Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 22/07/2557 ]
ลด ละ เลิก (เครียด) สร้างสุข
 ในองค์กรที่มีนโยบายสร้างสุขให้พนักงาน เมื่อมีการเปิดใจ เข้าใจ เข้าถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานแล้ว ก็มักจะพบต้นเหตุหนึ่งของการทำงานไม่มีความสุข คือ การเผชิญกับความเครียดสารพัด บางคนเมื่อมีปัญหาสุขภาพก็เครียดกลัวทำงานไม่ได้ บางคนตั้งครรถ์ เมื่อใกล้วันคลอด ก็กังวลว่าจะเคลียร์งานไม่ทัน เตรียมตัวไม่พร้อม บางคนมีความเครียดสะสม นอนไม่หลับ ยิ่งคนที่มีปัญหาหนี้สิน ชักหน้าไม่ถึงหลัง  ก็ทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน ฉบับนี้จึงขอนำเรื่องราวความเครียด และวิธีจัดการมาฝากกัน เพื่อให้ฝ่ายที่ทำหน้าที่ดูแลสร้างสุขให้พนักงาน ได้นำไปปรับใช้ในองค์กร
          ก่อนอื่นมารู้จักความเครียดกันก่อน ซึ่งจากคำบอกเล่าของ นายแพทย์ ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร จิตแพทย์โรงพยาบาล มนารมย์ ความเครียดสามารถ ทำให้เกิดความไม่สบายกาย หรือไม่สบายใจ หรืออาจเป็นทั้ง 2 อาการเลยก็ได้ ส่วนสาเหตุหลักของความเครียด มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก
          "ปัจจัยภายใน เช่น อาการเจ็บป่วยบางอย่างในร่างกายเรา ท้องเสีย ไม่สบาย ปวดนู่น ปวดนี่ หรือว่าการได้รับสารบางอย่างจากภายนอกเข้ามาสู่ภายใน อย่างเช่น กาแฟ บางคนกินแล้วใจสั่น รู้สึกไม่สบายตัว กระสับกระส่าย ส่วนปัจจัยจากภายนอกก็เช่น สิ่งแวดล้อม ซึ่งมักจะ
          มาจากสองเรื่องใหญ่ๆ คือ  Work กับ Love รวมถึง Interpersonal ระหว่างบุคคล เช่น มีเรื่องกับเจ้านาย มีเรื่องกับลูกน้อง มีเรื่องกับเพื่อนร่วมงาน ทะเลาะกัน เรื่อง Work ก็เช่น การแข่งกับเวลา เร่งรีบ หรือว่างานที่ข้องเกี่ยวกับเรื่องความเป็นความตายความทุกข์ทรมาน ด้าน Love ก็คือความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เช่น มีปัญหากับทางบ้าน พ่อ แม่ พี่ น้อง"
          อีกสาเหตุหนึ่งของความเครียด ที่เราคิดไม่ถึง คือ ความเครียดของภาวะที่ร่างกายเราตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น มีอะไรโผล่เข้ามาในชีวิต แล้วทำให้รู้สึกว่า ตื่นตัว พร้อมจะหนีหรือจะสู้ตลอดเวลา เราจะ มีพวกเหงื่อแตก ใจสั่น หายใจไม่ค่อยอิ่ม มือชา เท้าชา กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง
          ในแต่ละวันทำไม แต่ละคน เกิดความเครียดไม่เหมือนกัน คำอธิบาย เรื่องปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดของ คุณหมอ ธีรยุทธ ทำให้เข้าใจได้มากทีเดียวว่า ทำไมการพักผ่อน และทานอาหารจึงมีความสำคัญ
          "คนที่เข้างานเป็นกะ ที่ไม่ค่อยได้นอน เข้าเช้าบ้าง บ่ายบ้าง ดึกบ้าง พวกนี้จะมีความเครียดสูงกว่าคนทั่วไป ก็จะมีอาการ เช่น ระบบย่อยอาหารทำงานไม่ค่อยดีเท่าไหร่ รู้สึกเหนื่อย เพลียง่าย อ่อนแรง หรือบางคนก็มีอารมณ์หงุดหงิด หรือซึมเศร้าไปเลยก็มี"
          ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในชีวิต ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนเราเครียด ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนั้นอาจหมายถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ หรือเล็กๆ ก็ได้
          "ถ้าเรื่องใหญ่ๆ อย่างเช่น คู่สมรสเสียชีวิต มีคนในบ้านเจ็บป่วย ต้องออกจากงาน เปลี่ยนงาน มันจะเป็นอะไรที่มันไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือว่าไม่สามารถควบคุมจัดการกับมันได้ แม้แต่เรื่องที่ดูเหมือนจะดีอย่างเรื่องการแต่งงาน ก็ทำให้คนเครียดได้เหมือนกัน ส่วนเหตุการณ์เล็กๆ  เช่น รถติด แฟนมาสาย เงินเดือนออกไม่ตามเวลา มันก็ทำให้เครียด และทำให้วันทั้งวัน เราทำงานไม่มีความสุขได้เหมือนกัน"
          สำหรับวิธีจัดการกับความเครียดต่างๆ นั้น แม้ว่าจะขึ้นอยู่กับระดับความเครียด และตัวบุคคล แต่แนวทางที่คุณหมอธีรยุทธ ให้ไว้ ผู้เขียนว่า ก็น่าสนใจทีเดียว
          "อย่างแรกคือ ลด โดยลดความเครียดให้ไปสู่ในระดับที่เหมาะสม เช่น ได้รับโปรเจกมาแต่รู้สึกเครียดขึ้นมานิดนึง ตื่นเต้น แต่ก็อยากทำ ถ้าเป็นสเกลสำหรับตัวเองนั้น 10 ก็คือเครียดสุดๆ เลย 0 คือไม่เครียดเลย ก็อาจจะให้ความเครียดมันอยู่สัก 2-3  เพื่อจะได้กระตุ้นๆ ให้ตัวเองตื่นตัวหน่อย
          อย่างที่สองคือ ละ หรือ เลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้เราเครียด สมมุติว่ามีคนมายืมเงิน มาขอให้ไปค้ำประกันให้ ถ้าเรารู้สึกว่าถ้าเราให้ยืมไป ค้ำประกันไป เราจะมีปัญหาแน่นอน เราต้องเครียดแน่นอน เลี่ยงได้ ก็เลี่ยงไป
          และ สามคือ เลิกเครียด โดยมองว่าชีวิตเรามีแค่ 2 หมื่นกว่าวัน สมมุติว่าพรุ่งนี้เราไม่ตื่นขึ้นมา เรามองย้อนมาวันนี้ เรายังเสียใจ อยู่ไหม ที่เราหมกหมุ่นอยู่กับปัญหา บางทีเรามองในช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่ง ตอนนี้เรามองว่าปัญหาเรื่องนี้มันใหญ่มาก แต่พอเราลองมองย้อนกลับไป ส่วนใหญ่ก็มองว่าปัญหามันเล็กน้อย หรือว่ามองในมุมมองระดับจักรวาล จริงๆ มนุษย์เรามันก็แค่ผลธุลี ปัญหาของเรามันก็ยิ่งกว่าระดับอะตอมโมเลกุล"
          เรื่องราวของความเครียด และวิธีขจัดความเครียด เพื่อให้ชีวิต และงานมีความสุข ที่คุณหมอเล่ามา ยังมีอีกมาก ในคราวหน้า ขอจำ จากคุณหมอมาเล่าอีกสักครั้ง
 pageview  1204962    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved