Follow us      
  
  

โลกวันนี้ [ วันที่ 12/09/2557 ]
ปัญหาสุขภาพจิตของคนไทย
นพ.อุดม เพชรสังหาร
          editor@LokWanNee.com
          การฆ่าตัวตายของโรบิน วิล เลียมส์ ทำให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพจิตกันมากขึ้น วาร สารเกี่ยวกับสุขภาพชั้นนำของโลกหลายฉบับ เว็บไซต์ด้านสุขภาพหลายต่อหลายเว็บไซต์ ต่างพูดถึงเรื่องนี้กัน แม้ตัวจะจากไปแต่โรบิน วิลเลียมส์ ก็ได้สร้างคุณูปการทิ้งไว้ให้คนข้างหลังเยอะทีเดียว
          แต่มันจะเป็น NATO หรือ No Action, Talk Only หรือเปล่าก็ต้องตามดูกันต่อไป
          ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่อง ที่คนมองข้ามมาตลอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความที่มันจับต้องได้ยาก ไม่เหมือนการเจ็บป่วยอย่างอื่นที่มีอาการเจ็บป่วย มีความพิการให้เห็นชัดเจน คนก็เลยไม่สนใจกัน
          อีกอย่างคนมักจะมองปัญหาสุขภาพจิตไปในทางที่ไม่ค่อยดี เลยทำให้คนที่มีปัญหาไม่ค่อยกล้าเปิดเผยตัวเอง เมื่อไม่เปิดเผยตัวคนก็ไม่รู้ว่ามีคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลืออยู่
          ความเสียหายที่เกิดจากปัญหาสุขภาพจิตในแต่ละปีคิดเป็นเงินไม่ใช่น้อยๆนะครับ ในสหรัฐอเมริกาเฉพาะแค่ปัญหาโรคซึมเศร้าอย่างเดียว เขาคำนวณตัวเลขเอาไว้ แต่ละปีคนที่ป่วยด้วยโรคนี้ทำงานไม่ได้ถึง 200 วันทำงาน คิดเป็นความสูญเสียถึงปีละ 30,000 ล้านเหรียญเลยทีเดียว ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ใช่น้อยๆ นี่ขนาดยังไม่นับรวมปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ เข้าไปด้วย
          บ้านเราเองก็ไม่น่าจะต่างจากสหรัฐ เพราะฉะนั้นต้องใส่ใจเรื่องนี้กันให้มากแล้ว จะทำเป็นไม่ใส่ใจหรือทำแบบขอไปทีคงไม่ได้อีกแล้ว
          การจัดการกับปัญหานี้ต้องทำทั้งเรื่องการป้องกันและการรักษา แต่ในที่นี้จะขอพูดเฉพาะเรื่องการป้องกันเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่คนธรรมดา ก็สามารถทำได้ ไม่ต้องเป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ส่วนเรื่องการรักษาคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเฉพาะทางว่ากันเอง
          ปัญหาที่เราต้องใส่ใจและช่วยกันทำมีอยู่ 4 เรื่องครับ
          เรื่องแรก คือ "สุขภาพจิตเด็ก" เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเป็นรากฐานชีวิตของมนุษย์ ถ้าเด็กเติบโตไปพร้อมกับสุขภาพจิตที่ดี รับรองในอนา คตเราไม่ต้องเหนื่อย เพราะเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์อยู่แล้ว แต่ปัญหาของเราก็คือ เราไม่ใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตเด็ก เราสนใจแต่เรื่องความสามารถของเด็ก
          เด็กของเราจึงต้องเรียนหนังสือกันตั้งแต่ตัวเล็กๆ และต้องเรียนให้เยอะๆ จะได้เก่งๆ สอบได้คะแนนสูงๆ เด็กของเราจึงเครียด ยิ่งโตก็ยิ่งเครียด แต่เราไม่ใส่ใจเรื่องความเครียดของ เด็ก ถ้ามีการสำรวจกันจริงๆ จังๆ ผมว่าเด็กไทยจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญกับปัญหาความ เครียดเรื้อรังกันอยู่
          ความเครียดเรื้อรังนี่เป็นอันตรายมากครับ งานวิจัยใหม่ๆสรุปชัดเจนว่าทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการติดยา พฤติกรรมก้าวร้าว ปัญหาเรื่องเพศ ปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ปัญหาการทำงาน การ ใช้ชีวิต และปัญหาสุขภาพ ทั้งยังส่งผลต่อชีวิตของเด็กคนนั้นตลอดทั้งชีวิตเลยทีเดียว
          เรากังวลเรื่องการศึกษาของเด็กมาก และพยายามเคี่ยวเข็ญเด็กทุกวิถีทาง แต่สิ่งที่ได้ก็คือ คนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต แล้วมันคุ้มหรือ
          ที่สำคัญคนที่เครียดน่ะยังไงก็เรียนหนังสือไม่ได้ดี เพราะสมองที่เครียดจะเรียนรู้ได้น้อย ข้อมูลก็มีให้เห็นอยู่ตลอดแล้วว่าเด็กของเราเรียนหนังสือเยอะ มาก แต่สู้เด็กชาติอื่นที่เขาเรียนในห้องเรียนน้อยกว่าเราไม่ได้
          ทำอย่างไรเด็กของเราจึงจะไม่เครียด ต้องเป็นนโยบายใหญ่แล้วล่ะครับ
          เรื่องที่สอง คือ "การป้องกันปัญหายาเสพติด" เราแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดด้วยวิธีการแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มานานมากแล้ว แต่ก็ไม่ดีขึ้นเลยสักที มาคิดใหม่ทำใหม่กันดีมั้ยครับ ผมเขียนไปหลายครั้งแล้วว่าตอนนี้มีคนพบว่าปัญหายาเสพติดไม่ใช่เรื่องของคนไม่ดี แต่เป็นความผิดปรกติของยีนและสมองที่เขาเรียกกันว่า "Re ward Deficiency Syn drome" ดังนั้น การแก้ไขด้วยการอบรมให้เด็กเป็นคนดีจึงแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่ใช่จุดที่เป็นสาเหตุ
          ขณะนี้เรามีความสามารถ ที่จะพิสูจน์ว่าเด็กของเราที่ติดยาเกิดจากปัญหาเรื่อง "Reward Deficiency Syndrome" หรือเปล่า เพราะฉะนั้นต้องพิสูจน์แล้วล่ะ จะได้แก้ปัญหาให้ตรงจุดเสียที และยังจะได้เข้าใจสา เหตุของปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆอีกด้วย เพราะ "Reward Deficiency Syndrome" เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตหลายเรื่อง การพิสูจน์จะช่วยให้การทำงานเรื่องยาเสพติดของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น
          เรื่องที่สาม คือ "ปัญหาเรื่องความเครียด" ที่ผ่านมาเรามองเรื่องความเครียดเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ไม่ได้ใส่ใจอะไรเป็นพิเศษ อย่างมากก็แค่บอกว่าทำให้สุขภาพเราเสื่อมลง แต่หลังจากที่ความรู้เรื่อง "สารเทโลเมียร์" มีความชัดเจนเป็นที่ยอมรับจนถึงขั้นได้รับรางวัลโนเบล ความเครียดกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่เอามากๆเลยทีเดียว เพราะมันคือสาเหตุของโรค อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มะเร็ง สมองเสื่อม ฯลฯ เรียกได้ว่าบรรดาโรคไม่ติดต่อทั้งหลายที่คนไทยเป็นกันอยู่ทุกวันนี้มาจากความ เครียดนี่แหละ ถ้าจัดการกับความเครียดได้เราก็ป้องกันโรคเหล่านี้ได้ เราจึงต้องใส่ใจกับเรื่องความเครียดจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่
          ทำอย่างไรคนไทยจึงจะไม่เครียด ต้องมีอะไรที่มากกว่า "การแสดงดนตรีเพื่อคืนความสุข" แล้วล่ะ
          เรื่องสุดท้าย คือ "สุข ภาพจิตผู้สูงอายุ"
          เอาเข้าจริงๆ ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาวะทั้งหมดของผู้สูงอายุคือเรื่องความเหงาครับ เพราะ ความเหงาบั่นทอนทุกอย่าง แม้กระทั่งอายุขัยของผู้สูงอายุเลยทีเดียว ถ้าแก้เรื่องความเหงานี้ได้ สิ่งดีๆทั้งหลายจะตามมาเอง ทำอย่างไรผู้สูงอายุของเราจึงจะไม่เหงาคือโจทย์ที่ต้องคิดเพื่อหาทางออก และต้องมีความหลากหลายอีกด้วย ไม่ใช่โมเดลเดียวทำทั้งประเทศ
          กิจกรรมอะไรที่ทำให้ผู้สูงอายุได้รวมตัวกันอย่างมีความสุข ได้สนุก และทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าทำเลยครับ แล้วเราก็จะได้ผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี แถมเผลอๆอาจได้คนที่มีศักยภาพ คนที่มีผลิตภาพ (Pro ductivity) กลับมาสร้างผลผลิตให้กับสังคมได้ใหม่อีกด้วย
          เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเห็นว่ารัฐมนตรีคนใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหมอทั้งคู่ เผื่อได้ยินไปถึงหูและเก็บเอาไปเป็นนโยบายมั่ง เพราะบางเรื่องที่กระทรวงสาธารณ สุขกำลังทำกันอยู่นั้น หลายประเทศเขาเลิกทำเลิกคิดแบบนั้นกันแล้ว
          เห็นพูดกันนักว่า "งวดนี้ต้องไม่เสียของ"
          "ความเครียดเรื้อรังเป็นอันตรายมาก  งานวิจัยใหม่ๆสรุปว่า ทำให้เกิดปัญหาติดยา พฤติกรรมก้าวร้าว ปัญหาเรื่องเพศ การทำงาน ทั้งยังส่งผลต่อชีวิตของเด็กคนนั้นตลอดทั้งชีวิต"
 pageview  1205145    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved