Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 29/07/2557 ]
เบาหวาน...กินอย่างไร
อาหารมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาโรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานทุกคนควรเรียนรู้การเลือกชนิดอาหารและปริมาณอาหารที่รับประทานให้เหมาะสม
          มีคำถามว่า เมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้วจะกินอาหารอย่างไร หลักใหญ่ๆ ก็คือ กินอาหารแล้วทำให้โรคเบาหวานไม่รุนแรงขึ้น หรือโรคเบาหวานมีการควบคุมได้ กินแล้วไม่ทำให้โรครุนแรงขึ้น ทั้งหมดนี้ก็คงต้องเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาจจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นช้าๆ แล้วใช้เวลานานหน่อย ซึ่งศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า โลไตรซีนิกอินเดก เพื่อให้ร่างกายสามารถใช้ประโยชน์ของอาหารได้ราบรื่น  อาหารที่รับประทานแล้วทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นช้าๆ แล้วก็อยู่นานมีอะไรบ้าง ที่ชัดเจนก็คือ ข้าวซ้อมมือ พวกถั่วต่างๆ อาจเป็นถั่วทั้งเมล็ดหรือจะเป็นเต้าหู้เหลือง เต้าหู้ขาว แน่นอนพวกผักและผลไม้ โดยทั่วไปก็จะทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นช้า รับประทานได้เต็มที่เลย  สำหรับอาหารที่ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ก็หนีไม่พ้นอาหารรสหวาน ข้าวขาว ควบคู่ไปกับอาหารที่มีไขมันมาก เค็มมากก็จะไม่ดี เพราะคนที่เป็นเบาหวานเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งก็จะมีผลต่อไต เสี่ยงไตเสื่อมไตวาย จึงต้องรับประทานอาหารที่ไม่มันเกินไป ไม่เค็มเกินไปโดยการลดเครื่องปรุงรส เช่น ซีอิ๊ว ซอส เกลือ ของดอง ซอสมะเขือเทศ ขนมขบเคี้ยว  พวกโปรตีนก็คงรับประทานได้ในปริมาณที่พอเหมาะพอควร ไม่ใช้เนื้อไก่ เนื้อหมูหรือเนื้อที่เป็นชิ้นโตๆ อันนั้นก็จะไปทำให้ไตต้องทำงานหนักมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้พวกโปรตีนตกค้าง จะเป็นพวกยูเรียหรือเครียตินิน เป็นต้น  หลีกเลี่ยงน้ำตาล น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ขนมปัง หากรับขนมปังควรเลือกชนิดwhole grain
          กล่าวโดยสรุปก็คือ ไม่มีอาหารประเภทใดที่ดีสำหรับโรคเบาหวาน ต้องรับประทานอาหารหลากหลาย เพราะจะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน พยายามเน้นอาหารที่ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นช้า แล้วก็อาหารที่ไม่เค็ม ไม่มัน ไม่มีพวกเนื้อสัตว์มากจนเกินไป พวกพืชผักผลไม้ก็รับประทานได้เต็มที่ ขอให้สะอาดและปลอดภัยเท่านั้น แต่ต้องระวังผลไม้ไทยเพราะหวานมาก
          แล้วที่สำคัญก็คือ อย่าลืมออกกำลังกาย จะทำให้การเผาผลาญอาหารทุกประเภททั้งไขมัน น้ำตาล ได้ดียิ่งขึ้น ความต้องการอินซูลินก็จะลดลง อาการของโรคเบาหวานจะดีขึ้น ไม่ทรุดลงอย่างรวดเร็ว
          วุ้นเส้นเหมาะจริงหรือ?
          วุ้นเส้นที่บริโภคกันเป็นประจำผลิตมาจากถั่วเขียว ถั่วแดงหรือถั่วดำก็ได้ แต่ส่วนมากทำมาจากถั่วเขียว และถือว่าเป็นแป้งล้วนๆ เพราะโปรตีนถูกแยกออกไปในระหว่างขั้นตอนการทำ แต่แป้งจากถั่วมีคุณสมบัติพิเศษคือ ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นสูงช้าๆ แล้วก็อยู่นานก็สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
          แต่ต้องเข้าใจว่า วุ้นเส้นมีเฉพาะแป้งอย่างเดียว ฉะนั้น การกินแป้งอย่างเดียวก็ได้เฉพาะแป้ง ไม่เหมาะที่จะรับประทานวุ้นเส้นเพียงอย่างเดียว ทำให้ขาดอาหารที่หลากหลาย
          แล้วแป้งเองก็เปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ ก็ถือว่ามีแป้งมาแทนอาหารประเภทพวกข้าว จึงอาจรับประทานคู่กับข้าวซ้อมมือก็จะดี น้ำตาลในเลือดไม่ขั้นสูงอย่างกระฉูด แล้วก็จำเป็นต้องรับประทานคู่กับอาหารอื่นๆ เช่น อาหารพวกปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ควบคู่กับพืชผักและผลไม้ให้มากๆ
          น้ำตาล กินได้หรือไม่?
          น้ำตาลมีหลายประเภทมาจากแหล่งอาหารหลายชนิด ที่เข้าใจทั่วไปก็คือ น้ำตาลทรายก็คือน้ำตาลกลูโคสทำมาจากอ้อย น้ำตาลกาแลกโทสหรือแลกโทสพบในน้ำนม  ส่วนน้ำผึ้งมีน้ำตาลหลายประเภทรวมกันซึ่งรวมถึงฟรุกโทส เช่นเดียวกับผลไม้รสหวานก็มีน้ำตาลหลายประเภทรวมกัน รวมทั้งซูโครสและฟรุกโทส
          ฉะนั้น เครื่องดื่มหรืออาหารที่มีน้ำตาลอยู่นั้นสามารถรับประทานได้แต่ในปริมาณไม่มาก หรืออาจแบ่งครั้งละน้อยๆ ใช้วิธีทิ้งช่วงเวลาแล้วรับประทานเป็นระยะๆ ไม่ควรปริมาณมากทันที เช่น ดื่มน้ำผลไม้รสหวาน 1 แก้วใหญ่หรือมะม่วงสุก 1 ลูกใหญ่ ก็จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเกินไป อาจมีอาการซึม วิงเวียนแล้วก็หมดสติ จำเป็นต้องมีการให้อินซูลินเข้าไป ในทางตรงกันข้าม กรณีคนที่เป็นเบาหวานมีน้ำตาลในเลือดต่ำหรือกลูโคสต่ำแล้วมีอาการมือสั่น ใจสั่น มือเย็น เหงื่อตก การดื่มน้ำตาลจากน้ำผลไม้หรือน้ำหวานสักแก้วก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดกลับมาเป็นปกติ
          เรื่องนี้มีความสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า อะไรที่เป็นประโยชน์ อะไรที่เป็นโทษต่อร่างกาย อะไรที่เหมาะสม
          (เรียบเรียงจาก บทความด้านอาหารและโภชนาการโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล  www.inmu.mahidol.ac.th)
 pageview  1204268    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved