Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 13/12/2560 ]
เข้มกฎหมาย-ใช้เทคโนโลยี ภูเก็ต ต้นแบบเมืองลดอุบัติเหตุ
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประเทศไทยมีสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ บนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียง ประเทศลิเบีย (Libya) เท่านั้น โดยมีผู้คนต้อง สังเวยชีวิตให้ถนนเมืองไทยเฉลี่ย 24,000 ศพต่อปี ขณะที่ข้อมูลจาก รายงานความปลอดภัยทางถนน ปี พ.ศ.2559/2560  ซึ่งจัดทำโดย แผนสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ระบุว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา ถนนเมืองไทยคร่าชีวิตผู้คนไปทั้งสิ้น 22,356 ราย
          ปัจจัยของอุบัติเหตุบนท้องถนน สามารถ แบ่งได้เป็น 3 ส่วนคือ "คน" มาจากพฤติกรรมขับขี่โดยประมาท เช่น ดื่มเครื่องดื่มมึนเมา-เสพยาเสพติดแล้วขับขี่ยานพาหนะ พักผ่อนไม่เพียงพอแล้วยังฝืนขับขี่ยานพาหนะ หรือใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมไปถึงการละเมิดกฎจราจรอื่นๆ อาทิ ฝ่าไฟแดง ย้อนศร เลี้ยวไม่เปิดไฟเลี้ยว ฯลฯ "รถ"อะไหล่อุปกรณ์ต่างๆ ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และ "ถนน" มีจุดเสี่ยง เช่น โค้ง ทางลาดชัน จุดตัด ทางรถไฟ เส้นทางเปลี่ยวมืดไม่มีไฟส่องสว่าง เป็นต้น
          ภูเก็ต จังหวัดทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน มีภูมิประเทศเป็นเกาะ เนื้อที่ 576 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทยที่มีชื่อเสียง ระดับโลก รายงาน "สรุปภาวะเศรษฐกิจการค้าจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2559" ซึ่งจัดทำโดย ซามีรอ อีซอ เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการค้าจังหวัด (PCOC) สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ต ระบุว่า ในปี 2559 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนเกาะแห่งนี้ ทั้งสิ้น 4,354,028 คน เพิ่มขึ้นจาก 3,767,209 คนในปี 2558 ดังนั้นภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ จึงพยายามทำให้ จ.ภูเก็ต มีความปลอดภัย รวมถึง บนท้องถนนด้วย
          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในพิธีปฐมนิเทศการศึกษา เพื่อการศึกษาดูงาน 3 พื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนของจังหวัดภูเก็ต ณ รร.ฮิลตัน ภูเก็ต อาร์เคเดีย รีสอร์ท แอนด์สปา ว่า "ในทุกๆ ปี มีผู้พิการรายใหม่จากเหยื่ออุบัติเหตุ 5,000 คน ในทุกๆ วันมี 42 ครอบครัวสูญเสียสมาชิก ซึ่ง ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และในทุกๆ วันยังมีอีก 15 ครอบครัว ที่ต้องดูแลสมาชิกพิการจากอุบัติเหตุไปตลอดชีวิต"ความสูญเสียเหล่านี้กระทบต่อโครงสร้างการบริการด้านสาธารณสุขอย่างมาก
          ขณะที่ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)เปิดเผยว่า หากย้อนไปช่วงปี 2540-2549 จ.ภูเก็ต นั้น ติดอันดับ "1 ใน 5 จังหวัดที่ท้องถนนอันตราย ที่สุดในประเทศไทย" แต่ด้วยการทำงานอย่างเข้มแข็งของ "คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด" (สอจร.) ทำให้หลังปี 2550 เป็นต้นมา จำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บบนท้องถนนใน จ.ภูเก็ต ก็ค่อยๆ ลดลงไปตามลำดับ ปัจจุบันพบว่าลดไปจากเมื่อทศวรรษก่อนหน้าถึง "ร้อยละ 50" เนื่องด้วยการปรับปรุง ด้านต่างๆ อาทิ
          1.แก้ไข "จุดเสี่ยงซ้ำซาก" ปรับปรุงบริเวณ ที่มีอุบัติเหตุบ่อยๆ 2.ใช้กฎหมายอย่างจริงจังเน้นหนักที่ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ คือไม่สวมหมวกนิรภัย ดื่มแล้วขับ ขับเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และ ฝ่าไฟแดง มีการลงทุนติดตั้งเครื่องตรวจจับความเร็ว กล้องตรวจจับผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร จัดหา เครื่องมือตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย ทำให้ในปี 2559 ที่ผ่านมา จ.ภูเก็ต สามารถลด จำนวนผู้บาดเจ็บลงได้ ร้อยละ 3.5 และลดผู้เสียชีวิต ลงได้ ร้อยละ 8.8
          "การขับเคลื่อนงานแบบสหสาขาวิชาชีพ ทำให้ลดอัตราความสูญเสียลง และพิสูจน์แล้วว่าหากจุดจัดการระดับพื้นที่ซึ่งใกล้ชิดปัญหามากที่สุด จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังทุกวัน จะลดการตายลง ได้เกินครึ่ง" ดร.สุปรีดา กล่าว
          สอดคล้องกับที่ นพ.ทวีศักดิ์ นพเกสร กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. ยกตัวอย่าง เทศบาลเมืองกะทู้ อ.กะทู้ 1 ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บนเกาะภูเก็ต ว่าในเขตพื้นที่ดังกล่าว นายกเทศมนตรีให้ความสำคัญต่อปัญหาความปลอดภัยบนทางถนนอย่างมาก นำมาซึ่งหลายมาตรการ อาทิ 1.แก้ไขจุดเสี่ยง โดยปรับสภาพถนนให้ปลอดภัย ติดไฟส่องสว่าง 2.จัดสภาพแวดล้อม ให้ปลอดภัย เช่น ปลดป้ายโฆษณาที่กีดขวางทัศนวิสัย ในการมองเห็น
          3.มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่เทศกิจ จับ-ปรับ กรณีที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น รถบรรทุกทำเศษหินดินตกหล่นบนถนน และ 4.สร้างความตระหนักด้านความปลอดภัย รณรงค์สวมหมวกนิรภัยในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ส่งผล ให้ได้รับรางวัล Prime Minister Road Safety Awards  ด้านความปลอดภัยทางถนนและได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่างที่ดี เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา
          เช่นเดียวกับ นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย กับองค์การอนามัยโลก ด้านความปลอดภัย ทางถนน ที่กล่าวย้ำว่า การบังคับใช้กฎหมายถือเป็นมาตรการสำคัญที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตและ บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนของ จ.ภูเก็ต ลดลง โดยระยะแรกในปี 2553 ได้ใช้มาตรการสวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 100 บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และต่อเนื่อง ควบคู่การประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง ทำให้อัตราการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การบาดเจ็บที่ศีรษะลดลงจาก ร้อยละ 37.1 ในปี 2554 เหลือ ร้อยละ 20.6 ในปี 2558
          "จุดเด่นคือมีการนำเทคโนโลยีมาช่วย ในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎจราจร สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและลดข้อจำกัดของกำลังคนที่ไม่เพียงพอได้มาก" ผจก.แผนงานความร่วมมือ รบ.ไทย-WHO ระบุ
          อีกด้านหนึ่ง นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า ประเทศไทย ได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นต้นแบบ ให้แก่นานาประเทศในเรื่อง "ระบบการดูแลหลังเกิดอุบัติเหตุ (Post crash care)" ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 เสาหลักขององค์การสหประชาชาติตามแผนทศวรรษความปลอดภัยทางถนน ปี 2554-2563 การทำงานของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) จ.ภูเก็ต
          "ในปี 2560 มีรถพยาบาล 101 คัน มีจุด ปฏิบัติการ 32 จุดทั่วจังหวัด มีเจ้าหน้าที่กู้ชีพ ทุกระดับรวม 650 คน มีศักยภาพรับมือทั้งในภาวะปกติและภาวะภัยพิบัติ โดยสถิติปี 2560 สามารถ เข้าถึงจุดเกิดเหตุหลังรับแจ้งเหตุได้ภายใน 10 นาที สูงถึง ร้อยละ 79.2 ซึ่งการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว มีส่วนในการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิต จากอุบัติเหตุ" นพ.คำนวณ กล่าว
          ปัจจุบันแนวโน้มกระแสโลกมีการยอมรับ แล้วว่า วิธีการแบบ "เสื้อเหมาโหล" (One Size Fit All) ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน จึงต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีแบบ "เสื้อสั่งตัด" (Customize) ที่ต้องเริ่มจากการวิเคราะห์สภาพปัญหาในพื้นที่นั้นๆ ให้เห็นชัดเจนก่อนหามาตรการแก้ไข ซึ่งเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนก็เช่นกัน ที่ "คนในท้องถิ่นย่อมเข้าใจพื้นที่ของตน ดีที่สุด" ดังที่ จ.ภูเก็ต สามารถลดสถิติอุบัติเหตุได้จากการริเริ่มของผู้บริหารหน่วยงานในระดับท้องถิ่นเอง และบูรณาการการทำงานร่วมกัน
          ถ้าแนวคิดนี้สามารถขยายไปยังทุกๆ ท้องถิ่น ทั่วประเทศ ความสูญเสียนับหมื่นศพต่อปี คงลดลง ได้ในสักวันไม่ช้าก็เร็ว!!!
          สุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 ณ ไบเทค บางนา เมื่อ 6 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลจะเร่ง พัฒนากลไกความปลอดภัยบนท้องถนนใน 7 ด้าน ได้แก่ 1.สนับสนุนกลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัดและอำเภอ ทำงานแบบบูรณษการ 2.ปรับปรุงระเบียบงบประมาณของ ศปถ.อปท. ให้มี งบประมาณที่เหมาะสม 3.ให้กระทรวงแรงงาน เพิ่มบทบาทเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.)ในด้านความปลอดภัยบนท้องถนนเข้าไปด้วย
          4.เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะปัญหาเมาแล้วขับ 5.ส่งเสริมความปลอดภัยในกลุ่มเสี่ยงหลัก คือผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ เช่น ต้องมีระบบเบรก ABS การมีใบขับขี่เฉพาะของรถขนาดใหญ่ (Big Bike) 6.ให้ความรู้ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน ในระบบการศึกษาทุกระดับ และ 7.สนับสนุนให้มีกลไกสอบสวน สาเหตุ การติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ โดยประสานระหว่างภาครัฐกับหน่วยงานวิชาการต่างๆ

 

 pageview  1204269    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved