Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 10/08/2560 ]
'เค็มน้อยอร่อยได้ ห่างไกล NCDs'


          ปัจจุบันพบว่าประชากร ในประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิต 3 ใน 4 มีสาเหตุมาจากโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งโรคดังกล่าว ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโรค แต่เป็น ผลจากการมีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย ทานอาหารหวาน มัน เค็มมาก พักผ่อนน้อย และมีความเครียด ส่งผลให้ ความดันเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงขึ้น น้ำหนักตัวเกิน จนกระทั่งอ้วน ส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อตามมา
          และสถานการณ์โรคไม่ติตต่อ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความชุกของโรค ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ.2551 และครั้งที่ 5 พ.ศ.2557 ตามลำดับ พบว่า ความชุกของเบาหวานเพิ่มขึ้นจาก 6.9 เป็น 8.9 และความชุกของความดันโลหิตสูง เพิ่มขึ้น จาก 21.4 เป็น 24.7 ตามลำดับ
          ทั้งนี้ เพื่อจัดการลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรค ในงาน มหกรรมสุขภาพโรคไม่ติดต่อ (NCD Forum 2017) ที่ผ่านมา นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคพร้อมด้วย นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบสาธารณสุข สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค, ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และ ดร.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและโภชนาการ ร่วมเป็นวิทยากรอภิปรายในหัวข้อ : เค็มน้อยอร่อยได้ ห่างไกล NCDs   ซึ่ง เป็นการประชุมวิชาการเพื่อการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ ภายใต้แนวคิด "ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์บูรณาการโรคไม่ติดต่อยุคไทยแลนด์ 4.0"
          นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า "เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกวันนี้สภาวะการทานเค็มของคนไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง เราจึงต้องช่วยกันลดเค็ม ผมคิดว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะช่วยกันก็คือ ต้องใช้กลไกขับเคลื่อนที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์และความมีส่วนร่วม เพราะว่าจะให้ กระทรวงทำอยู่ด้านเดียวไม่ได้ สิ่งที่จะใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ สมัชชาสุขภาพ ซึ่งเป็นความร่วมมือของส่วนต่างๆ ที่มีอยู่ในทุกท้องที่ ที่จะทำให้รู้ว่า เมื่อบริโภคเค็มมากๆ แล้ว จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้มากขึ้น คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะมีโอกาสป่วยมากขึ้น คนที่ป่วยแล้ว ก็จะมีภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องใช้กลไกของสมัชชาสร้างความรับรู้ และพยายามปรับพฤติกรรมการบริโภคเค็มในชุมชน ซึ่งตอนนี้ทางกระทรวงกำลังเสนอยุทธศาสตร์ลดเกลือลดเค็มเข้าสู่ ครม. เพื่อจะให้ส่วนราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อแก้ไขการบริโภคในประชาชนคนไทยต่อไป"
          ขณะที่ ดร. ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและโภชนาการ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในฐานะที่เป็นผู้บริโภค คนหนึ่ง ในสภาวการณ์เช่นนี้ ทำให้ทราบว่า การทานรสเค็มจัดของคนสมัยนี้ ช่างน่ากลัวเหลือเกิน และมีปริมาณมากขึ้น นโยบายของประเทศไทยก็พยายามจะลดการทานอาหารเค็มให้มากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้ เวลาเข้าครัว อ.ยิ่งศักดิ์ ก็จะพยายามเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์เพื่อสุขภาพเป็นอันดับแรก และ จะพยายามทำอาหารที่มีความเค็มลดลง โดย จะไม่พยายามบอกแล้วว่า อาหารจานนี้อร่อย แต่จะบอกว่า อาหารจานนี้ควรรับประทาน เพราะว่าไม่เค็ม เพื่อเป็นการช่วยรณรงค์ให้คนทานเค็มกันน้อยลงครับ"
          ทั้งนี้คนไทยควรบริโภคเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน (โซเดียม 2,400 มิลลิกรัม) แต่จากการสำรวจพบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ย 10.8 กรัมต่อวัน (โซเดียม 5,000 มิลลิกรัม) ซึ่งสูงเป็น 2 เท่า ของที่ร่างกายควรได้รับ โดยร้อยละ 71 มาจากการเติมเครื่องปรุงรสระหว่างการประกอบอาหาร ซึ่งโดยปกติอาหารตามธรรมชาติก็มีเกลือเป็นส่วนประกอบอยู่แล้ว เมื่อมีการใช้เครื่องปรุงรสดังกล่าวปริมาณมาก จึงทำให้ปริมาณเกลือในอาหารสูงมากตามไปด้วย
          สำหรับหลักในการลดปริมาณโซเดียม ได้แก่1) หลีกเลี่ยงการใช้เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรสต่างๆ และผงชูรส (แม้ไม่เค็มแต่มีโซเดียมสูง) ในการปรุงอาหาร
          2) หลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุง เช่น ปรุงรสเพิ่มในก๋วยเตี๋ยว เติมพริกน้ำปลาใน ข้าวแกง เป็นต้น
          3) หลีกเลี่ยงอาหารประเภทดองเค็ม อาหารแปรรูป เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว ปลาส้มแหนม ไส้กรอก กุนเชียง หมูหยองเป็นต้น
          4) เลือกรับประทานอาหารที่มี หลายรสชาติเช่น แกงส้ม ต้มยำ เพื่อทดแทนรสชาติเค็ม
          5) น้ำซุปต่างๆ เช่นก๋วยเตี๋ยวมักมีปริมาณ โซเดียมสูง ควรรับประทานแต่น้อย หรือเทน้ำซุป ออกบางส่วน แล้วเติมน้ำเพื่อเจือจางลง
          6) ตรวจดูปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคบนฉลากของซอสปรุงรส อาหารสำเร็จรูป และขนมถุงเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง
          สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 pageview  1204268    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved