Follow us      
  
  

สยามรัฐ [ วันที่ 21/12/2560 ]
ห่วงเลียนแบบ!6สัญญาณเตือนฆ่าตัวตาย

  น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก กว่า 8 แสนคนต่อปี คาดจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน ในปี 63  โดยมีคนพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 20 เท่าตัว เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน
          การฆ่าตัวตายเลียนแบบคนดัง หรือ Copycat Suicide  ในเมืองไทยนั้น จะไม่เกิดกับคนที่ไม่คิดฆ่าตัวตายอยู่ก่อน แต่สำหรับคนที่คิดอยู่แล้ว อาจเห็นช่องทางหรือวิธีที่จะฆ่าตัวตายมากขึ้น
          ถ้าคนที่ฆ่าตัวตายมีชื่อเสียงหรือรู้จักในสังคมจะมีผลให้คนมีความคิดฆ่าตัวตายตามได้
          ทั้งนี้ ต้องดูความเปราะบางด้านจิตใจ หรือผูกพันกับผู้ตายขนาดไหน ผูกพันมากก็ทำให้หวั่นไหวตามมาก
          อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในเมืองไทยกระแสฆ่าตัวตายเลียนแบบคนมีชื่อเสียงจะมีไม่มากนัก ก็ไม่ควรชะล่าใจ
          สื่อเอง การพาดหัวหรือแจงรายละเอียดฆ่าตัวตายก็ต้องระวัง เพราะหากบรรยายมากไปอาจเกิดผลกระทบได้ แต่ให้เน้นไปที่แนวทางป้องกัน ดูแล ช่วยเหลือ ผู้ที่เสี่ยงฆ่าตัวตายให้มากขึ้น
          ขณะผู้ปกครองก็ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด หากลูกหลานมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงต้องใส่ใจ ซักถาม ทำความเข้าใจ เช่น ร้องไห้บ่อย เก็บตัว ไม่พูด เหม่อลอย บางครั้งพูดเรื่องฆ่าตัวตาย ไม่อยากมีชีวิต ชีวิตไม่มีค่า
          สัญญาณเตือนเหล่านี้ ต้องสนใจเป็นพิเศษ อย่าคิดว่าพูดเล่น รวมถึงต้องดูแลเด็กที่เคยฆ่าตัวตายมาแล้วอย่างใกล้ชิดเพราะโอกาสจะกลับไปทำซ้ำมีมาก และโอกาสที่จะทำสำเร็จก็มีมากเช่นกัน
          ด้าน นพ.ณัฐกรจำปาทอง ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์เผยอัตราฆ่าตัวตายล่าสุดของคนไทย ปี 59 อยู่ที่6.35 ต่อประชากรแสนคนลดจากปี 58 ที่มีอัตรา 6.47 ต่อประชากรแสนคน โดยสูงสุดคือช่วง 35-39 ปี
          ปัญหานี้เป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย สัญญาณเตือน เช่น เวลาพูด มีน้ำเสียงวิตกกังวล เศร้าหมองกินไม่ได้ นอนไม่หลับ พูดเปรยว่าอยากตาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเช่น เป็นโรคซึมเศร้า มีปัญหาชีวิต ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง
          คนรอบข้างสามารถช่วยได้ โดยใส่ใจรับฟัง พูดคุยเป็นเพื่อน แม้กระทั่งกล่าวคำว่า ขอบคุณ เพื่อให้เขากล้าที่จะบอกความรู้สึกทุกข์ทรมานใจและกล้าที่จะยอมรับความช่วยเหลือจากสังคมและคนรอบข้าง
          แต่หากไม่ดีขึ้น ให้ติดต่อครอบครัวหรือชุมชนให้ช่วยกันดูแลส่งต่อสู่ขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมโทรปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323  หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่งทั่วประเทศทั้งสามารถประเมินภาวะเสี่ยงทำร้ายตนเอง พร้อมรับแนวทางช่วยเหลือได้ที่ แอพฯ Sabaijai ดาวน์โหลดฟรี

 pageview  1204989    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved