Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 29/07/2557 ]
ย้อนสำรวจผลงานแพทย์ไทยสนั่นโลกเปลี่ยนลิ้นหัวใจ-วัคซีนไข้เลือดออก
'สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้"เป็นนวัตกรรมที่คนไทยควรภูมิใจที่ได้มีส่วนเป็นเจ้าของที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ'
          หากยังจำกันได้เมื่อต้นปี 2556 แพทย์ไทยเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วโลก เมื่อ รองศาสตราจารย์ พญ.จินตนาถ อนันต์วรณิชย์ นักวิจัยโรคเอดส์ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย หัวหน้าโครงการวิจัยการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีระยะ เฉียบพลัน เปิดเผยผลงานวิจัยการรักษา "เอดส์" จนแทบไม่เหลือเชื้อหรือพบเชื้อน้อยมาก
          งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในผลงาน นับไม่ถ้วนของแพทย์ไทย ตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบัน หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มี ผลงานการรักษาและพัฒนาวิธีการรักษาของแพทย์ไทยเผยแพร่ออกมาเป็นระยะ ตลอดช่วงต้นปี 2557 ที่ผ่านมา
          ตั้งแต่การคิดค้นในระดับ "สเต็มเซลล์"ไปจนถึง "รถพยาบาลฉุกเฉิน" อาทิ  คณะแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชคิดค้นการแยกสเต็มเซลล์บริสุทธิ์จากน้ำคร่ำสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกเพื่อเป็นแนวทางการรักษาโรคต่างๆ หรือทำการผ่าตัดใส่หัวใจเทียมรายแรกของไทย
          คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ค้นพบเทคนิคการผ่าตัดกระดูกต้นขาหักรูปแบบใหม่ทำให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็ว หรือแพทย์โรงพยาบาลมหาราชโคราช สร้างรถพยาบาลฉุกเฉินสมบูรณ์แบบคันแรกของไทย ติดตั้งระบบส่งสัญญาณ
          ภาพและเสียง สัญญาณชีพ เพื่อแพทย์ได้สั่งการรักษาได้ทันทีก่อนถึงโรงพยาบาล เป็นต้น ล่าสุดเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แพทย์ไทยก็โชว์ผลงานทางการแพทย์ ที่สำคัญๆ อีกหลายชิ้นติดๆ กัน เริ่มจากรองศาสตราจารย์ นพ.โศภณ นภาธร  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และคณบดีคณณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวการพัฒนานวัตกรรม ชิ้นใหม่ คือ "การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด"
          วิธีการนี้ช่วยลดภาวะแทรกซ้อน  ลดความเสี่ยงอันเกิดจากการผ่าตัด เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มักจะมีโรคประจำตัวอื่นหลายโรคร่วมด้วย จึงช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้รวดเร็ว ซึ่งประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
          รองศาสตราจารย์ นพ.สุพจน์  ศรีมหาโชตะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ บอกว่า ศูนย์โรคหัวใจได้มีโอกาสแสดงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด ถือเป็นรายแรก ของโลกที่ใช้ลิ้นหัวใจชนิดไฮดรา ซึ่งเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นเองในประเทศไทย  ผลงานชิ้นต่อมาเป็นผลงานที่ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยในการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 6 โดยระบุว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าคนไทยจะมีโอกาสใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
          "วัคซีนไข้เลือดออกที่ไทยร่วมวิจัยทดลองกับอีก 4 ประเทศโดยร่วมมือกับภาคเอกชนนั้นทราบว่าให้ผลดีสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันไข้เลือดออกได้ 56.5 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าคนไทยจะมีโอกาสได้ใช้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นเรื่องของขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยสามารถป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ที่พบการระบาดในประเทศไทย"
          ศาสตราจารย์ พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เผยถึงความสำเร็จของการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกว่า ขณะนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศของเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีน
          ไข้เลือดออกต้นแบบ โดยเป็นการวิจัยร่วมของ 5 ประเทศ คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย และได้มีการตีพิมพ์ความสำเร็จครั้งนี้ในวารสารแลนด์เซ็ท(Landsat) ที่เป็นวารสารทางการแพทย์ระดับโลก "ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกที่จะมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้"  สำหรับวัคซีนไข้เลือดออกที่มีการวิจัยได้สำเร็จครั้งนี้เป็นการวิจัยพัฒนามากว่า 20 ปีตั้งแต่สมัยศาสตราจารย์ นพ.ณัฐ ภมรประวัติ ต่อมาได้เริ่มพบความสำเร็จเมใอปี 2552
          ส่วนผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ 88.5 เปอร์เซ็นต์ โดยได้ทำการทดลองในกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 2-14 ปีจำนวนกว่า 1 หมื่นราย โดยการฉีดวัคซีนทั้งหมด 3 เข็ม ห่างกัน 6 เดือนและ 12 เดือน และวัคซีนนี้ป้องกันได้ 4  สายพันธุ์ จากนั้นจะต้องมีการติดตามผลในกลุ่มตัวอย่างต่อเนื่องไปอีก 3 ปี จนถึงปี 2560 ตามกฎเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก "สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นนวัตกรรมที่คนไทยควรภูมิใจที่ได้มีส่วนเป็นเจ้าของนวัตกรรมในการป้องกันโรคที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ"
          นอกจากนี้ยังมีผลงานของ  ศูนย์การแพทย์ชีวโมเลกุลแห่งเอเชีย ได้นำ Xenogenic Peptide ซึ่งเป็นการนำโปรตีนที่อยู่ภายใน Cytoplasm ของเซลล์มาใช้ประโยชน์ในการรักษาที่ต้นเหตุไม่ใช่รักษาที่อาการ จำเพาะต่ออวัยวะนั้นๆ เป็นการรักษาแบบองค์รวม และไม่มีการใช้สารเคมี  แตกต่างจากรูปแบบของสเต็มเซลล์ เช่น เซลล์ตับจะไปซ่อมแซมตับ เซลล์หัวใจไปซ่อมแซมหัวใจ เป็นต้น
          กระนั้นก็ตาม ท่ามกลางการวิจัยพัฒนาการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการต่างๆ  ที่ทันสมัย แต่ในอีกมุมหนึ่งคนไทยก็ยังเสี่ยงต่อการใช้ "สเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสม" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังในระบบยา (กพย.)  ได้เผยสถานการณ์การใช้สเตียรอยด์ ในประเทศไทย ในการประชุม "มหกรรมการจัดการปัญหาสเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสมในระดับชาติ" พบว่า ปี 2555 มีการ ใช้มากที่สุดถึงจำนวน 853 ล้านเม็ด
          ส่วนปี 2556 มีปริมาณการใช้ 737  ล้านเม็ด ซึ่งยังไม่นับรวมการใช้ในยาชนิดทา
          ทำให้ปริมาณเฉลี่ยเท่ากับคนไทยใช้สเตียรอยด์ อยู่ที่ 13.2 เม็ดต่อคนต่อปี  ทั้งนี้พบการเติมสเตียรอยด์ได้ทั้ง ในยาชุด ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำผลไม้ ยาแผนโบราณ ฯลฯ โดยใน 20 จังหวัดเครือข่ายที่ทำการสำรวจพบว่า แหล่งการกระจายสเตียรอยด์อยู่ในรถเร่  และวิทยุชุมชน เป็นจุดสำคัญของการโฆษณาและขาย
          เภสัชกรเด่นชัย ดอกพอง จาก โรงพยาบาลขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ระบุว่า อาการข้างเคียงจากการใช้สเตียรอยด์ทั่วไปๆ คือ ลักษณะภายนอก เช่น หน้ากลม  รูปร่างกลม ตัวบวม  แต่ยังมีอาการข้างเคียงจากสเตียรอยด์ ที่ไม่ทราบ คือ ภาวะช็อค อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีไข้ ปวดตามข้อ เพราะต่อมหมวกไต ถูกกระตุ้นจากยาจนไม่สามารถทำงานเองได้  เมื่อหยุดยาจึงเกิดอาการดังกล่าวขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่กินจนติด การเลิกกินการฉับพลันทำให้เกิดอาการช็อคได้สูง สำหรับแหล่งกระจายที่มาจากยาชุดจากร้านยา ร้านชำ พบว่า สถานการณ์ลดลง  ยาลูกกลอน สถานการณ์คงเดิม ยาจากรถเร่ยังพบมาก และเปลี่ยนเป็น NSAID ขนาดสูงแทน ซึ่งไม่สามารถตรวจพบ ยาจากพระ มีมากขึ้นมาก รวมทั้งยาจากชายแดน  ส่วนประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีการผสมสเตียรอยด์พบในยาสมุนไพรไม่มีทะเบียนตำรับ ร้อยละ 30 ยาเม็ด ร้อยละ 28 ยาชุด ร้อยละ 21 ยาน้ำแผนโบราณ ร้อยละ 16 เครื่องดื่มสมุนไพร ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร ร้อยละ 3
          แนวโน้มการใส่สเตียรอยด์เริ่มเปลี่ยนรูปแบบจากยาเม็ดจัดเป็นชุดมาเป็นการเติมลงในเครื่องดื่มสมุนไพรที่ขึ้นทะเบียนตำรับเป็นอาหาร
          ข่าวคราวผลงานทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น ในช่วงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในร้อยแปดพันเก้า ผลงานของ "แพทย์ไทย" ที่ปรากฏ ต่อสาธารณะ และเชื่อว่ายังมีงานค้นคว้า วิจัย และพัฒนาอีกมากมายที่จะทยอยประกาศ
          ความสำเร็จในอนาคต ซึ่งไม่เพียงสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย แต่ยังมีคุณูปการต่อ ผู้ป่วยทั้งในประเทศและทั่วโลก
 pageview  1205016    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved