Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 23/08/2556 ]
อุทยานสั่งรับมือ"หวัดนก"ก่อนฤดูหนาว

 เฝ้าระวัง 3 โรคเสี่ยงที่สามารถติดจากสัตว์สู่คน และคนสู่คน
          "อุทยาน"สั่งรับมือ 3 เดือนก่อนหนาว สกัดหวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H7N9 และ H7N7 ซึ่งพบระบาดในจีน และฮ่องกง เพิ่มทีมเฉพาะกิจตามแนวชายแดนหลังจ่อใกล้ไทยพบในกัมพูชาแล้ว เตือนเลี้ยงงู กิ้งก่า เต่า ระวังเชื้อ"ซาลโมเนลล่า"
          นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการกิจกรรมงานป้องกันและควบคุมโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ธรรมชาติ และแผนการรับมือฉุกเฉินโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ H7N9 ว่า หลังจากมีรายงานการระบาดของ โรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ H7N9 ครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อเดือนมี.ค.นี้ ทำให้มีผู้ป่วยมากกว่า 100 คนและคนตายมากกว่า 30 คน
          ทั้งนี้ ทางองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (โอไออี) ได้รายงานการพบเชื้อโรคหวัดสายพันธุ์ใหม่ H7N9 ในสัตว์และสิ่งแวดล้อมในตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรและตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต โดยเฉพาะนกพิราบที่ตรวจพบเชื้อไม่มีอาการป่วยหรือตาย เนื่องจากเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ H7N9 เป็นเชื้อที่ไม่ก่อโรครุนแรงในสัตว์ปีก แต่ทำให้เกิดรุนแรงในคน และขณะนี้ยังมีการระบาดอยู่อย่างต่อเนื่อง
          รองอธิบดีกรมอุทยาน กล่าวว่า จากการเฝ้าระวัง H7N9 ด้วยการนำนกพิราบในไทย มาตรวจ ยังไม่พบว่าติดเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในจีน แต่ยังคงมีการเฝ้าระวังสุ่มตรวจนกพิราบอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเพิ่งได้รับรายงานล่าสุดพบไข้หวัดสายพันธุ์ H7N7 ในสัตว์ปีกทดลองจากนักวิจัยของฮ่องกง ทางกรมอุทยานฯก็ให้เฝ้าระวังเพิ่มเติมด้วย อีกทั้งในช่วงอีก 2-3 เดือนนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาว ทส.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชิญเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติจาก190 หน่วยมาวางแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ.2556-2559 ขึ้น
          โดยจะเน้นเฝ้าระวัง 3 โรคเสี่ยงที่สามารถติดจากสัตว์สู่คน และคนสู่คนได้ โดยเฉพาะอุบัติใหม่ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ ไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์ ในกลุ่มนกอพยพ โรคไข้สมอง
          อักเสบนิปาห์ไวรัสจากกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ค้างคาว ลิง โรคซาลโมเนลล่า ในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู กบ เป็นต้น รวมทั้งไวรัสโคโรน่า ที่มีรายงานระบาดในยุโรปจากคนสู่คน และยังไม่สามารถชี้ชัดว่ามีสัตว์เป็นพาหะหรือไม่
          "สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ที่มีสัตว์เป็นพาหะนำโรค ซึ่งยอมรับว่าบางชนิดยังควบคุมไม่เต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ต่างถิ่นและสัตว์แปลกๆ ที่แอบนำเข้ามาเลี้ยง เช่น งูสวยงาม สัตว์ฟันแทะ กิ้งก่า เต่า ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มโรคซาลโมเนลล่า โดยจะประสานกับทางกรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรคเข้าไปติดตามตรวจสอบ โดยขอความร่วมมือพวกเลี้ยงสัตว์แปลกต่างถิ่นให้นำมาตรวจเช็คโรค เพราะจะเกิดอันตรายกับคนเลี้ยงได้หากสัตว์ติดเชื้อเข้ามา" รองอธิบดีกรมอุทยาน กล่าว
          นายธีรภัทร กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการรับมือโรคอุบัติใหม่ เบื้องต้นทางอุทยานฯเตรียมประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและด่านตรวจสัตว์ป่าตามแนวชายแดนเพื่อนบ้านให้เตรียมพร้อมประสานงาน ควบคุมการนำเข้าสัตว์ปีกและควบคุมไม่ให้ลักลอบนำสัตว์ปีกและสัตว์ป่า เพราะมีรายงานเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ระบาดในกัมพูชาแล้ว
          นอกจากนี้จะมีทีมเฉพาะกิจเฝ้าระวังทั่วประเทศ โดยจะตรวจสัตว์ในธรรมชาติ เช่น นกธรรมชาติ นกอพยพหนีหนาว ลิง ค้างคาว ซึ่งในปีที่ผ่านมาตัวอย่างที่สุ่มตรวจโรคอุบัติใหม่จำนวน 4,200 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่เป็นนก 3,700 ตัวอย่าง ค้างคาว 500 ตัวอย่าง แต่ยังไม่พบว่าติดเชื้อหวัดนก และไวรัสสมองอักเสบ แต่ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังต่อในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะนกอพยพเข้ามาในแหล่งน้ำต่างๆ
          บางชนิดยังควบคุมไม่เต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ต่างถิ่น

 pageview  1205629    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved