Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 07/07/2560 ]
สงฆ์ไกลโรค คนห่างเหล้า เราจะสุขภาพดีไปด้วยกัน

  สัปดาห์หน้าก็จะเข้าสู่ช่วง  "เข้าพรรษา" แล้ว และ เช่นเคยเหมือนกับปีที่ผ่านๆ มา นั่นคือการรณรงค์ "งดเหล้าเข้าพรรษา" แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือการรณรงค์ "ตักบาตรวิถีสุขภาพ" ด้วยข้าวปลาอาหารที่ดีต่อสุขภาพของพระสงฆ์ เพื่อให้ผลบุญ ไม่กลายเป็นประสงค์ร้ายในภายหลัง
          สำหรับโครงการรณรงค์งดเหล้าซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพียรทำมาตลอดกว่าสิบปีจนเริ่มเห็นดอกออกผล โดยเฉพาะ เมื่อสังคมไม่ได้มองการงดเหล้าเป็นเพียงเรื่องของ "บุญกุศล" อย่างแต่ก่อน โดยนอกเหนือไปจากผลเสียต่อสุขภาพของ นักดื่มโดยตรงแล้ว "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" ยังเป็นต้นเหตุของปัญหาอีกมากมาย ตั้งแต่ การสร้างความรำคาญ ทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุกระทั่งการก่อคดีล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย
          เมื่อค่านิยมของสังคมเริ่มเปลี่ยน  และตระหนักถึงผลเสียของการดื่มอย่างไร้ ความรับผิดชอบ แม่งานหลักอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงได้ยกระดับเป้าหมายสู่การ "เลิกเหล้าตลอดชีวิต" ให้จงได้
          ปรับขบวน ชวนคนงดเหล้า
          สำหรับปีนี้ สสส. ได้ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดเสวนา "จัดทัพปรับขบวนชวนคนงดเหล้าเข้าพรรษา60" โดย ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาลรองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ เปิดเผยถึงแผนการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้ว่า จะมุ่งเน้นกิจกรรมสู่การ บูรณาการเชิงระบบมากขึ้น หนุนให้เกิดเวทีขับเคลื่อนสร้างเสริมความร่วมมือของกลไกการทำงานระดับอำเภอ ชุมชน ระบบสุขภาพ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า โดยทำงานเสริมพลัง เน้นกลยุทธ์ 3 ขยาย คือ 1.ขยายพื้นที่ ขับเคลื่อน งานงดเหล้าเข้าพรรษาให้เกิดขึ้นอย่างน้อยจังหวัดละ 1 อำเภอ 2.ขยายกลุ่มเป้าหมายที่ไม่เพียงแค่ผู้ดื่มแต่รวมไปถึงผู้เสพและ ผู้ติดด้วย 3.ขยายเวลา จากสามเดือน ในช่วงเข้าพรรษา ส่งเสริมให้คน งดเหล้าต่อหลังออกพรรษาหรือเลิกเหล้าตลอดชีวิต โดยตั้งเป้าให้มีแกนนำงดเหล้าเข้าพรรษาระดับอำเภอ 500 คนทั่วประเทศ
          "ปีนี้มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ถอดบทเรียนการ ดำเนินงานงดเหล้าเข้าพรรษาในปีที่ผ่านมา โดยสนับสนุนด้านจิตใจเพื่อช่วยเลิกและบำบัดผู้เสพและผู้ติดสุรา เช่น แนวทางพุทธแนวทางแพทย์แผนไทย และแนวทางจิตวิทยา นำไปสู่การสร้างเครือข่ายคนหัวใจหิน (งดเหล้าครบพรรษา)และชมรมคนหัวใจเพชร (คนเลิกเหล้าตลอดชีวิต) ต่อยอดสู่การรณรงค์งดเหล้าที่สอดคล้อง กับบริบทของแต่ละพื้นที่ ผ่านการทำงานของ 500 แกนนำระดับอำเภอ"  รองผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยถึงแผนงานในปีนี้
          เสริมโดย นพ.ยงยุทธ  วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  ส่วนใหญ่แล้ว คนที่เข้าร่วมงดเหล้า เข้าพรรษาเป็นกลุ่มคนที่ดื่มแบบไม่ได้ เสพติดจนหยุดดื่มไม่ได้ หรือที่เรียกว่ากลุ่มดื่มเพื่อสังคม ส่วนกลุ่มที่เสพติดมักไม่ค่อยเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ เพื่อลดอาการลงแดง และต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นทั้งภายนอกและภายในเพื่อป้องกันการกลับมาดื่มซ้ำ
          ปลอดเหล้า "พะเยา โมเดล"
          ทั้งนี้ นพ.ยงยุทธ ได้ให้แนวทาง สำหรับท้องถิ่นเพื่อการสร้างสังคมปลอดเหล้าโดยนอกจากจะต้องสนับสนุนให้ผู้เสพติดสุราเข้าถึงการบำบัดเพื่อให้เลิกสุรา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ และการ หนุนช่วยของเครือข่าย ตั้งแต่ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อมรวมถึงบุคลิกภาพ และความต้องการแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น ผู้สูงอายุ อาจใช้วีถีทางธรรมศาสนา เข้ารักษา หรือสมุนไพร ส่วนผู้เสพติด กลุ่มผู้ใหญ่ คนทำงาน อาจต้องใช้ แพทย์สมัยใหม่ ทางด้านจิตวิทยาเข้าช่วย ขณะที่กลุ่มวัยรุ่น ต้องใช้การรณรงค์โดยตรงในโรงเรียน สถานศึกษา สร้างค่านิยมเรียนรู้ที่ถูกต้อง ชี้ให้เห็นปัญหาพิษภัยของการดื่มเหล้า
          โดยเฉพาะภาคสังคมนั้น ถือว่า เป็นเฟืองที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนเครือข่ายปลอดเหล้าให้ไปสู่ฝั่งฝันได้ เช่นที่พิสูจน์มาแล้ว คือ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ซึ่งเคยขึ้นชื่อในฐานะ "แชมป์นักดื่ม" ก็เห็นทีจะต้องคืนตำแหน่งเสียทีแล้ว เพราะหลังจากประกาศใช้มาตรการลดการดื่มสุรา อย่างจริงจัง ในที่สุดเมืองพะเยาก็สามารถลดการดื่มลงได้อย่างต่อเนื่อง โดย วิศิษฐ ทวีสิงห์ นายอำเภอเมืองพะเยา เปิดเผยถึง มาตรการสุดเข้มว่า เริ่มตั้งแต่ 1.ใช้กฎหมาย เข้ามาบังคับคุมเข้มในการเปิดปิดสถานบริการ และบริเวณพื้นที่เสี่ยง เช่น หน้าสถานศึกษา ใจกลางเมือง 2.ใช้กฎหมู่ คือ การใช้ข้อบังคับ ที่มีอยู่ในแต่ละหมู่บ้านให้เข้มข้นขึ้น เช่น การสร้างกิจกรรม งานแต่ง งานบุญ งานศพ ปลอดเหล้า หรือ การวางเป้าหมาย 172 หมู่บ้านปลอดเหล้าถวายเป็นพระราชกุศลในหลวงรัชกาลที่9 และ 3.ค้นหาคนที่ ไม่เกี่ยวข้องกับเหล้ามาตั้งเป็นชมรม คนปลอดเหล้าที่ตอนนี้มีเกือบ 3 พันคนมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสุขโดยไม่ต้องพึ่งพิงเหล้า
          หลังการบังคับใช้มาตรการอย่าง เข้นข้น ผลก็คือ พะเยาหลุดจากตำแหน่งอันดับ 1 จังหวัดที่มีคนดื่มมากที่สุด โดยร่วมลงมาอยู่อันดับที่ 18 ซึ่งแม้ผลลัพธ์จะออกมาน่าพอใจ แต่นายอำเภอเมืองพะเยายังยืนยันว่า จะยังต้องทุ่มเทให้หนักขึ้น ทุกอำเภอยังทำงานอย่างต่อเนื่องโดยมีแกนหลักคือทางจังหวัดเป็นตัวขับเคลื่อนมอบนโยบายลงสู่พื้นที่ต่างๆ
          ตักบาตร อย่าลืมถาม(สุขภาพ)พระ
          อีกหนึ่งประเด็นสำคัญในช่วงเข้าพรรษานี้ ก็คือ ความพยายามที่จะรณรงค์ให้ชาวพุทธร่วมใส่ใจในสุขภาพของพระสงฆ์
          สืบเนื่องจากผลการสำรวจที่พบว่า พระสงฆ์กทม.และเขตเมืองกว่าครึ่ง เสี่ยงโรคอ้วน เหตุเพราะฉันอาหาร โปรตีนต่ำ-ไขมันสูง อีกทั้งยังไม่ค่อยได้ ออกกำลังกาย โดย สสส. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าว "สงฆ์ไทยไกลโรค เข้าพรรษานี้ อย่าลืมตักบาตร ถาม(สุขภาพ)พระ"
          รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิชผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสงฆ์ไทยไกลโรคเพื่อการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ในระดับประเทศ (สสส.) กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพระสงฆ์ในกทม.และในภาคอีสานพบว่า พระสงฆ์ในกทม.และในเขตเมืองกว่าครึ่งมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน โดยพระสงฆ์ในกทม. 48 % ของกลุ่มตัวอย่างมีภาวะอ้วนลงพุงมากกว่าชายในกทม. (39%) และชาย ทั่วประเทศ (28%) ทั้งยังเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังที่สำคัญได้แก่ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูงและความดันโลหิตสูง
          และจากการเก็บข้อมูลพระสงฆ์ในภาคอีสานพบว่า พระสงฆ์ในเขตเมืองเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินสูงกว่าในเขตนอกเมือง สาเหตุสำคัญมาจากอาหารใส่บาตรที่มีโปรตีนต่ำหรือได้รับเพียง 60% ของปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับ ปริมาณใยอาหารมี ระดับต่ำ จึงชดเชยด้วยการดื่มน้ำปานะ ที่มีน้ำตาลสูงถึง 7 ช้อนชาต่อวัน
          รศ.ดร.ภญ.จงจิตร กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลฝั่งฆราวาสพบว่า อาหารส่วนใหญ่ในการถวายพระมาจากการซื้ออาหารชุด ใส่บาตร โดยญาติโยมส่วนใหญ่มักจะเลือกเมนูที่ผู้ล่วงลับชอบบริโภค มีเมนูยอดฮิต เช่น ไข่พะโล้ แกงเขียวหวาน หมูทอด และขนมหวาน ทำให้พระสงฆ์จำเป็นต้องฉัน เพื่อให้ญาติโยมได้บุญ ไม่เสียศรัทธา
          นอกจากนี้ยังพบว่า พระสงฆ์ ออกกำลังกายน้อยเพราะกลัวผิดพระธรรมวินัยโดยพบว่า ใน 1 วัน พระสงฆ์เดินเบาประมาณ 30 นาที ซึ่งน้อยกว่าชายไทยที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 100 นาที พระสงฆ์จึงเป็นกลุ่ม บุคคลที่มีโอกาสในการส่งเสริมสุขภาพต่ำ ได้แก่ ขาดการบริโภคอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ขาดการตรวจสุขภาพประจำปี และมีข้อจำกัดในการออกกำลังกาย  ที่ผ่านมาจึงได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเพื่อร่วมกันออกแบบ ชุดความรู้สงฆ์ไทยไกลโรคในการให้ความรู้ ความเข้าใจถึงการสร้างเสริมสุขภาพของพระสงฆ์
          เลือก 'ฉัน' ขยัน 'ขยับ'
          ทั้งนี้ แม้จะขัดศรัทธาญาติโยมได้ยาก หรือเลือกอาหารบิณฑบาตไม่ได้ แต่พระสงฆ์ ก็สามารถเลือกฉันอาหารที่ดีต่อร่างกายตนได้ โดย พระราชวรมุนี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย ได้อธิบายว่า ตามพระธรรมวินัย แล้ว พระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ฉันอาหารพอสมควร และ แม้พระสงฆ์ไม่สามารถออกกำลังกายเหมือนฆราวาส เพราะพระภิกษุต้องประพฤติตนสำรวม แต่มีหลักกิจวัตร 10 ประการ  ที่พระพุทธเจ้าอนุญาต ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกาย เช่น การเดินบิณฑบาต กวาดลานวัด ทำความสะอาดวัด เดินจงกรมตัดต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ เพื่อขยับร่างกาย รวมถึงแกว่งแขนลดพุงลดโรคซึ่งทำได้ในพื้นที่วัด ในช่วงจำพรรษาจึงอยากให้พระสงฆ์หันมาดูแลสิ่งของภายในวัด ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายในลักษณะการทำความสะอาด ดูแลงานสาธารณูปการ ในวัด และฉันอย่างพิจารณา
          นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้เกิดมติมหาเถรสมาคม เรื่องพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ โดยจะมีการขับเคลื่อนร่วมกันต่อไปคือความร่วมมือในการพัฒนา ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติเพื่อเป็นเครื่องมือปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ ฆราวาส และหน่วยบริการสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาพที่นำเอาหลักพระธรรมวินัยเป็นตัวนำ และใช้ความรู้ทางสุขภาพเป็นตัวเสริม โดย สช.จะร่วมสนับสนุนการจัดทำและขับเคลื่อนธรรมนูญฯ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งในเดือนสิงหาคม และกันยายนนี้ จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ก่อนเสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อเห็นชอบ และประกาศให้ภาคีเครือข่ายรับทราบในสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 10 ในเดือนธันวาคม 2560
          และแม้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ  ยังไม่เกิด แต่ที่ ทุ่งตะโก จ.ชุมพร ก็ได้ เริ่มต้นแล้วในแบบชาวบ้าน โดย นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ได้นำมาบอกเล่าถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นว่า เริ่มต้นจากปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์  ที่ส่งผลให้ชาวบ้านมาพูดคุยกันและเกิดกติกา ปิ่นโตสุขภาพ เวลาใส่บาตรจะต้องเอาเมนูสุขภาพใส่ในปิ่นโตถวายพระ และพระในชุมชนก็เป็นนักส่งเสริมสุขภาพได้ในที่สุด
          ทั้งนี้ นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมสุขภาวะ ในองค์กร สสส. ได้ร่วมกล่าวเสริมว่า  ที่ผ่านมา สสส. ได้ทำงานเชิงรุกในมหาวิทยาลัยสงฆ์ โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
          ให้พระนิสิตมีความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพระในฐานะนักสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promoter) ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของ คณะสงฆ์เพื่อเป็นแกนนำเสริมสร้างสุขภาวะตามแนวพระพุทธศาสนา
          ปัจจุบันมีพื้นที่เรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและคณะสงฆ์ทั้งสิ้น 20 จังหวัด ทำให้เกิดชุดความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพของ พระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย รวมถึงร่วมกับกลุ่มพระสังฆะในการจัดการความรู้ให้ฆราวาสเรื่องสุขภาวะพระสงฆ์ ผ่านโครงการสร้างพระธรรมทายาทนักพัฒนา สร้างเสริมสังคมสุขภาวะ เป็นต้น

 pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved