Follow us      
  
  

สยามรัฐ [ วันที่ 30/10/2560 ]
เส้นทางผักผลไม้ปลอดสารพิษทางเดินสู่ปลอดภัยถึงผู้บริโภค

 ผักผลไม้ที่ปลอดสารเคมี ยากำจัดศัตรูพืช รวมไปถึงผักอินทรีย์ที่ปัจจุบันหาซื้อได้ค่อนข้างจำกัด
          เมื่อเร็วๆ นี้ ในการจัดประชุมวิชาการกินผักผลไม้ปลอดภัย 400 กรัมเพื่อสุขภาพ จัดโดยสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้หยิบยกสถานการณ์การผลิตและความปลอดภัยในผักผลไม้ รวมถึงบทบาทการค้าสมัยใหม่ ในการสนับสนุนผักผลไม้ปลอดภัย
          นางวัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวนเงินมีมา จำกัดเล่าถึงกระบวนการผลิต ระบบการควบคุมความปลอดภัยและการขายผักผลไม้ออร์แกนิก ให้ฟังว่า สวนเงินมีมาเป็นหนึ่งในภาคีของ สสส. ทำการตลาดเพื่อสังคมที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันถึงคุณค่าอย่างใหม่ในการดำเนินชีวิต เช่น เครือข่ายตลาดสีเขียว ที่ริเริ่มในกรุงเทพมหานครในปี 2549 ซึ่งเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงและขยายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคในรูปแบบการตลาดสีเขียว และส่งเสริม สนับสนุนสินค้า ผลิตภัณฑ์สีเขียว บริการทั้งจากผู้ประกอบการสีเขียวและชุมชน
          นางวัลลภา เล่าต่อไปว่า เมื่อสังคมเกิดวิกฤติทางอาหาร ที่นำไปสู่ความไม่ปลอดภัย โดยพืชผักผลไม้นั้นมีการปนเปื้อนสารเคมีจากยากำจัดศัตรูพืชเกษตรกรเองก็ไม่ได้อยากใช้สารเคมีเหล่านั้น แต่เนื่องจากพืชเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรต้องปลูกอย่างรวดเร็ว และเฝ้าระวังศัตรูพืช โดยใช้สารเคมี ผู้บริโภคเองก็พบสารเคมีปนเปื้อนในร่างกาย และเมื่อหลีกเลี่ยงการกินผักและผลไม้เพราะกลัวความไม่ปลอดภัยจากสารเคมีก็เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมา สวนเงินมีมาจึงหาช่องทางเพื่อให้คนไทยเข้าถึงผักผลไม้ที่ปลอดภัย โดยมีระบบสมาชิก ตลาดนัดสีเขียว ผลผลิตเข้าครัว เครือข่ายร้านกรีน งานอีเวนต์ รับจัดเลี้ยง และกรีนแฟร์
          นอกจากนี้หลายหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มต่างๆ เห็นถึงความสำคัญเรื่องการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัย จึงตั้งตลาดกลางเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น1.ในซูเปอร์มาร์เก็ต กรีนซูเปอร์มาร์เก็ต เลม่อนฟาร์ม 2.ตลาดนัดสีเขียว และตลาดฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต ที่มีจัดขึ้นหลายที่ 3. รูปแบบที่เชื่อมตรงถึงแหล่งผลิตเป็นการทำการตลาดทางสังคมCSAหรือCommunity Supported Agricultureคือระบบที่เกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชน มีรูปแบบคล้ายระบบสมาชิก ที่ผู้บริโภคยินดีร่วมเป็นหุ้นส่วนกับเกษตรกรผู้ผลิต เป็นหลักประกันซึ่งกันและกัน ให้หลักประกันในการปลูกผักอินทรีย์ให้หลักประกันราคาที่เป็นธรรม
          "แค่เรารู้จักเกษตรกรที่ไว้ใจได้เพียง 1 คน ก็ทำให้เราสามารถกินผักอินทรีย์ ไปได้ตลอดชีวิตปัจจุบันมีระบบสมาชิกCSAในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่จัดส่งผักผลไม้ปลอดภัยให้ถึงบ้านสมาชิก คือ 1.โครงการผักประสานใจ โดยเกษตรกรบ้านป่าคู้ล่าง อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรีซึ่งรวมกลุ่มกันปลูกผักอินทรีย์ ส่งตรงถึง 2.ตะกร้าปันผัก ซ.ราษฎร์บูรณะ30โดยรวบรวมผักจากเกษตรกรกลุ่มต่างๆ เช่น มูลนิธิเอ็มโอเอจังหวัดนครราชสีมา,กลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น 3.กรีนพลัส กรีนแคเทอริ่ง ที่รวบรวมผักจากกลุ่มเกษตรกร ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี 4.บ้านผักกูดรวบรวมผักจากกลุ่มเกษตรกรในอำเภอบางกรวยและอำเภอไทรน้อยจังหวัดนนทบุรี" นางวัลลภา อธิบายเพิ่มเติม
          ขณะที่ แหล่งจัดจำหน่ายการค้าปลีกอย่าง บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทลจำกัด หรือท็อปส์ (TOPs) โดยนางอารียา เผ่าเหลืองทอง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายประกันคุณภาพให้ความมั่นใจเรื่องระบบผักผลไม้ปลอดภัยว่า เรื่องของอาหารปลอดภัยท็อปส์ ทำงานมามากกว่า10ปี โดยควบคุมกำกับดูแลผักผลไม้ปลอดภัยให้ผู้บริโภค ตั้งแต่การติดต่อฟาร์มหรือเกษตรกรที่มีผลผลิตที่มีมาตรฐานปลอดภัย มีระบบการตรวจสอบเกษตรกรแต่ละรายได้ การแพ็คสินค้าที่มีมาตรฐานปลอดภัย ตรวจสอบได้ มีศูนย์กระจายสินค้าอาหารสด การประกันคุณภาพหน้าร้านที่ตรวจสอบสินค้าก่อนส่งตรงถึงลูกค้าอย่างปลอดภัยแน่นอน
          ด้านฟากฝั่งตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ อย่างตลาดศรีเมือง จ.ราชุบรีนายกฤช รังสิเสนา ณอยุธยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการตลาดศรีเมือง เล่าให้ฟังว่า ในปี 2537 ตลาดศรีเมืองได้พัฒนาตลาดที่เกิดการซื้อขายอย่างชัดเจนจากที่เป็นการซื้อขายปกติ ทั้งในการค้าส่งผักผลไม้ ลานเกษตรอาหารค้าปลีก จัดการระบบภายในจนเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและผู้บริโภค ตลาดศรีเมืองจึงขยับขยายพื้นที่ เป็น 75 ไร่ จากพื้นที่เดิม 25 ไร่ มีผักเข้าตลาดวันละ 1-2 พันตันผลไม้ 600-800 ตัน ทำให้เกิดการหมุนเวียนการค้าระหว่างเกษตรกรผู้ค้าขาย จนเป็นตลาดกลางแห่งที่ 19 ของประเทศ ยุทธศาสตร์อาหารปลอดภัยของตลาด คือ ผลผลิตทางการเกษตรที่นำมาจำหน่ายในตลาดศรีเมืองต้องปลอดจากสารพิษ โดยจัดตั้งฝ่ายพัฒนาการผลิตขึ้นเพื่อขับเคลื่อนงานด้านนี้เป็นหลัก สนับสนุนองค์ความรู้ให้เกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยพร้อมกับการตรวจสอบย้อนกลับไปยังเกษตรกรรายนั้นๆ ได้ ปัจจุบันผลการดำเนินงานตรวจวิเคราะห์สาร เคมีตกค้างในผลผลิตและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรภาพรวมทุกพื้นที่ในตลาดศรีเมืองพบไม่ถึง 0.1% จากเดิม 40%ของตัวอย่างที่เก็บตรวจวิเคราะห์ทุกวัน

 pageview  1204512    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved