Follow us      
  
  

บ้านเมือง [ วันที่ 11/11/2556 ]
'ยาสำหรับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจ'
 โดย นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
          การใช้ยาในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เพื่อลดและป้องกันการเกิดอาการเจ็บหน้าอก หรือการลุกลามของโรคนั้น ผู้ป่วยควรทราบ
          1.ทำไมแพทย์ต้องให้ทานยาสม่ำเสมอ
          เพราะว่าร่างกายจำเป็นต้องมีปริมาณยาที่พอเหมาะต่อการออกฤทธิ์ ซึ่งการทานยาสม่ำเสมอนั้นจะสามารถทำให้ปริมาณยาที่อยู่ในร่างกายเพียงพอที่จะควบคุมได้ตลอดเวลา เช่น ทานยาวันละ 1 เม็ด ถ้าทานเวลาเช้า ยาก็จะออกฤทธิ์ไปถึงเช้าอีกวัน ซึ่งจะชนกับเวลาทานยาอีกครั้ง แต่ถ้าวันไหนมาทานยาตอนกลางวัน ปริมาณยาในร่างกายช่วงตั้งแต่เช้าจนถึงกลางวัน (ก่อนที่จะทานยาเม็ดใหม่) ก็อาจไม่เพียงพอที่จะควบคุมอาการได้ บางครั้งท่านอาจจะพบว่าท่านมักจะเกิดอาการเจ็บหน้าอกช่วงที่ท่านเลื่อนเวลาในการทานยาก็ได้
          2.ทำไมบางครั้งทานยาสม่ำเสมอก็แล้ว แต่ยังมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่อีก
          เพราะว่าอาการเจ็บหน้าอกเกิดจากร่างกายใช้พลังงานมากเกินกว่าปกติ ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ทัน หรือเกิดจากภาวะโรคเพิ่มมากขึ้น หรือท่านอาจมีการใช้ยานอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง แล้วยานั้นมีผลรบกวนต่อยาที่ท่านทานอยู่ ดังนั้น
          *ท่านควรสังเกตอาการ ความถี่ในการเกิดอาการเจ็บหน้าอกว่าพบบ่อยแค่ไหน และแจ้งแพทย์ทุกครั้งที่มาพบแพทย์
          *ถ้าจำเป็นต้องพบแพทย์ด้วยโรคอื่นหรือต้องซื้อยาทานเอง กรุณาแจ้งแพทย์และเภสัชกรว่าท่านทานยาอะไรอยู่บ้าง
          3.ถ้าเกิดอาการเจ็บหน้าอกควรทำอย่างไร
          ทุกท่านจะได้รับยาอมใต้ลิ้นที่ใช้รักษาอาการเจ็บหน้าอกแบบเฉียบพลัน ซึ่งยาจะมีลักษณะพิเศษคือแตกตัวและถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว ผลคือเส้นขยายตัวให้เลือดไหลผ่านได้ภาย 1-2 นาที ดังนั้นจึงควรระวังการล้มหรือวูบ ซึ่งวิธีในการอมยาอย่างปลอดภัยคือ
          1.นั่งลงบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงและเท้าแขน หากไม่มีก็ให้นั่งลงกับพื้น หลังพิงกำแพง ต้นไม้ หรือให้มีคนช่วยประคองหลัง
          2.นำยา 1 เม็ด ออกจากขวดบรรจุ แล้ววางไว้ใต้ลิ้น จากนั้นปิดปากและอมยาไว้โดยไม่กลืนน้ำลาย (ยาที่ออกฤทธิ์ควรจะรู้สึกซ่าหรือเฝื่อนๆ ขณะอมยา ถ้าท่านไม่รู้สึกดังกล่าวแสดงว่ายาเสื่อมสภาพแล้ว ท่านควรเปลี่ยนยาจากขวดใหม่ทันที)
          3.ปกติอาการเจ็บหน้าอก จะหายไปภายใน 1-2 นาที ถ้าหลังจากอมยาไปแล้ว 5 นาที อาการยังไม่ดีขึ้น ให้อมยาเม็ดที่ 2 สังเกตดูอาการ ถ้ามีแนวโน้มว่าอาการเจ็บหน้าอกนั้นไม่ดีขึ้น ให้รีบไปโรงพยาบาลและอมยาครั้งละ 1 เม็ดซ้ำทุก 5 นาที
          คำแนะนำ
          *ยาไม่ทนต่อแสงและความชื้น ดังนั้นจึงต้องเก็บยาในขวดสีชาปิดสนิท (ห้ามใส่สำลี)
          *เก็บยาไว้ใกล้ตัวเสมอ เพื่อให้สามารถหยิบใช้ได้ง่ายเวลาเกิดอาการ แต่ห้ามพกติดกับตัว เช่น กระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกง เนื่องจากร่างกายมีอุณหภูมิสูง
          *ควรทิ้งยาที่เหลือหลังจากได้รับยาแล้วเป็นเวลา 8 สัปดาห์
          4.ยาที่ท่านได้รับนั้นคือยาอะไร ใช้เพื่ออะไร ใช้อย่างไร มีคำแนะนำอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า
          เนื่องจากบางครั้งยาอาจมีการเปลี่ยนรูปแบบเม็ด หรือเปลี่ยนชื่อ ซึ่งอาจทำให้ท่านเกิดผลเสียจากการทานยาที่อาจจะซ้ำซ้อน หรือทานในขนาดที่แพทย์ไม่ได้สั่ง ดังนั้นท่านควรตรวจสอบหรือสอบถามเภสัชกรทุกครั้งที่พบว่ายาที่ท่านได้รับนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม
          ข้อมูลจาก ศูนย์หัวใจพญาไท, http//www.phyathai.com
 pageview  1205238    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved