Follow us      
  
  

โลกวันนี้ [ วันที่ 13/12/2556 ]
หยุดหายใจขณะหลับ-กรดไหลย้อน
 รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
          www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl
          โรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea syndrome : OSAS) และโรคกรดไหลย้อน (gastroeso phageal reflux disease : GERD) มีความสัมพันธ์กัน โดยพยาธิสรีรวิทยาของทั้ง 2 โรคนี้เกี่ยวข้องกับการอุดกั้นทางเดินหายใจ การอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ และโรคอ้วน ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุบัติการณ์ของทั้ง 2 โรคนี้และโรคอ้วนได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งโรคอ้วนนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคทั้งสองนี้
          โรค OSAS และ GERD มักพบร่วมกัน โดยพบอุบัติการณ์ของโรค GERD ในผู้ป่วย OSAS สูงกว่าในคนปรกติมาก จากการศึกษาพบว่า การอัก เสบของกล่องเสียงที่เกิดจากโรค GERD มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค OSAS กล่าวคือ ยิ่งความรุนแรงของโรค OSAS มากก็จะพบการอักเสบของกล่องเสียงมาก
          ช่วงขณะนอนหลับทำให้อัตราเสี่ยงของการไหลย้อนกลับของกรดมากขึ้น เนื่องจากขณะหลับมีการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารในการกำจัดกรดและอาหารน้อยลง รวมทั้งมีการสร้างน้ำลายน้อยลง ขณะที่ผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ผู้ป่วยจะพยายามหายใจเข้าเพื่อเอาชนะทางเดินหายใจส่วนบนที่ตีบแคบ ทำให้เกิดความดันเป็นลบขึ้นในทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งความดันที่เป็นลบดังกล่าวจะทำให้กรดในกระ เพาะอาหารและหลอดอาหารไหลย้อนขึ้นมาในทางเดินหายใจส่วนบนได้ง่ายขึ้น
          นอกจากนั้นช่วงที่ผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะมีการเพิ่มของความดันในช่องอกและช่องท้องเพิ่มขึ้น ทำให้มีความแตกต่างของความดันบริเวณกระบังลมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมให้มีการเคลื่อนตัวของกรดจากกระเพาะอาหารขึ้นมายังหลอดอาหารง่ายขึ้น การเปลี่ยนแปลงของความดันดังกล่าวที่เกิดขึ้นซ้ำๆเป็นระยะเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างมีการคลายตัวมากขึ้น ทำให้มีการไหลย้อนของกรดมากขึ้น
          กรดที่ไหลย้อนขึ้นมาจะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนบวม ทำให้มีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบนเพิ่มขึ้น และทำให้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น
          โรคอ้วน (น้ำหนักตัวที่เพิ่มหรือเกินค่าปรกติ) จะทำให้มีไขมันมาพอกรอบคอหรือทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ช่องคอส่วนต้นหรือทางเดินหายใจส่วนบนแคบลง ทำให้โรค OSAS เป็นมากขึ้น นอกจากนั้นโรคอ้วนทำให้ผู้ป่วยมีความดันภาย ในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น และการเคลื่อนตัวของหลอดอาหารในการกำจัดกรดน้อยลง ผู้ป่วยโรคอ้วนบางรายจะมีไส้เลื่อนกระบังลมร่วมด้วย ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะทำให้กรดมีโอ กาสไหลย้อนขึ้นไปในทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น และพบว่าเมื่อผู้ป่วยลดน้ำหนักลงจะช่วยลดไขมันดังกล่าว ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น และลดความดันภายในช่องท้องลง ทำให้อาการของ OSAS และ GERD ดีขึ้น
          จะเห็นได้ว่าโรค OSAS และ GERD มีความสัม พันธ์ซึ่งกันและกัน และพบร่วมกันได้บ่อย โดยโรค OSAS ทำให้โรค GERD แย่ลง และโรค GERD ทำให้โรค OSAS แย่ลง นอกจากนั้นเมื่อให้ การรักษาโรค GERD ก็จะทำให้โรค OSAS ดีขึ้น และให้การรักษาโรค OSAS แล้วก็จะทำให้โรค GERD ดีขึ้น
          ดังนั้น ควรซักถามผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนว่ามีอาการนอนกรนและ/หรือหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือไม่เสมอ และควรซักถามผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรนและ/หรือหยุดหายใจขณะหลับว่ามีอาการของโรคกรดไหลย้อนร่วมด้วยหรือไม่เช่นกัน
 pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved