Follow us      
  
  

สยามรัฐ [ วันที่ 30/01/2558 ]
เมื่อสิ่งแปลกปลอมติดในลำคอ
โดยปกติเมื่อรับประทานอาหาร อาหารที่ถูกบดเคี้ยวด้วยฟันในช่องปากจะผ่านการคลุกเคล้าด้วยลิ้น หลังจากนั้นอาหารจะถูกกลืนผ่านคอหอย ไปยังหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารตามลำดับสิ่งแปลกปลอม เช่น ก้างปลา เศษกระดูก เม็ดข้าว เมล็ดน้อยหน่าลูกปัด สตางค์ เหล็ก เศษของเล่น หรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ที่รับประทานสามารถติดได้ทั้งทางเดินอาหาร ตั้งแต่โคนลิ้น ต่อมทอนซิล ฝาปิดกล่องเสียง หลอดอาหารช่วงในคอ หลอดอาหารช่วงที่อยู่ในช่องหน้าอกและกระเพาะอาหาร นอกจากนี้  สิ่งแปลกปลอมยังสามารถติดที่ทางเดินหายใจได้ เนื่องจากมีช่องร่วมกับทางเดินอาหารบริเวณคอซึ่งฝาปิดกล่องเสียงและกล่องเสียงอยู่ชิดทางด้านหน้าของหลอดอาหาร
          Q  สาเหตุหลักที่ทำให้สิ่งแปลกปลอมติดในช่องลำคอ
          A. ในภาวะปกติร่างกายมีการป้องกันไม่ให้อาหารตกลงไปในกล่องเสียงและหลอดลม โดยมีกลไกป้องกัน คือ เวลากลืนอาหารกล่องเสียงจะถูกยกขึ้นมาชิดกับฝาปิดกล่องเสียงพร้อมกับมีการกลั้นหายใจ ระหว่างรับประทานอาหารหากมีการพูด หัวเราะ สะอึก ไอ หรือจามในขณะที่มีอาหารอยู่ในปาก เป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดการสำลักเศษอาหารตามมาได้ ส่งผลให้ฝาปิดกล่องเสียงเปิดพร้อมกับการหายใจเข้าอย่างแรงอาจพาเอาสิ่งแปลกปลอมเข้ากล่องเสียง ติดในกล่องเสียงหลอดลม หรือในปอดได้ ในบางรายถ้าเกิดอย่างเฉียบพลันร่วมกับสิ่งแปลกปลอมขนาดใหญ่อุดทางเดินหายใจอาจทำให้ขาดอากาศเป็นเจ้าหญิงนิทรา หรือเสียชีวิตได้
          Q กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
          A สิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่ติดคอในส่วนทางเดินอาหาร หรือทางเดินหายใจ สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงสูงวัย หากไม่ระมัดระวังในการรับประทานอาหารโดยพบว่ากลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่าห้าขวบอาจเกิดขณะรับประทานอาหาร หรือพฤติกรรมความซุกซนตามวัยจากการหยิบของเข้าปากโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ส่วนผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวและการกลืนอาหารก็อาจมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดในช่องลำคอ หรือในส่วนที่ลึกกว่านั้นได้
          Q. อาการที่แสดงเมื่อสิ่งแปลกปลอมติดในช่องลำคอA. อาการแสดงของสิ่งแปลกปลอมขึ้นกับชนิดและลักษณะของสิ่งแปลกปลอม ว่ามีความแหลมคมหรือไม่ อายุของผู้ป่วย และตำแหน่งที่ติด เมื่อสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดที่คอและทางเดินอาหารจะมีอาการเจ็บคอ ลักษณะเจ็บแบบแปลบๆ และจะเริ่มมีอาการมากขึ้นเวลากลืนหรือพูด บางรายมีการเจ็บตลอดเวลา บางครั้งถ้าสิ่งแปลกปลอมชิ้นใหญ่อาจขวางการกลืน มีน้ำลายออกมาก หรืออาเจียนหลังกลืนอาหาร บางรายเจ็บบริเวณหน้าอก ถ้าสิ่งแปลกปลอมติดที่กล่องเสียง จะมีอาการเจ็บคอ ไอ เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงดังถ้าสิ่งแปลกปลอมมีขนาดใหญ่อาจอุดกั้นทำให้หายใจไม่ออก ทุรนทุรายหอบ ตัวเขียว ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีได้ ในกรณีติดที่หลอดลม จะมีอาการไอ หายใจเสียงดังหายใจลำบากหอบเหนื่อยได้ การวินิจฉัยอาศัยจากประวัติและตรวจร่างกาย ถ้าติดที่โคนลิ้น ต่อมทอนซิลและในคอหอย จะเห็นได้โดยวิธีการตรวจทั่วไป แต่บางรายตรวจด้วยวิธีธรรมดาไม่พบเพราะสิ่งแปลกปลอมติดลึก อาจต้องทำการเอกซเรย์ร่วมด้วย และต้องพิจารณาตรวจโดยการส่องกล้องที่กล่องเสียง หลอดลม หรือหลอดอาหาร
          Q. อันตรายที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
          A. การที่สิ่งแปลกปลอมติดในช่องลำคอ พบอันตรายโดยตรงจากสิ่งแปลกปลอมทิ่มแทง ตำ เนื้อเยื่อในช่องลำคอ อาจทำให้เจ็บเลือดออก ขวางการกลืน ถ้าเป็นทางเดินหายใจ อาจรุนแรงจนขาดอากาศและเสียชีวิตได้ มีรายงานพบว่า ก้างปลาขนาดใหญ่ติดลึกไปทิ่มแทงหลอดเลือดใหญ่ (Carotid) ได้ ในผู้ป่วยบางรายถ้าสิ่งแปลกปลอมไม่หลุดเอง หรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เช่นติดที่หลอดอาหารเป็นเวลานาน อาจทำให้หลอดอาหารอักเสบจนทะลุได้ ถ้าติดบริเวณทางเดินหายใจและไม่ได้รับการรักษา บางรายอาจไอมีเสมหะปนเลือดหรือหนอง ในรายที่ติดนานๆ พบโรคแทรกซ้อน คือ อาการของโรคปอดบวม ปอดแฟบ ฝีในปอด หนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด ฝีหรือหนองในเมดิแอสทินัม (mediastinum) ได้
          Q. วิธีการรักษา
          A.การรักษาทำได้โดยการคีบเอาสิ่งแปลกปลอมที่ติดตามที่ต่างๆ ออก ในกรณีที่สิ่งแปลกปลอมติดในคอตำแหน่งที่ไม่ลึกส่วนใหญ่สามารถคีบออกได้ โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ แต่หากติดในตำแหน่งที่ลึก เช่น ที่กล่องเสียงหลอดลม หรือหลอดอาหารสามารถตรวจเพื่อหาตำแหน่งของสิ่งแปลกปลอมโดยการส่องกล้องและคีบสิ่งแปลกปลอมออกโดยใส่กล้องผ่านทางช่องปากแล้วคีบออกได้โดยตรง มีผู้ป่วยส่วนน้อย(ร้อยละ1-5) ที่ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเอาออก สิ่งแปลกปลอมที่หลุดจากหลอดอาหารเข้าในกระเพาะอาหารแล้ว จะขับถ่ายออกมาเอง โดยไม่ต้องคีบออก ยกเว้นในบางรายที่สิ่งแปลกปลอมแหลมคมแล้วเกิดการทิ่มทะลุกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ แพทย์จะพิจารณาการรักษาโดยการผ่าตัดเอาออกทางหน้าท้อง
          Q. การป้องกัน และดูแลตัวเอง
          A. การป้องกัน เริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมอาหาร ควรตรวจดูสิ่งแปลกปลอมที่ปะปนมากับอาหาร ทั้งจากเศษหิน กระดูก ก้างก่อนปรุง ขณะรับประทานก็ควรเพิ่มความระมัดระวัง เช่น อาหารที่มีเศษกระดูก เปลือกไข่ เนื้อแข็งๆ หรือ ก้างปลา ด้วยการเคี้ยวอาหาร ให้ละเอียดก่อนกลืน หลีกเลี่ยงการพูด หัวเราะ ในเด็กเล็กควรสอนไม่ให้หยิบสิ่งของเข้าปาก เลือกอาหารที่เคี้ยวง่ายไม่มีเศษกระดูก ก้าง และไม่ควรวางของที่เด็กจะหยิบเข้าปากง่าย เช่นเมล็ดพืช ผลไม้ต่างๆ ลูกปัด เหรียญ สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันควรจะรับประทานอาหารที่เคี้ยวได้ง่าย รวมถึงระมัดระวังฟันปลอมหลุด เพียงหันมาใส่ใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ก็จะลดโอกาสของภาวะเสี่ยงต่างๆ ได้
          นายแพทย์ ธนาวุฑฒ์ โสภักดี แพทย์เฉพาะทาง หู คอ จมูก
          โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล พหลโยธิน
 pageview  1205090    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved