Follow us      
  
  

พิมพ์ไทย [ วันที่ 14/11/2556 ]
ปวดท้อง...อาการที่ไม่ควรมองข้าม

 

   พญ.พอหทัย พิทักษ์พงศ์ศิริ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหารและโรคตับ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า มะเร็งเป็นโรคที่มีระยะเวลาการก่อโรคยาวนาน ใช้เวลาหลายปีกว่าจะปรากฏอาการผิดปกติ ผู้ที่เป็นส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัว ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป และทานผักผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารน้อยทำให้เกิดอาการท้องผูกท้องเสียบ่อยๆ เป็นระยะเวลานาน มีประวัติเคยตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่หรือเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีคนในครอบครัวมีติ่งเนื้อหรือเป็นมะเร็งในลำไส้ใหญ่มาก่อน มีภาวะลำไส้อักเสบ พบอาการปวดท้อง ท้องผูก ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด มีอาการซีดอ่อนเพลียมีภาวะเลือดออกจากก้อนมะเร็ง คลำพบก้อนบริเวณหน้าท้อง ซึ่งบางรายหากก้อนมีขนาดใหญ่มากก็อาจพบอาการลำไส้อุดตันทำให้ท้องอืดมากไม่ถ่ายไม่ผายลม เป็นต้น
          พญ.พอหทัย แนะนำว่า การตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่จึงเหมาะสมสำหรับผู้มีอายุระหว่าง 50-85 ปี ยกเว้นในรายที่มีปัจจัยเสี่ยงข้างต้นก็ควรจะเข้ารับการตรวจคัดกรองหาโรคแต่เนิ่นๆ แม้จะมีอายุไม่ถึง 50 ปีก็ตาม ขึ้นอยู่กับภาวะร่างกายของแต่ละบุคคล
          การแพทย์ปัจจุบันมีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่หลายแบบ วิธีเบื้องต้นง่ายๆ ที่ทำได้ทุกปีคือการตรวจเลือดที่แฝงในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test) การตรวจหาดีเอ็นเอในอุจจาระแต่วิธีนี้มีราคาสูงและไม่เป็นที่แพร่พลายนักเพราะยังไม่มีแนวทางการนำไปใช้ที่ชัดเจน การส่องกล้องซิกมอยด์(Sigmoidoscopy) ตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลายซึ่งสามารถตัดนิ่งเนื้อไปตรวจด้วยได้ แต่มีข้อเสียคือไม่สามารถตรวจได้ตลอดความยาวของลำไส้และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ วิธีต่อมาคือการสวนแบเรียม (Double Contrast Barium Enema) แต่ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมกันแล้ว การตรวจเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT Colonoscopy) เป็นการเอ็กซเรย์ตัดภาพบริเวณลำตัวด้วยความละเอียดสูงแล้วนำมาประมวลเป็นภาพสามมิติ แต่มีข้อด้อยคือหากติ่งเนื้อให้ลำไส้มีขนาดเล็กจะตรวจพบยากและไม่สามารถตัดชิ้นเนื้อได้วิธีสุดท้ายคือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) แนะนำให้ตรวจทุกๆ10 ปี มีข้อดีคือดูได้ตลอดความยาวลำไส้และสามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจได้แต่วิธีนี้มีราคาค่อนข้างสูง
          "ปวดท้องเป็นอาการที่ไม่ควรละเลย คิดเอาว่าเดี๋ยวก็หายไปเอง แต่ควรหมั่นสังเกตตำแหน่งและอาการที่เป็น หากปวดถี่และปวดมากควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที และหากปวดท้องด้านบนฝั่งขวามีความเป็นไปได้ที่ท่อน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน เกิดนิ่วในถุงน้ำดีหรือถุงน้ำดีอักเสบ เป็นเนื้องอกหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากปวดท้องด้านล่างฝั่งขวาอาจเป็นเพราะนิ่วในท่อไต กรวยไตอักเสบ หรือไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน หากปวดท้องด้านบนช่วงกลาง/ฝั่งซ้ายมีความเป็นไปได้ที่ตับอ่อนอักเสบหรือกระเพาะอาหารทะลุหากปวดท้องด้านล่างช่วงกลาง/ฝั่งซ้ายให้ระวังกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นนิ่วในท่อไต หรืออาจมีการอาการอักเสบติดเชื้อในมดลูกและรังไข่" พญ.พอหทัย กล่าว
 pageview  1205399    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved