Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 19/11/2556 ]
สารตะกั่วทำลายสมองเด็ก
 เป็นภัยใกล้ตัวอีกอย่างที่หลายคนอาจ มองข้าม สำหรับพิษสารตะกั่วที่มากับสีทาบ้าน ของใช้ และของเล่นเด็ก นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสารตะกั่วที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยเฉพาะเด็กเล็กว่า เนื่องจากเด็กจะดูดซึมสารตะกั่วจากทางเดินอาหารได้ถึงร้อยละ 50 ในขณะที่ ผู้ใหญ่ดูดซึมได้เพียงร้อยละ 10-15 ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ประกอบกับพฤติกรรมของเด็กที่ชอบเล่นตามพื้นดิน ไม่ล้างมือ ดูดนิ้วหรือหยิบของ เข้าปาก ทำให้มีโอกาสได้รับพิษตะกั่วมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 3 เท่า ทั้งนี้เมื่อเด็กได้รับสารพิษจากตะกั่วเข้าไปแล้วจะส่งผลเสียอย่างชัดเจนต่อร่างกาย และระดับสติปัญญา โดยเฉพาะสมองที่กำลังพัฒนาจะไม่สามารถกลับคืนเป็นปกติได้ทำให้ ไอคิวต่ำ และถ้าได้รับในปริมาณสูงจะมีผลต่อสมอง ตับ และไต ทำให้มีอาการซีด ชัก และเสียชีวิต นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสสารตะกั่วมีความเสี่ยงสูง ที่จะแท้ง คลอดก่อนกำหนด หรือลูกมีน้ำหนัก ตัวน้อย
          หนึ่งในแหล่งสารตะกั่วใกล้ตัวเด็กคือ สารตะกั่วในสี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีที่นำมา ทาอาคารภายใน เครื่องเล่น ของเล่นเด็ก ตลอดจนของใช้ของเด็ก เมื่อสีมีการหลุดร่อน จะมีการปนเปื้อนผงฝุ่นตะกั่วร่วมด้วย และหากเด็กสัมผัสผงฝุ่นเหล่านั้นหรือหายใจเข้าไปจะได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น ข้อแนะนำในการดูแลเด็กให้ห่างไกลพิษสารตะกั่วเบื้องต้นคือ เลือกใช้สีน้ำทาภายใน ตัวบ้านแทนการใช้สีน้ำมัน สีที่ใช้ควรมีปริมาณตะกั่วไม่เกิน 90-100 ppm ดูแลไม่ให้ เด็กเล่นเครื่องเล่น/ของเล่นที่สีหลุดร่อน ล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงอาหาร และก่อนรับประทานอาหาร ตลอดจนดูแลให้เด็กได้รับสารอาหารครบหมวดหมู่ โดยเฉพาะผักใบเขียว และผลไม้ นมสด ปลาเล็กปลาน้อย เนื้อแดง เพราะสารอาหารเหล่านี้จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารตะกั่วได้น้อยลง
          ขณะนี้กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ได้วางแผนการดำเนินงานร่วมกับกรมควบคุมโรค และกรมอนามัย ทำการสำรวจสถานการณ์การสัมผัสสารตะกั่วในเด็กเล็กอายุ 9-24 เดือน ที่อาศัยอยู่ในบ้านจากทุกภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การศึกษาปัญหาของสารตะกั่วในสีทาบ้านที่มีผลต่อสุขภาพเด็ก คาดว่า จะเริ่มทำการสำรวจในเดือนธันวาคม 2556- กุมภาพันธ์ 2557
 pageview  1205867    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved