รับวัคซีนร่วมกับรับประทานนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์ จะมีอัตราการสร้าง ภูมิคุ้มกันใหม่ (seroconversion rate) ต่อเชื้อเอช1เอ็น1 ถึง 70-80 % และเอช3เอ็น2 ถึง 100% ขณะที่คนที่ได้รับนมเปรี้ยวที่ไม่มีโพรไบโอติกส์มีอัตราการสร้าง ภูมิใหม่ต่อเชื้อเอช1เอ็น1 ไม่ถึง 60% และเชื้อเอช3เอ็น2ไม่ถึง60%เช่นเดียวกันนอกจากนี้ ยังพบว่า ในคนที่มีภูมิอยู่แล้ว การรับประทานนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์ช่วยให้อัตราการตอบสนองต่อวัคซีนต้านไวรัสเอช3เอ็น2 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า  ส่วนเชื้อชนิดบี อาสาสมัครกลุ่มนี้มีการตอบสนองต่อวัคซีนต้านไวรัสชนิดบี สูงอยู่แล้วถึง 80% แม้จะไม่ได้รับโพรไบโอติกส์ จึงไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการได้รับหรือไม่ได้รับโพรไบโอติกส์
          "ข้อควรระวังในการใช้โพรไบโอติกส์ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์มีชีวิตจะมีความเสี่ยงในการก่อโรคได้ จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยหนักที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคที่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน เช่น เบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ได้ โรคเอดส์ระยะแสดงอาการ และทารก  ประชาชนสามารถอ่านฉลากขวดนมเปรี้ยวได้ว่าแบบไหนมีโพรไบโอติกส์ " ทพญ.ดุลยพร กล่าว

 pageview  1205126    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved