Follow us      
  
  

พิมพ์ไทย [ วันที่ 14/11/2556 ]
จิตแพทย์รพ.เด็ก ชี้ความรุนแรงมีผลต่อการพัฒนาการของเด็ก

 

  ความรุนแรงในครอบครัวหรือสังคม คนเรามักเข้าใจผิดคนที่ก่อเรื่องว่าเป็นตัวปัญหา แต่จริงๆ แล้ว ปัญหาเกิดจากความไม่เข้าใจกัน ไม่สามารถสื่อสารบอกความต้องการกันจนไม่สามารถจัดการปัญหาระหว่างคน 2 ฝ่ายได้ในละครเรื่อง"ทองเนื้อเก้า" เมื่อพระนางเรื่องนี้เริ่มเห็นว่าตนเองมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน ถ้าทางพระคงต้องบอกว่า ศีลไม่เสมอกัน ทำให้แต่ละฝ่ายต่างอยากเปลี่ยนอีกฝ่ายให้เป็นไปอย่างใจหวัง จนทำให้เกิดอารมณ์โกรธ ผิดหวังกล่าวโทษกันและกัน จนความหวานชื่นในชีวิตค่อยๆ หมดไป เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดแตกหัก
          พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(รพ.เด็ก)กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นว่า  ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นของพ่อแม่ทำให้เด็กไม่มีตัวอย่างดีๆ ในการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น  อาจดูได้จากละครทองเนื้อเก้า หาก วันเฉลิม ไม่มีหลวงตาที่คอยสอน ไม่มีปู่ย่าหรือพ่อที่ดี ไม่มีแม่เลี้ยงพี่เลี้ยงหรือคุณยายข้างบ้านที่มีจิตเมตตาอาจทำให้เข้ากับผู้อื่นไม่ได้หรือกลายเป็นคนที่เคร่งเครียด ซึมเศร้า หรืออาจมีพฤติกรรมเกเร ทำสิ่งผิดกฎหมายเหมือนน้าชายทั้งสองคน เมื่อมองย้อนกลับไป หากพ่อของวันเฉลิม เข้มแข็งมากกว่านี้ ปกป้องสิทธิของลูกที่ควรได้รับการดูแลปกป้องคุ้มครอง ให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเขา ตั้งแต่ยังเล็ก พยายามเรียกร้องทางกฎหมายเพื่อให้ได้สิทธิในการดูแลลูกไม่ปล่อยให้ลูกไปอยู่กับแม่ที่มีความรุนแรงกับลูกและไม่ใส่ใจลูก แม่ที่ไม่สามารถดูแลหรือจัดการชีวิตตนเองได้ จะทำให้ดช.วันเฉลิม สามารถแยกจากแม่ได้อย่างเหมาะสมและสามารถพัฒนาตนเองต่อได้โดยไม่รู้สึกผิด
          พญ.ปราณี ให้ข้อคิดว่าเด็กหลายคนอาจไม่โชคดีเหมือนวันเฉลิมตอนจบ ครอบครัวจึงควรสร้าง"บ้านปลอดความรุนแรง" โดยเริ่มจากการสื่อสารที่ดี สร้างความไว้วางใจกันและกัน ฝึกการจัดการข้อขัดแย้ง โดยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ยังควรฝึกทักษะการฟังที่ดี โดยไม่ตัดสินถูกผิด เนื่องจากการฟังที่ดีจะทำให้ผู้เล่ารู้สึกไว้วางใจและยอมเปิดเผยความรู้สึกต่อสิ่งที่เขากำลังเผชิญ
          อาการทางกาย : มักเป็นผลต่อเนื่องจากความรู้สึกสิ้นหวัง ซึมเศร้าจนทำให้เด็กมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง การทำงานของระบบทางเดินอาหารปั่นป่วน หงุดหงิดง่าย สมาธิไม่ดี เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง อาจหลับในห้องเรียนเพราะอดนอนที่บ้าน สุขอนามัยเด็กกลุ่มนี้มักไม่ดี เด็กหลายคนมักโดนลูกหลงจากการที่พ่อแม่ทะเลาะหรือทำร้ายกัน วัยทารกมักเลี้ยงยาก ร้องไห้งอแง ปลอบยาก เนื่องจากขาดความผูกพันทางอารมณ์หรือทางกายต่อผู้เลี้ยงดูทำให้พัฒนาการล่าช้าได้
          เด็กโต มักแยกตัว เงียบ หรืออาจมีพฤติกรรมถดถอย อ้อนหรืออาละวาด ก้าวร้าวอาจมีความวิตกกังวล กลัวถูกทิ้ง ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกผิด โทษตัวเองเรื่อยๆ หรือหวาดผวาง่าย ตกใจกลัวเสียงเล็กๆ น้อยๆ ฝันร้าย นอนไม่หลับ เด็กหลายรายอาจมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งสุขนิสัยการกิน การนอนหรือการขับถ่าย ฝันร้าย ปัสสาวะรดที่นอน ไม่ไว้วางใจผู้ใหญ่หรือคนอื่นๆ ทำให้สร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ยาก
          วัยรุ่นอาจมีปัญหาการเรียนไม่ดี หรือติดสารเสพติด มักแก้ปัญหาโดยความก้าวร้าว โทษคนอื่นและอาจหนีออกจากบ้าน เด็กมักรู้สึกตนเองหมดหนทาง ไม่มีพลังอำนาจ ในเด็กหญิงมักเก็บกดและซึมเศร้า แต่เด็กชายมักแสดงความก้าวร้าว การสัมผัสความรุนแรงในบ้านทำให้เด็กรับรู้ว่าในโลกนี้ไม่มีความปลอดภัยและตัวเขาเองไม่มีคุณค่าพอที่จะได้รับการปกป้องให้ปลอดภัย นำไปสู่อารมณ์โกรธหรือซึมเศร้า
          เด็กที่ตกอยู่ท่ามกลางความรุนแรง จะรับรู้ถึงความไม่ปลอดภัยและไม่มั่นคงในชีวิตตนเอง นอกจากนี้เด็กมักชาชินกับความรุนแรง ทำให้เลียนแบบความก้าวร้าว คุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ ไม่ไว้วางใจผู้อื่น บางคนอาจเข้าร่วมกลุ่มที่ก้าวร้าวเกเรเด็กเล็กที่เผชิญกับความก้าวร้าว มักไม่สามารถสร้างความรักความผูกพันกับผู้ดูแลได้ ตื่นเต้นตกใจง่ายและมักเก็บตัว ไม่ค่อยอยากรู้อยากเห็น ไม่ค่อยสนใจสิ่งแวดล้อม
          เด็กเตรียมอนุบาลหรือวัยอนุบาลจะยังไม่เข้าใจความหมายของการกระทำทารุณ ทำให้เด็กมักคิดว่าเกิดจากการที่ตนเองทำสิ่งใดผิด และเนื่องจากวัยนี้ยังไม่สามารถพูดบอกความรู้สึกของตนเองได้ชัดเจน ทำให้แสดงออกเป็นปัญหาพฤติกรรมแทน โดยมักแยกตัว เงียบ หรือแสดงพฤติกรรมถดถอย ขี้อ้อน ขาวีน เลี้ยงยาก มีปัญหาทั้งการกินหรือการนอน เช่นเลือกกินมาก ไม่อยากนอน ติดคนเลี้ยงมากกว่าปกติ
          ผลกระทบระยะยาว อาจทำให้เด็ก เรียนไม่จบ ท้องตั้งแต่วัยรุ่น ติดสารเสพติด ก่อปัญหาสังคมหรืออาจถึงขั้นซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย  เด็กแต่ละคนมีปฏิกิริยาต่อความรุนแรงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุ ความคิด ความรู้สึกความรุนแรงของเหตุการณ์ ความใกล้ชิดหรือความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ระยะเวลาที่เผชิญกับความรุนแรง ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้กระทำหรือผู้ที่ถูกกระทำ ควรเปิดโอกาสให้เด็กบอกเล่าถึงความกลัว ความรู้สึก โดยไม่ตัดสินเขาบอกให้เขาทราบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเขา พยายามให้เขามีโอกาสทำกิจกรรมตามวัยสอนให้เด็กหามุมปลอดภัยหรือมุมสงบสำหรับผ่อนคลายเมื่อเขาเกิดความรู้สึกท่วมท้นจากสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น มุมหนังสือสบายๆ มุมเงียบๆสำหรับฟังเพลง  พญ.ปราณี  กล่าวทิ้งท้าย
 pageview  1205171    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved