Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 12/07/2560 ]
ปลักแรดโมเดล 'ป่วยจิตเวช'รักษาเร็ว'ไม่บ้า'

ผมเผ้ารุงรัง เสื้อผ้าขาดวิ่น ใช้ชีวิตข้างถนน บ้างยิ้มบ้างหัวเราะเพียงลำพัง..นี่คือภาพที่หลายคนเห็นจนชินตากับ "คนเร่ร่อน" ที่ไม่ใช่เพียง ผู้มีปัญหาชีวิตจนต้องมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เท่านั้น ส่วนหนึ่งยัง "มีอาการทางจิต" เป็นที่น่าเวทนา แก่ผู้พบเห็น หรือบางครั้งก็ดูน่ากลัวและเป็นอันตราย เพราะมีท่าที "คุกคาม" คนทั่วไปที่เดินผ่านไปผ่านมา ดังที่เป็นข่าวอยู่เนืองๆ
          แต่เชื่อหรือไม่ว่า ผู้มีอาการทางจิตหลายราย หากได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ จะสามารถ กลับไปใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปได้อย่างปกติสุข ไม่กลายเป็น "คนบ้า" วิกลจริต ดังตัวอย่าง ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ปลักแรด อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งมีการนำกลไก สหวิชาชีพ เข้ามาช่วยเหลืออย่างครบวงจร และได้ผล น่าพอใจ ถึงขนาดที่ผู้ป่วยบางรายกลับไปทำบัตรประชาชนได้อีกครั้งหลังจากที่ปล่อยขาดมานานนับปี
          นายจำรัส ปานนิ่ม ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวช ต.ปลักแรด อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้พี่สาวของตนมีอาการทางจิตมานานนับปี ต่อมามีทีมสหวิชาชีพเข้ามาดูแลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ พี่มีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารและงานบ้าน เพราะกินยาและฉีดยาอยู่เสมอ โดยตนเองมีหน้าที่ไปรับยาจาก รพ. และ ให้หมอจาก รพ.สต. มาฉีดยาให้ จึงต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ลงพื้นที่ เพราะสำหรับชาวบ้านนั้นการดูแลผู้ป่วยจิตเวชถือว่าเป็นเรื่องยาก
          ขณะที่ น.ส.ทัศวรรณ ลำมะวงษ์ พยาบาล วิชาชีพ รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า การทำงานในชีวิตจริงของบุคลากรระบบสุขภาพ ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ เพราะหน้างานจริงต้องทำงานกับหมอ ต้องปรึกษานักโภชนาการ นักกายภาพภาพบำบัด เภสัชกร อุปสรรคที่เจอคือเรื่องการสื่อสาร โดยเฉพาะกับอาจารย์หมอ ซึ่ง พยาบาลจะรู้สึกเกร็งจนบางครั้งรับคำสั่งไม่ครบ เรื่องนี้ สำคัญมาก เพราะหากการสื่อสารและการประสานงาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คนไข้ก็จะได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
          "หลังจากได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม สหวิชาชีพ ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมที่มีหลายวิชาชีพรวมกัน ได้แบ่งงานกันทำ เภสัชกร สอบถามซักประวัติเรื่องยา หมอสอบถามเรื่อง การเจ็บป่วย ขณะที่พยาบาล ก็จะสอบถามเรื่อง ทางบ้านของผู้ป่วย ทำให้การทำงานรวดเร็วชัดเจนมากขึ้น โดยการเรียนแบบสหวิชาชีพยังทำให้แต่ละอาชีพเป็นเพื่อนกันด้วย ซึ่งจะทำให้การทำงานง่ายมากขึ้น" น.ส.ทัศวรรณ ระบุ
          สหวิชาชีพคืออะไร? คำถามนี้ น.ส.วันเพ็ญ ตันวีระพันธุ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผอ.รพ.สต. ปลักแรด เป็นผู้อธิบาย สหวิชาชีพเป็นการนำบุคลากรสาธารณสุขแขนงต่างๆ มาร่วมกันดูแลผู้ป่วยอย่างครบวงจร ตั้งแต่ 1.อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จะทำหน้าที่สอดส่องดูแลสุขภาพ ของคนในชุมชน หากพบว่ามีผู้ป่วยจิตเวช หรือเจ็บไข้ ได้ป่วยอื่นๆ ก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ รพ.สต.ทันที
          2.เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำ รพ.สต.หลังจากได้รับเรื่องแล้วจะลงพื้นที่มาที่บ้านผู้ป่วยทันที เพื่อประเมินแนวทางการรักษาว่าสามารถรักษาได้ที่ รพ.สต.หรือไม่ หรือต้องไปที่โรงพยาบาล 3.พยาบาลจาก รพ.อำเภอและจังหวัด จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับ เจ้าหน้าที่ รพ.สต. โดยหลังจากได้รับเรื่องจากในพื้นที่ จะแจ้งเรื่องแก่แพทย์ เพื่อเตรียมตัวในการรักษาคนไข้ 4.เภสัชกร มีหน้าที่จ่ายยาต่างๆ ให้ผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่ จะทำเป็นรายเดือน เพื่อไม่ต้องให้ผู้ป่วยเสียเวลา มารับยาที่ รพ. บ่อยๆ
          5.นักภายภาพบำบัด ทำหน้าที่ไปตรวจเยี่ยม และรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว ทั้งผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และให้การอบรม อสม. ในการดูแลผู้ป่วยในชุมชน 6.นักจิตวิทยา ซึ่งได้เข้ามาดูแลผู้ป่วยและให้ คำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. และ อสม. ว่าจะต้องเข้าหาผู้ป่วยอย่างไร และ 7.องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในกรณีผู้ป่วยอาการหนักต้องรักษาอย่างทันท่วงที เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะนำผู้ป่วย ส่งโรงพยาบาล
          "การทำงานด้านสุขภาพจิตของ รพ.สต. มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังเกิดขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้ว ที่เราได้ช่วยผู้ป่วยจิตเวชคนหนึ่ง ที่เคยถูกขังอยู่ ในบ้านเพราะคนในครอบครัวไม่รู้จะทำอย่างไร สภาพผมเผ้ารุกรุงรัง แต่หลังจากที่ทีมงานเข้าไปช่วยเหลือแล้ว ต่อมาผู้ป่วยสามารถมีชีวิตปกติ กลับเข้าสู่สังคมได้" น.ส.วันเพ็ญ กล่าว
          ผอ.รพ.สต. ปลักแรด เล่าต่อไปว่า การทำงานแบบสหวิชาชีพมีความสำคัญเพราะเราต่างมี ความถนัดต่างกัน เมื่อมารวมกันทำงานเป็นทีม จึงสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยสื่อสารกันเป็นชั้นๆ แต่ถ้าในบางกรณีที่มีปัญหาใหญ่จริงๆ และอาการไม่ดีขึ้น ทุกคนจะมาประชุมและหาทางออกร่วมกัน หากมีกรณีฉุกเฉินก็จะมีการลงพื้นที่ ทันที อย่างไรก็ตามการดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิตนั้น เราจะไม่เข้าไปทีละหลายๆคน เพราะจะมีการต่อต้านจากคนไข้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นงานของ อสม. ที่รับเป็นเจ้าภาพในการดูแลคนป่วย เนื่องจากเป็นใกล้ชิดกับผู้ป่วยและญาติมากที่สุด
          "จากวันนั้นถึงวันนี้ เราได้รักษาผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกทิ้งจากครอบครัว จนกระทั่งพวกเขากลับมามีชีวิตเป็นปกติได้จำนวน 24 คน แม้จะดู ไม่มาก แต่ในแง่ความเป็นมนุษย์ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากคนเหล่านี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือ พวกเขาก็จะกลายเป็นคนที่ถูกทิ้ง เป็นคนเร่ร่อนหรือ คนบ้าที่อาจจะสร้างความหวาดกลัวและเดือดร้อนให้ คนในสังคมแบบที่เราเห็นในข่าวได้ ซึ่งจะกลายเป็น ปัญหาสังคมที่กระทบต่อทุกคน" ผอ.รพ.สต. ปลักแรด กล่าวย้ำ
          ด้าน ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า การทำงานของ สหวิชาชีพ รพ.สต.ปลักแรด ถือเป็นตัวอย่างที่ดี ของการปฏิบัติงานร่วมกันของสหวิชาชีพ (Inter professional practice) ซึ่งได้เสนอให้มหาวิทยาลัยนเรศวรพานักศึกษาไปลงพื้นที่ เพื่อศึกษาว่าบริบทแต่ละวิชาชีพในการทำงานแบบนี้เขาทำอย่างไร
          "เหตุที่ ศสช. ต้องการผลักดันการเรียนการสอนแบบสหวิชาชีพ เพื่อให้บุคลากรสุขภาพ ทำงานเป็นทีมและดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม เมื่อแต่ละวิชาชีพต่างรู้หน้าที่และบทบาทของกันและกัน เมื่อจบไปก็สามารถทำงานร่วมกันได้ เพราะที่ผ่านมาการเรียนแบบแยกจะทำให้แต่ละคนทำเพียงหน้าที่ของตัวเองแล้วส่งต่อๆ กัน ซึ่งทำให้การรักษามีหลายขั้นตอนใช้เวลามาก แต่การทำงานเป็นทีมจะให้ช่วยให้รักษารวดเร็วยิ่งขึ้น"พญ.วณิชา อธิบาย
          เลขาธิการ ศสช. กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า หากบุคลากรสาธารณสุขไม่ได้เรียนร่วมกัน การรักษาพยาบาลจะออกไปทาง "ต่างคนต่างสั่ง" แพทย์มาถึง ก็สั่ง เภสัชกรมาถึงก็สั่ง "ไม่มีการเชื่อมโยงประสานกัน"ในทางตรงข้าม การได้มาทำความรู้จักกัน เรียนและทำงานร่วมกัน ความขัดแย้งก็จะลดน้อยลง อนึ่ง..ในบางสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นอกจากคณะแพทยศาสตร์กับ คณะเภสัชศาสตร์แล้ว ยังดึงเอา คณะสถาปัตยกรรม ศาสตร์ มาร่วมเป็นสหวิชาชีพด้วย เพราะต้องเข้าไปดูที่อยู่อาศัยของผู้ป่วย อาทิ จุดเสี่ยงพลัดตกหกล้ม กรณีเป็นผู้สูงอายุ
          ผลสุดท้ายผู้ที่ได้ประโยชน์..ก็คือคนไข้ที่มา รับการรักษานั่นเอง!!!

 pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved