Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 30/09/2557 ]
จิตแพทย์แนะ 9 วิธี ต้านซึมเศร้า
นอกจากภาวะความเครียดแล้ว ปัญหาโรคซึมเศร้าถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนไทยที่มีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะในสังคมแต่ละวันเรามักจะเห็นข่าวปัญหาการฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าสลดใจ สังคมอาจตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเพราะปัญหาที่ชีวิต ครอบครัว เศรษฐกิจที่รุมเร้า แต่แท้จริงแล้วหลายกรณีสาเหตุเกิดจากการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าซึ่งถูกมองข้ามไป
          นพ.พิชัย อิฏฐสกุล จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าให้ฟังว่า โรคซึมเศร้าถือเป็นโรคทางด้านจิตเวชที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือปัจจัยทางชีวภาพหรือพันธุกรรม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของเคมีในสมอง เช่นความผันผวนของระดับฮอร์โมนที่สำคัญ สืบทอดจากพ่อแม่สู่ลูก และเกิดจากปัจจัยด้านจิตใจหรือสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่าปัจจัยทางอารมณ์ เป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางอารมณ์
          เช่นหากเป็นภาวะซึมเศร้าในวัยเด็ก (Childhood Depression) อาจมีสาเหตุจากความตึงเครียดในครอบครัว เหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง หรือความคาดหวังทางการศึกษาเล่าเรียนที่สูงส่งเกินความสามารถของตน ภาวะซึมเศร้าในโรคประสาท (Neurotic depression) ซึ่งอาจพบร่องรอยว่าถูกบีบคั้น อย่างมากในวัยเด็ก แล้วปะทุออกมาในช่วงชีวิตภายหลัง ภาวะซึมเศร้าเพราะความชรา (Depression of age) เกิดเพราะความสามารถในการปรับตัวลดน้อยลง มีชีวิต โดดเดี่ยว ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยหรือปัญหาที่เรียกกันว่า ภาวะสะเทือนใจหลังเกษียณ (สูญเสียคุณค่าในตนไม่มีงาน ความรู้สึกว่า ไร้สมรรถภาพ)
          จิตแพทย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงภาวะซึมเศร้าจากปฏิกิริยาทางใจ (Reactive depression) เช่น อาการซึมเศร้า ภายหลังจากคู่แต่งงานเสียชีวิต ตกงาน หย่าร้าง ภาวะซึมเศร้าเพราะสภาพจิตใจอ่อนล้า (Depr ession of fatigue) เป็นการตอบสนองทางใจ ต่อสภาวะความเครียดเรื้อรัง เช่น ชีวิตสมรสมีปัญหาขัดแย้งไม่รู้จบ ความกดดันจากงาน ที่ต้องรับผิดชอบ การเปลี่ยนงาน ภาระมากเกินไป ภาวะซึมเศร้าชนิดนี้มักเกิดในหญิงซึ่งต้องรับภาระทั้งในครอบครัว และทำงาน นอกบ้าน และในชายที่อยู่ในช่วงอายุ 50-60 ปี ซึ่งถูกกดดันจากการไม่อาจขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพการงานของตนได้
          สำหรับหลักการสังเกตง่ายๆ ว่าใครเข้าข่าย เป็นโรคซึมเศร้าบ้าง ได้แก่ พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางความคิด คือมักจะมีความคิดไปในทาง Negative Thinking หรือความคิดที่เป็นด้านลบตลอดเวลา มักจะรู้สึก สิ้นหวังมองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิดรู้สึกตัวเอง ไร้ค่าไม่มีความหมาย และคิดว่าไม่มีทางเยียวยาได้ ลำพังจนทำให้มีมีความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง ในที่สุด ก็จะคิดทำร้ายตัวเอง คิดถึงแต่เรื่องความตาย พยายามที่จะฆ่าตัวตาย
          พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้หรือการทำงาน มักไม่สนใจ สิ่งแวดล้อม ความสนุก งานอดิเรก หรือกิจกรรมที่เพิ่มความสนุกรวมทั้งกิจกรรม ทางเพศ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีพลังงาน การทำงาน ช้าลง การงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ ความจำเสื่อม การตัดสินใจแย่ลง พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์คือ มักจะมีความรู้สึกซึมเศร้า กังวล อยู่ตลอดเวลา มักหงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย เป็นต้น และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเด่นชัด เช่น นอนไม่หลับ ตื่นเร็ว หรือบางรายหลับมากเกินไป บางคนเบื่ออาหารทำให้น้ำหนักลด บางคนรับประทานอาหารมากทำให้น้ำหนักเพิ่ม มีอาการทางกายรักษาด้วยยาธรรมดาไม่หายเช่น อาการปวดศีรษะ แน่นท้อง ปวดเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นแย่ลง
          หากพบว่าคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการดังกล่าวอย่างน้อย 4 ข้อ ต้องพยายามระมัดระวังความคิด และพยายามดึงตัวเองออกมาจากภาวะนั้นให้ได้ ต้องพยายามเตือนตัวเองให้มีสติอยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ คิดอะไร อยู่ที่ทำให้รู้สึกไม่ดีหรือเปล่า หากรู้ตัวว่าไม่สามารถหยุดความคิดได้ หรือยิ่งรู้สึกสิ้นหวังแบบรุนแรงจนรู้สึกหมดซึ่งหนทางที่อยากจะใช้ชีวิตต่อไป ต้องรวบรวมกำลังเพื่อให้โอกาสตัวเอง โดยการหาทางระบายความคิดและความรู้สึกของตัวเองออกมา แต่การให้โอกาสที่ดีกับตัวเองต้องพยายามเปิดใจหาผู้ที่ท่านมั่นใจว่าช่วยเหลือท่านได้จริงๆ หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเพื่อความปลอดภัยจากภาวะซึมเศร้าที่เป็นอยู่ ณ ขณะนั้นให้ได้
          สำหรับข้อควรปฏิบัติ นพ.พิชัย แนะนำหลัก 9 ข้อ คือ 1. อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงาน และปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป หรือรับผิดชอบมากเกินไป 2.แยกแยะปัญหาใหญ่ๆ ให้เป็นส่วนย่อยๆ พร้อมทั้งจัดเรียงความสำคัญก่อนหลังและลงมือทำเท่าที่สามารถทำได้ 3.อย่าพยายามบังคับตนเอง หรือตั้งเป้ากับตนเองให้สูงเกินไป เพราะอาจไปเพิ่มความรู้สึก ล้มเหลวในภายหลัง 4.พยายามทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับบุคคลอื่น ซึ่งดีกว่าอยู่เพียง ลำพัง
          5.เลือกทำกิจกรรมที่จะสร้างความรู้สึก ที่ดีขึ้น หรือเพลิดเพลินและไม่หนักเกินไปเช่นการออกกำลังเบาๆ การชมภาพยนตร์ การร่วมทำกิจกรรมทางสังคม 6.อย่าตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมากๆ เช่น การลาออกจากงาน การแต่งงาน หรือ การหย่าร้าง โดยไม่ได้ปรึกษาผู้ใกล้ชิดที่รู้จักผู้ป่วยดี และ ต้องเป็นบุคคลที่สามารถพิจารณาเหตุการณ์นั้นอย่าง ที่ยงตรง มีความเป็นกลาง และ ปราศจากอคติที่เกิดจากอารมณ์มาบดบัง ถ้าเป็นไปได้ และ ดีที่สุด คือ เลื่อนการตัดสินใจออกไปจนกว่าภาวะโรค ซึมเศร้าจะหายไปหรือดีขึ้น มากแล้ว
          7.ไม่ควรตำหนิ หรือลงโทษตนเองที่ไม่สามารถทำ ได้อย่างที่ต้องการ เพราะ ไมใช่ความผิดของผู้ป่วย ควรทำเท่าที่ตนเองทำได้ 8.อย่ายอมรับว่าความคิดในแง่ร้ายที่เกิดขึ้นในภาวะ ซึมเศร้าว่าเป็นส่วนหนึ่งที่แท้จริงของตนเองเพราะโดยแท้จริงแล้วมันเป็นส่วนหนึ่งของโรค หรือ ความเจ็บป่วย และ สามารถหายไปได้เมื่อรักษา 9.ในขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลายเป็นคนที่ต้องการ ความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นแต่ก็อาจมีบุคคลรอบตัวๆ ที่ไม่เข้าใจใน ความเจ็บป่วยของผู้ป่วย และ อาจสนองตอบในทางตรงกันข้ามและกลายเป็น การซ้ำเติมโดยไม่ได้ตั้งใจ
          นพ.พิชัย กล่าวว่า "ปัจจุบันนี้โรคซึมเศร้ามีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย หากเราสังเกตเห็นคนใกล้ชิด มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปและเข้าข่ายของภาวะซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว อย่ามองว่าเป็นความคิด แง่ลบที่สร้างขึ้นมาเอง มองโลกในแง่ร้ายเอง แต่ควรเปิดใจรับฟัง และพยายามหาทางช่วยเหลือ เท่าที่จะทำได้ เพราะโรคนี้ส่งผลรุนแรงแต่อาการอาจจะดูเหมือนคนมีอารมณ์วิตกกังวลเพียงเท่านั้น ซึ่งคนใกล้ชิดควรจะช่วยประคับ ประคองทางอารมณ์ รับฟัง เข้าใจอดทน ห่วงใย คอยสนับสนุนและให้กำลังใจแทนที่จะแสดงท่าทีรำคาญ ควรชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงตลอดจน ให้ความหวัง"
          การชักชวนผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม หรืองานอดิเรกที่เคยให้ความสนุกสนานต่อผู้ป่วยมาก่อน เช่น เดินเล่น ชมภาพยนตร์ หรือเล่นกีฬา ไม่ควรผลักดันมากเกินไปและเร็วเกินกว่าที่ผู้ป่วยจะรับได้เพราะอาจไปเพิ่มความรู้สึกไร้ค่าไร้ความสามารถให้มากขึ้น ที่สำคัญอย่าเรียกร้องให้ผู้ป่วยต้องหายจากโรคอย่างรวดเร็ว อย่ากล่าวโทษผู้ป่วยซึมเศร้า ว่าแสร้งทำ หรือขี้เกียจ เพราะถึงแม้ผู้ป่วยที่ ได้รับการรักษาก็ยังต้องใช้เวลา ช่วงหนึ่งจึงจะ มีอาการดีขึ้น
          "สาหรับหลักการสังเกตง่ายๆ ว่าใครเข้าข่าย เป็นโรคซึมเศร้าบ้าง ได้แก่ พฤติกรรม ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทาง ความคิด คือมักจะมีความคิดไปในทาง Negative Thinking หรือความคิดที่เป็นด้านลบตลอดเวลา"
 pageview  1204962    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved