Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 03/03/2555 ]
เคาะ3กองทุนสุขภาพ รักษาฉุกเฉินทุกรพ.

ยิ่งลักษณ์ ไฟเขียว 3 กองทุนสุขภาพใช้บริการเดียวรักษา อุบัติเหตุ-เจ็บป่วยฉุกเฉิน ได้ทุกโรงพยาบาล เคาะค่ารักษาหัวละ 10,500บาท ดีเดย์ 1 เม.ย. นี้ สั่งทุกกองทุนทบทวนงบประมาณหวั่นงบค่ารักษาบานปลายคุมไม่ดีอีก 8 ปี พุ่งกว่า 7 แสนล้านบาท สปสช.รับประสานโรงพยาบาลทุกสังกัด พร้อมตั้งศูนย์ดูแลการเบิกจ่ายทั้ง 3 กองทุน
          นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมเชิงนโยบาย เรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพรัฐ ครั้งที่ 3 ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร่วมกับกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวานนี้ (2 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมมีบทสรุปเรื่องการเสริมสร้างสุขภาพป้องกันโรค ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และโรคทุกโรคครอบคลุมทั้งหมด ยกเว้น 4 ประเด็น คือ 1.การเข้ารักษาเพื่อความสวยงาม 2.การรักษามีบุตรยาก หรือผสมเทียม 3.การตรวจวินิจฉัยรักษา เกินความจำเป็นหรืออยู่ระหว่างทดลอง และ 4.การรักษาที่ไม่เป็นไปตามแพทย์ระบุ
          ส่วนผู้ป่วยนอก สามารถรักษากับสถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ก่อน หากโรงพยาบาลใดไม่สามารถรักษาได้ให้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีศักยภาพรักษาเพิ่มได้ ส่วนโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคเอดส์ ไตวาย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จะถูกจัดไว้ในระบบทั้งหมด และครอบคลุมยาราคาแพงด้วย โดยผู้ป่วยทุกคนที่ต้องใช้ยาราคาแพง ไม่ว่าโรคใดจะได้รับยาอย่างเท่าเทียมกันทุกคน
          ความสำคัญเพื่อให้เข้ามาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในการรักษาพยาบาลทั้งหมด เป้าหมายคือ เมื่อป่วยฉุกเฉินรับบริการได้ทุกโรงพยาบาลไม่ว่าของรัฐหรือเอกชน แต่หากไม่ใช่กรณีฉุกเฉินให้รักษาในโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนไว้ก่อน โดยไม่ต้องสำรองเงินล่วงหน้า มีระบบเบิกจ่ายกลางเพื่อความสะดวกแก่สถานพยาบาลต่างๆ นายภักดีหาญส์ กล่าว
          สำหรับกรณีการบริการผู้ป่วยในของแต่ละกองทุนที่มีความแตกต่างในการจ่ายยานั้น ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้กำหนดอัตราชดเชยกรณีข้าราชการ รับบริการเป็นผู้ป่วยใน ที่ทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ ประกันสังคม ประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสวัสดิการข้าราชการ เห็นพ้องคือ 10,500 บาท ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอัตรานี้เท่ากัน ซึ่งในที่ประชุมนายกฯ ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนเพิ่มเติม และของบประมาณทั้งหมดเข้ามาอีกครั้งหนึ่งในที่ประชุมวันที่ 13 มี.ค. นี้ เพราะนโยบายนี้จะมีผลในวันที่ 1 เม.ย. นี้
          สปส.จ่ายดีอาร์จีละ1.5 หมื่นบาท
          นายแพทย์สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า การให้บริการรักษาพยาบาลกรณีอุบัติเหตุและเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น โรคหัวใจ โรคสมอง กำหนดให้เป็นระบบเดียวกันคือ หากประชาชน ผู้ประกันตน และข้าราชการเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนได้ โดยโรงพยาบาลไม่ต้องถามผู้ป่วยว่าอยู่ระบบการรักษาใด และรักษาจนสิ้นสุดการรักษา โดยปัจจุบันผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษากรณีอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ได้เฉพาะโรงพยาบาลนอกบัตรได้ภายใน 72 ชั่วโมง และต้องแจ้งโรงพยาบาลตามบัตรรับช่วงรักษาต่อ แต่ระบบใหม่ทั้ง 3 กองทุนผู้ประกันตนจะได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลนั้นๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยโรงพยาบาลนั้นจะเรียกเก็บค่ารักษาจากหน่วยงานที่ดูแลผู้ป่วยที่มีสิทธิรักษาพยาบาล และยึดค่ารักษาตามระดับความรุนแรงของโรค (ดีอาร์จี) เป็นมาตรฐานเดียวกัน
          ส่วนผู้ประกันตน ที่ไปเข้ารับการรักษาพยาบาลกรณีอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนนอกเครือข่ายประกันสังคม สปส.จะร่วมกับอีก 2 กองทุนจ่ายค่ารักษาดีอาร์จีละ 1.5 หมื่นบาทเช่นเดียวกับโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม คาดเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ โดยวันที่ 13 มี.ค. นี้ จะประชุมหาข้อสรุปงบดำเนินการ
          นายกฯห่วงอีก 8 ปีงบรักษาพุ่ง 7 แสนล้าน
          นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือถึงแนวทางพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เรื่องการรักษาพยาบาลโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 ระบบมีมาตรฐานให้บริการแตกต่างกัน จึงต้องการพัฒนาระบบรักษาพยาบาลโรคเรื้อรังให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยจากการหารือเบื้องต้นพบว่า ปัจจุบันการรักษาพยาบาลโรคเรื้อรังที่มีมาตรฐานใกล้เคียง คือ โรคเอดส์และโรคไต ดังนั้นระยะแรกจึงมีแนวคิดจะพัฒนามาตรฐานการรักษาพยาบาลโรคเรื้อรังของทั้ง 3 ระบบเป็นมาตรฐานเดียวกันก่อน เพื่อนำร่อง โดยตั้งเป้าเริ่มดำเนินการภายในปีนี้ แต่ต้องหารือในรายละเอียดอีกครั้ง
          ในที่ประชุมนายกฯ ยังมีข้อห่วงใยเรื่องค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล ที่เป็นภาระงบประมาณประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลที่รัฐต้องจ่ายทุกระบบอยู่ที่กว่า 4.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ซึ่งหากไม่ปรับรูปแบบรักษาพยาบาลและควบคุมค่าใช้จ่าย เช่น ค่ายาง จะทำให้ปี 2563 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า ภาระงบค่ารักษาพยาบาลจะสูงกว่า 7 แสนล้านบาท คิดเป็น 5.5% ของ จีดีพี
          ค่ารักษาฉุกเฉินหัวละ 10,500 บาท
          นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายกฯห่วงใย 3 กองทุนสุขภาพ โดยได้ข้อยุติเรื่องการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ต่อไปประชาชนทั้ง 3 กองทุน จะได้รับการดูแลเท่ากัน หากป่วยฉุกเฉิน สามารถใช้สิทธิที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน สำหรับค่าน้ำหนักสัมพัทธ์เฉลี่ย หรือ RW ของผู้ป่วยในของโรงพยาบาลทุกระบบอยู่ที่ 10,500 บาท แต่ก่อนบังคับใช้ต้องศึกษารายละเอียดและผลกระทบให้รอบคอบ โดยการดำเนินการอาจแก้ไขประกาศ หรือกฎระเบียบต่อไป และในอนาคตจะขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลทหารและโรงพยาบาลตำรวจด้วย
          นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีนี้เป็นแค่การจัดระบบบริหารการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุเท่านั้น ไม่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ เพราะเป็นสิ่งที่แต่ละกองทุนกำหนดสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาการเข้ารับบริการกรณีฉุกเฉินอาจต้องส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้และสะดวกที่สุดก่อน แต่โรงพยาบาลดังกล่าวอาจไม่ได้เป็นเครือข่ายหรือคู่สัญญาของกองทุนนั้นๆ จึงมีปัญหาเบิกจ่ายและใช้สิทธิ์รักษาพยาบาล ผู้ป่วยบางรายต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งบางกรณีค่ารักษาสูงมากจนเกิดปัญหา ทำให้มีการร้องเรียน โดย สปสช.ได้รับมอบหมายให้ดูในเรื่องการเบิกจ่าย โดยจะตั้งศูนย์ข้อมูลการเบิกจ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินดูแลการเบิกจ่ายทั้ง 3 กองทุน
          ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหารือกับโรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงเอกชน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขรับจะประสานเรื่องนี้ และทำรายละเอียดตัวเลขการเบิกจ่าย เสนอนายกฯ วันที่ 13 มี.ค. นี้อีกครั้ง เลขาธิการ สปสช. กล่าว
          แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ของผู้ป่วยในนั้น คิดค่าใช้จ่ายขึ้นกับความหนักเบาของโรค เช่น กรณีผ่าตัดไส้ติ่ง เป็นโรคง่ายๆ นอนโรงพยาบาลไม่นาน ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ หรือ RW เท่ากับ 1 เงินที่เบิกได้ต่อครั้ง คือ 10,500 บาท แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยผ่าตัดโรคหัวใจค่า RW เท่ากับ 10 โรงพยาบาลจะเบิกได้ 10 เท่า หรือกว่าแสนบาท ข้อดีของการใช้ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ทุกกองทุนคือ ไม่ว่าใช้สิทธิใด โรงพยาบาลจะเบิกค่าใช้จ่ายได้เท่ากันหมด และเปิดโอกาสให้ข้าราชการใช้สิทธิในโรงพยาบาลเอกชนได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่า โรงพยาบาลเอกชนจะเข้าร่วมและยอมรับค่า RW ได้หรือไม่

 pageview  1204505    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved