Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 16/01/2561 ]
เลี้ยงลูก ให้รอดในยุคดิจิตอล ทักษะชีวิต สำคัญกว่าอัดวิชาการ

 "โตขึ้นอยากเป็นอะไร?" คำถามนี้หากถามเด็กๆ ก็คงจะมีคำตอบไม่กี่อย่าง เช่นเดียวกับการถามพ่อแม่ ผู้ปกครองว่า "อยากให้บุตรหลานทำงานอะไร?" คำตอบที่ได้ ก็คงไม่ต่างกัน และนั่นเป็นที่มาของการ "เรียนหนัก" ที่ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน แต่รวมไปถึงการ "กวดวิชา" เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะได้ "ที่นั่ง" ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยชั้นนำ อันเป็นที่ที่มีสื่อการเรียนการสอนทันสมัย การันตีความ "ได้เปรียบ" เหนือกว่าคนทั่วไป ในการไปหางานทำในอนาคต และมีโอกาส "เลื่อนชนชั้น" ขึ้นไปอยู่ในสถานะสูงขึ้นในสังคม
          แน่นอนว่า "คงไม่อาจกล่าวโทษ" บุคคลหรือครอบครัว ที่พยายาม "ดิ้นรน" ทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะยกระดับชีวิตไปอยู่ในสถานะชนชั้นที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ "ในเมื่อโครงสร้างสังคมมันบีบคั้นเช่นนั้นแล้วจะให้ทำอย่างไรได้?" แต่นั่นก็เป็นภาพสะท้อน "ความเหลื่อมล้ำในสังคม" ดังเรื่องเล่าของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักวิชาการด้านเด็กและเยาวชน กล่าวในงานเสวนา "ความเหลื่อมล้ำมีผลต่อทักษะสมองของเด็กไทย?" ซึ่งจัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์การ UNICEF ประเทศไทย ที่ระบุว่า
          "เชียงราย" จังหวัดภาคเหนือสุดของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานของ นพ.ประเสริฐ สามารถแบ่ง "เส้นทางกวดวิชา"ของวัยรุ่นวัยเรียนชาวเชียงรายได้ถึง 4 สาย คือ 1.ไปพัก ที่ตัวจังหวัดเชียงใหม่ สำหรับครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์ ไม่มากนัก โดยไปพักแถว "วัดพระสิงห์" ซึ่งมีสถาบันกวดวิชา ตั้งอยู่หลายสำนัก 2.เข้ากรุงเทพฯ มาเช่าที่พักย่านประตูน้ำเดินทางด้วยรถทัวร์ มาถึงแล้วใช้วิธีหารค่าห้องกันหลายๆ คน 3.เข้ากรุงเทพฯ มาพักบ้านญาติ กลุ่มนี้ไม่ต้องเสียค่าที่พัก แต่ที่พบคือมักจะมีเงินมีทองระดับหนึ่ง หากผู้ปกครองไม่ขับรถมาส่งก็จะนั่งเครื่องบินมาเอง
          และ 4.เข้ากรุงเทพฯ มาพักที่ย่านพญาไท กลุ่มนี้ครอบครัวมีฐานะดีที่สุดในทั้ง 4 กลุ่ม เพราะสามารถเช่าหรือซื้อคอนโดมิเนียมให้บุตรหลานอยู่ได้ ทั้งนี้แม้จะยกตัวอย่างเพียง จ.เชียงราย แต่ภาพของเยาวชนที่ตระเวนกวดวิชานั้น "พบเห็นได้ชินตาไม่ว่าภาคไหนๆ ของประเทศไทย" แต่นี่คือ ความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนกระทั่งในกลุ่มเด็กที่กวดวิชาด้วยกัน ยังไม่นับรวมเยาวชนอีกมากที่ "ไม่มีโอกาสได้กวดวิชา"เพราะครอบครัวไม่มีเงินมาก
          อย่างไรก็ตาม ภาพที่กล่าวมาข้างต้นนั้น "อาจกำลังจะกลายเป็นอดีต" หลังการมาถึงของ "อินเตอร์เนตความเร็วสูงและไร้สาย" ที่มีประสิทธิภาพดีในราคาซึ่งคนทั่วไปพอจะจ่ายได้ โดย นพ.ประเสริฐ เล่าว่า สมัยที่ยังเรียน หนังสือเมื่อหลายสิบปีก่อน "หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี"คือแหล่งเรียนรู้ที่ดีที่สุดในประเทศไทย มีหนังสือมีเอกสารมากมายให้ค้นคว้า แต่ข้อจำกัดคือ "ที่ตั้งนั้นอยู่ในกรุงเทพฯ"ดังนั้นหากใครที่ "ไม่มีโอกาสเข้ามาเรียนในเมืองหลวง"ย่อมหมายถึงต้อง "เสียเปรียบ" ในการสอบแข่งขันต่างๆ ไปโดยปริยาย
          แต่ยุคนี้ "อินเตอร์เนตไปถึงแทบจะทุกพื้นที่ของประเทศ" อยากรู้อะไรสนใจเรื่องไหน สามารถค้นหาได้เกือบทั้งหมดแค่ปลายนิ้ว "ความเหลื่อมล้ำทางวิชาการ"ระหว่างคนเมืองหลวงและจังหวัดอื่นๆ ก็ค่อยๆ แคบลง ถึงกระนั้น "ในโอกาสก็อาจเป็นวิกฤติ" เพราะสื่ออินเตอร์เนตนั้นมี "ชุดความคิด" มากมายให้เลือกรับ และมี "เส้นทาง"มากมายให้เลือกเดิน แน่นอนย่อมมีทั้งด้านดีและไม่ดี
          ที่ต้องย้ำคือ "ใครก็ควบคุมปิดกั้นไม่ได้" ฉะนั้นสิ่งที่ "คนยุคดิจิตอล" ต้องมีคือทักษะที่เรียกว่า Executive Functions (EF) ซึ่งเป็นความสามารถในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำของตนเองได้เพื่อไปให้ถึงสิ่งที่ถูก ที่ควร ประกอบด้วย 1.การควบคุมตนเอง เพื่อไม่ให้วอกแวกหลงไปกับกระแสของข้อมูลข่าวสารมากมายในอินเตอร์เนต สามารถ "อดเปรี้ยวไว้กินหวาน" มุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายหลักที่ตนเองวางไว้ได้ อาทิ ทำงานให้เสร็จก่อนแล้วค่อยเล่น แม้จะมีตัวแปรอื่นๆ มายั่วยุอยู่เบื้องหน้าก็ตาม
          2.ความจำใช้งาน คือความรู้ที่จดจำไว้และสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้จริง "ไม่ใช่แค่จำไปสอบ" เช่น หลายคน แม้จะได้เรียนเรื่องโทษภัยของอบายมุข แต่ "เอาตัวรอด ไม่เป็น" ไม่สามารถชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียเมื่อเผชิญสถานการณ์ล่อแหลมได้ และ 3.ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทักษะ EF นั้น "ทำได้ดีที่สุดช่วงอายุไม่เกิน 6 ขวบ" โดยการปล่อยให้เด็กได้ "เล่นสนุกตามประสา" ซึ่งก็คือทำกิจกรรมทางกายภาพ ที่ได้ฝึกใช้ประสาทสัมผัส
          จิตแพทย์ท่านนี้ กล่าวว่า และถือเป็น "ข่าวดี" เพราะการฝึกทักษะ EF หรือ "คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ" ไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินทองมากมายอย่างการกวดวิชา แต่อยู่ในการ ละเล่นที่เด็กๆ คุ้นเคย เช่น วิ่งไล่จับ หมากเก็บ ซ่อนหา ไปจนถึง การทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เป็นการฝึก "นิ้วทั้ง 10" ซึ่งเชื่อมโยงกับ "ระบบประสาทและสมอง" ในขณะที่การเขียน หนังสือจะใช้นิ้วมือเพียง 3 นิ้วเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจึง "ไม่ต้องรีบอัดวิชาการ" ตั้งแต่อายุน้อยๆ
          "พื้นฐานของการคิดวิเคราะห์ทั้งปวงเริ่มต้นที่พื้นที่และเวลา หรือ Space&Time การเล่นทำให้เด็กรู้ว่าพื้นที่คืออะไร? สิ่งนั้นอยู่ข้างหน้าสิ่งนี้ สิ่งนี้อยู่ข้างหลังสิ่งโน้น ทั้งหมดนี้มนุษย์ต้องเรียนด้วยการเล่น อีกเรื่องคือเวลาซึ่งจับต้องไม่ได้ แต่พ่อแม่บางคนที่เลี้ยงลูกเก่งๆ จะพบว่าเด็กนั้นเลี้ยงง่ายมาก คือรู้ว่าเวลาไหนต้องทำอะไร เด็กพวกนี้จับต้องเวลาได้ ความสามารถนี้เกิดจากการเล่นและการฝึกวินัยสม่ำเสมอของพ่อแม่" นพ.ประเสริฐ ระบุ
          สอดคล้องกับที่ ดร.นุชนาฏ รักษี รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พ่อแม่ผู้ปกครองมักเข้าใจว่าการให้เด็กเล็กๆ "อยู่กับหน้าจอ" ตั้งแต่จอโทรทัศน์มาจนถึงจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ นอกจากจะทำให้ "อยู่นิ่งๆ" แล้วยังเป็นการเรียนรู้ด้วยผ่านสื่อต่างๆ ที่ปรากฏบนจอ แต่นั่นเป็น "ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน" เพราะ เด็กเล็กๆ ต้องการการเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัสทุกส่วน
          อนึ่ง...ในยุคปัจจุบันที่คนเป็นพ่อแม่เข้ามาทำงาน ในกรุงเทพฯ หรือเขตตัวจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่ๆ "ไม่มีเวลา เลี้ยงลูกเอง" จึงนิยมนำไปฝากให้ "ผู้สูงอายุ" หรือปู่ย่าตายาย ของเด็กๆ เลี้ยงในชนบท ประเด็นนี้ ดร.นุชนาฏ ระบุว่า จริงๆ แล้วนี่คือ "โอกาส" สำหรับเด็กๆ เสียด้วยซ้ำไปเพราะ "ได้อยู่กับ ธรรมชาติ" อีกทั้งการออกไปเล่นกับเพื่อนๆ ยังถือเป็นการฝึกทักษะ "มนุษยสัมพันธ์" สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
          "ต้องคุยกับปู่ย่าตายาย ให้รู้ว่าการให้เด็กอยู่กับ หน้าจอเยอะๆ มันมีผลอย่างไร ทั้งเรื่องสายตา เรื่องสมาธิ คือ บางทีเขาไม่รู้ เห็นเด็กอยู่นิ่งๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่ปู่ย่าตายายเอง ก็ไม่เคยมี ก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เด็กเก่ง ก็ต้องให้ความรู้ กับคนที่เลี้ยงดูลูกด้วย หรือพ่อแม่ที่มีเวลาน้อย แต่ในเวลา ที่อยู่กับลูก อาจจะแค่ 1 ชั่วโมง หรือแม้แต่ครึ่งชั่วโมง เราใช้ เวลานั้นให้เป็นเวลาคุณภาพ เล่นกับลูก อ่านหนังสือนิทาน ให้ลูกฟัง ก็ฝึกเรื่องของ EF ได้" ดร.นุชนาฏ ฝากข้อคิด
          อีกด้านหนึ่ง "ทัศนคติสังคมไทย" ที่นิยมการ "แบ่งชนชั้นทางอาชีพ" มองว่ามีแต่การได้ทำงานบางประเภทเท่านั้นจึงถือว่า "ประสบความสำเร็จในชีวิต" จึงเคี่ยวเข็ญบุตรหลานในทุกทาง อาทิ ต้องสอบเข้ารับราชการให้ได้ ต้องเป็นแพทย์ เป็นตำรวจ เป็นทหาร เป็นวิศวกร ก็ต้องถูก "ปรับวิธีคิด" ด้วยเช่นกัน โดย ดร.นุชนาฏ กล่าวว่า หลายคน แม้จะสอบได้ เข้าไปเรียนจนจบแล้วมาทำงาน แต่พอทำไปสักพักรู้สึก "ไม่ชอบ" ก็ลาออกไปทำอย่างอื่น
          ซึ่งหมายถึง "งบประมาณแผ่นดินที่สูญเปล่า"เพราะในบางอาชีพ เช่น แพทย์ กว่าจะผลิตได้สักคนหนึ่งรัฐต้องใช้งบประมาณอุดหนุนต่อหัวค่อนข้างมาก แต่เมื่อจบมาแล้วกลับไม่ได้ทำงานเป็นแพทย์ให้คุ้มค่ากับการที่รัฐลงทุนไป เรื่องนี้ก็ต้องฝากให้ "สื่อมวลชน" ช่วยกระตุ้นสังคมด้วย อาทิ ก่อนหน้านี้เคยมีการนำเสนอข่าววัยรุ่นรายหนึ่งที่เรียนไม่เก่ง จึงหันไปทำเกษตรอินทรีย์จนได้ใบรับรองจากทางการ มีรายได้เป็นกอบเป็นกำเลี้ยงตนเองและครอบครัว
          "คนใกล้ชิดนี่สำคัญ พ่อแม่บอกว่าไม่เป็นไร ลูกทำอย่างนั้นไม่ได้ก็ทำอย่างนี้ แล้วก็สนับสนุน ให้ความรัก ความอบอุ่น สังคมต้องพยายามยกกรณีแบบนี้ขึ้นมา ไม่ใช่ แค่ต้องเป็นเฉพาะอาชีพที่สังคมคิดว่าต้องเป็นอย่างนี้อย่างเดียว คือจะทำอย่างไรให้คนไทยเราเป็นอะไรก็ได้ แต่เก่งในสิ่งที่ตัวเองทำ ในสิ่งที่ตัวเองเป็น" ดร.นุชนาฏ กล่าวทิ้งท้าย
          บรรยายใต้ภาพ
          นายจุลเทพ บุณยกรชนก หรือหยก ชาว จ.อ่างทอง ปรากฏเป็นข่าวฮือฮาเมื่อช่วงต้นปี 2559 เนื่องจากได้รับเครื่องหมายรับรอง "Organic Thailand" โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า พืชผักที่ปลูกนั้นทำด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ ทั้งที่ นายจุลเทพยังมีอายุเพียง 17 ปี เท่านั้น ถือเป็น "เกษตรกรอายุน้อยที่สุด" ที่ได้รับเครื่องหมายรับรอง ดังกล่าว โดยเจ้าตัวเปิดเผยว่า ตนเองเรียนหนังสือไม่เก่ง รู้สึกท้อจึงผันตัวมาทำเกษตรอินทรีย์โดยมีบิดาให้การสนับสนุน และกล่าวอย่างภูมิใจว่าผลผลิตขายดีมากผลิตแทบไม่ทัน

 pageview  1205081    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved