Follow us      
  
  

บ้านเมือง [ วันที่ 27/08/2556 ]
มารู้จัก...เทคโนโลยี VMAT นวัตกรรมใหม่ต่อสู้ 'มะเร็ง'

 เอ่ยถึงโรคมะเร็ง ใครๆ ก็หวาดหวั่นพรั่นพรึง จากข้อมูลของ ก.สาธารณสุขในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่า โรคมะเร็ง ยังคงมีอัตราการคร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับ 1 "พ.ญ.สุนันทา ศรีสุบัติ-พลอยส่องแสง" แพทย์รังสีรักษา รพ.บำรุงราษฎร์ เผยว่า "...เรายังไม่ทราบสาเหตุทุกอย่างของการเกิดโรคมะเร็ง ทำให้ไม่มีวิธีป้องกันที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มะเร็งบางชนิดไม่แสดงอาการระยะเริ่มต้น พอตรวจพบเซลล์มะเร็งก็ลุกลามมากแล้ว การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ตามวาระเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป"
          ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้การรักษาโรคมะเร็งทุกวันนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และผู้ป่วยได้รับผลเสียจากอาการข้างเคียงน้อยลง ผศ.พญ.สุนันทา อธิบายว่า "...ทุกวันนี้มี 3 วิธีการหลักในการรักษามะเร็ง วิธีที่ 1 คือ ผ่าตัด ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดถ้าเป็นในระยะเริ่มต้น กรณีที่ผ่าตัดไม่ได้ หรือผ่าตัดแล้วไม่สามารถนำก้อนมะเร็งออกได้ทั้งหมด แพทย์จะมองถึงวิธีการอื่นๆ ต่อไป
          "วิธีที่ 2 คือ ฉายรังสี ทำได้ทั้งการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว หรือฉายร่วมกับการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ส่วนวิธีที่ 3 ทำเคมีบำบัด โดยมากจะใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย
          "มะเร็งที่ยังไม่แพร่กระจาย แพทย์อาจนำก้อนมะเร็งออกได้ทั้งหมดในการผ่าตัดครั้งเดียว หรือถ้าลามไปยังอวัยวะอื่นแต่ยังไม่มาก ก็อาจใช้วิธีฉายแสงเพียงอย่างเดียวได้ ทั้งนี้ เคมีบำบัดจะเป็นเหมือนการเสริม 2 วิธีการแรก คือหากทำเคมีบำบัดร่วมกันผ่าตัดหรือฉายแสงก็จะช่วยให้ได้ผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น"
          ทั้งนี้ ผศ.พญ.สุนันทา กล่าวถึงพัฒนาการใหม่ของเครื่องฉายแสง ที่ทำให้การฉายแสงได้เที่ยงตรงแม่นยำมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยี VMAT (Volumetric Modulated Arc Therapy) ที่กำหนดปริมาณรังสีครอบคลุมก้อนมะเร็งได้ทั่วถึง ลดผลข้างเคียง ด้วยการป้อนข้อมูลและควบคุมการทำงานผ่านระบบคอมพิวเตอร์
          "เมื่อก่อนนี้เครื่องฉายแสงเป็นระบบ 2 มิติ ที่ต้องคอยปรับร่างกายผู้ป่วยให้ได้องศาเดียวกับเครื่องฉาย จนมาถึงเทคโนโลยี IMRT ที่ปรับปริมาณรังสีให้สม่ำเสมอกับรูปทรง ขนาด และความหนาหรือบางที่ไม่เท่ากันของก้อนมะเร็งก้อนหนึ่งได้ แต่ IMRT ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องทิศทางการหมุนของตัวเครื่อง
          "ส่วนการฉายแสงด้วย VMAT เครื่องฉายหมุนได้รอบตัวของผู้ป่วย และด้วยระบบภาพนำวิถีแบบ 3 มิติ จึงแม่นยำในการกำหนดพื้นที่ที่ต้องการฉาย เตียงปรับระดับควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถปรับองศาของเครื่องฉายแสงและเตียงของผู้ป่วย ให้ตำแหน่งของก้อนมะเร็งอยู่ภายในบริเวณที่ถูกฉายรังสี ช่วยลดระยะเวลาในการฉายลงจากการใช้เครื่อง IMRT ที่ใช้เวลาแต่ละครั้งราว 15-30 นาที ให้เหลือ 3-5 นาทีเท่านั้น"
          อย่างไรก็ตาม นอกจากเทคโนโลยี บุคลากรแต่ละฝ่ายที่ร่วมกันรักษาก็สำคัญที่สุด เพราะการรักษาโรคมะเร็งต้องกำหนดแผนการเป็นขั้นตอน ด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางหลากหลายสาขา ไปจนถึงศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งต่างชนิด อายุรแพทย์ผู้ดูแลการทำเคมีบำบัด รังสีแพทย์ นักฟิสิกส์และเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการฉายแสง ตลอดจนเภสัชกร พยาบาล และทีมงานทุกฝ่าย
          "อย่างขั้นตอนการฉายแสง การกำหนดตำแหน่งขึ้นอยู่กับรังสีแพทย์โดยตรง ถ้าพิกัดพลาด ต่อให้นักฟิสิกส์จัดมุมได้ดี เจ้าหน้าที่เทคนิคฉายแสงได้ดี ผู้ป่วยไม่ขยับตัวเลยขณะฉายแสง แต่การรักษาก็ไม่หาย ฉะนั้นความสำคัญของทีมงานแต่ละฝ่ายถือว่าเท่ากันหมด ถ้าใครคนใดคนหนึ่งทำได้ไม่ดี ผลการรักษาก็ไม่มีทางออกมาดีได้"
          "ที่ รพ.บำรุงราษฎร์ มีการวางระบบในศูนย์มะเร็งให้รักษาร่วมกันแบบสหสาขาตั้งแต่ต้นจนจบ คือรักษามะเร็งทุกชนิดอยู่ในบริเวณเดียวกันหมด เมื่อตรวจพบว่ามีโรคมะเร็งก็จะตรวจดูระยะขั้นตอนของโรคและเริ่มรักษาทันที หากต้องทำเคมีบำบัดร่วมด้วย ก็เรียกอายุรแพทย์เข้าร่วมปรึกษาได้ทันที รวมถึงในขั้นตอนอื่นๆ"
          "ตั้งแต่ร่วมพิจารณาฟิล์ม ดูผลตรวจ MRI หรือ CT scan ผู้ป่วยไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปหลายตึก การได้รับบริการที่ดีและรวดเร็วคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก เนื่องจากการได้พบหมอเร็ว ได้ตรวจเร็ว และรักษาเร็ว ก็มีโอกาสควบคุมโรคได้ดีกว่าที่จะปล่อยให้โรคลุกลามขั้นที่ 4 ซึ่งโอกาสรักษาหายนั้นน้อยมาก" 
          นี่คือความหวังใหม่ของผู้ป่วยมะเร็ง

 pageview  1205564    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved