Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 18/05/2560 ]
บุคลากรทางการแพทย์ งานเสียสละบนภาวะสุดเสี่ยง

  "งานหนัก-เวลาพักน้อย-ไม่ต้องคอยวันหยุดเทศกาล"
          นี่คือ "นิยาม" ของอาชีพในภาค "บุคลากรทางการแพทย์" ที่ต้องรักษาคนเจ็บคนป่วย ซึ่งแต่ละวันมีผู้ไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งในช่วงเทศกาลอย่าง "ปีใหม่-สงกรานต์" ที่คนส่วนใหญ่ได้หยุดงานกันยาวๆ แต่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์นั้นตรงข้าม เพราะต้อง "เตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง"เนื่องจากช่วงดังกล่าวมักมีความถี่ของอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แต่ขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์ก็ยังเป็น "คนคนหนึ่ง" มีโอกาสพบเหตุการณ์ร้ายๆ ไม่คาดคิดได้ไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ
          ดังที่เป็นข่าวใหญ่ 2 ครั้งภายในระยะห่างเพียงไม่ถึง 1 เดือน กรณีแรกเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือน เม.ย.2560 ที่ผ่านมา เมื่อพยาบาลสาวรายหนึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.บึงกาฬ ถูกวัยรุ่นที่มีอาการเมาสุราออกอุบายทำทีจะไปขอยาแก้ปวด ทว่าเมื่อพยาบาลเปิดประตูกลับพยายามใช้กำลังบังคับหมายจะข่มขืนกระทำชำเรา
          กับอีกเหตุการณ์เมื่อต้นเดือน พ.ค. กรณีอาสากู้ภัยนำรถตู้พยาบาลออกไปช่วยเหลือคนขี่มอเตอร์ไซค์ที่ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ แต่ขณะกำลังทำการปฐมพยาบาล รถกระบะคันหนึ่งที่ทราบต่อมาว่า "เมาแล้วขับ" พุ่งเข้าชนทีมกู้ภัย ส่งผลให้ มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ศพ และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง เหตุเกิดที่ จ.ตรัง สะท้อนถึงการทำงานที่นอกจากจะเหนื่อยแล้วยัง "เสี่ยง" ต่อความปลอดภัยในชีวิตของตนอีกต่างหาก
          เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดเสวนาหัวข้อ "คุณภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทำอย่างไรให้ยั่งยืน" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2560 ในเวทีนี้ มีบุคลากรทางการแพทย์หลายภาคส่วน มา "บอกเล่า" ว่าชีวิตการปฏิบัติงาน ได้พบความเสี่ยงอะไรกันบ้าง
          อาทิ นายสิทธิชัย ใจสงบ ตัวแทนจากสมาคมผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ไทย เปิดเผยว่า ชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะ "ทีมฉุกเฉิน" การทำงานแต่ละวันต้องระมัดระวังในหลายเรื่อง ตั้งแต่ 1.การใช้รถพยาบาล ที่คนขับอาจจะต้องรับส่งผู้ป่วยในระยะทางค่อนข้างไกล จนทำให้พนักงานขับรถเกิดอาการเหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
          2.การสัมผัสเชื้อโรค ซึ่งการป้องกันการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยอาจได้รับเชื้อในขณะปฏิบัติงานได้ 3 ทาง คือ จากการถูกเข็มหรือของมีคมที่เปื้อนเลือดหรือสารคัดหลั่ง ทิ่ม ตำ บาด  หรือ อาจเข้าสู่ทางผิวหนังที่มีบาดแผลหรือรอยถลอก หรืออาจกระเด็นเข้าตา เข้าจมูก ปาก ของผู้ปฏิบัติงานได้ และ 3.ความเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย โดยเฉพาะจากผู้ป่วยหรือญาติ ดังที่ ปรากฏเป็นข่าวหลายครั้ง
          "หากไม่สามารถควบคุมผู้ป่วยหรือญาติได้ ก็ควรมีมาตรการดูแลเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน และเยียวยาหากเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ โดยควรจัดทำระเบียบการจ่ายเงินชดเชย รวมถึงการ สร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้บังคับบัญชาควรให้ความสำคัญ และควรมีการผลักดันกฎหมายคุ้มครองสวัสดิการบุคลากรทางการแพทย์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงสร้าง พ.ร.บ.ปูนบำเหน็จ ในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ และจัดตั้ง กองทุนดูแลอาสาสมัครมูลนิธิต่างๆ หากเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ รวมถึงเพิ่มโทษสำหรับผู้ทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์ด้วย"นายสิทธิชัย กล่าว
          ซึ่งการถูกทำร้ายร่างกายนี้ ร.อ.ชัชวาลย์ จันทะเพชร ศูนย์ปฏิบัติการแพทย์ทหารอากาศ กรมแพทย์ทหารอากาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินจะได้รับอันตรายมากกว่าอาชีพอื่นถึง 3 เท่า" โดยจากการเก็บสถิติความรุนแรงในสถานที่ทำงาน และการจัดการของบุคลากรทางการพยาบาล หน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน พบว่า ผู้ปฏิบัติงานฉุกเฉินทางการแพทย์จะถูกทำร้าย เช่น ถูกผลัก ดึง กระชาก มากถึงร้อยละ 40 รองลงมาคือ ถูกขว้างปาด้วยวัตถุ ร้อยละ 19 ถูกตบตีกระแทก ร้อยละ 10 ถูกชกต่อยเตะ ร้อยละ 10 และถูกใช้อาวุธกรีดหรือแทง ร้อยละ 9
          "สถิติเหล่านี้มีความน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง จึงอยากให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันที่จะสร้างความ ตระหนักในเรื่องของความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืน" ร.อ.ชัชวาลย์ ให้ ความเห็น
          เช่นเดียวกับ รศ.ดร. ศิริอร สินธุ ตัวแทนจากสมาคมพยาบาลฉุกเฉินประเทศไทย ที่ระบุว่า ประเด็นบุคลากรทางการแพทย์ถูกทำร้าย "หลายเรื่องไม่เป็นข่าว" แต่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานอยู่ตลอด เช่น เจ้าหน้าที่ผู้ชายมีความเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายร่างกาย ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบและไม่ปลอดภัยจากการถูกคุกคามทางเพศ
          "ที่น่าสนใจคือเหตุการณ์พวกนี้ไม่ได้มีการบันทึกความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเราทำบันทึกความไม่ปลอดภัยจากการทำงานที่ชัดเจน จะทำให้เราหามาตรการในการป้องกันหรือดูแลผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินได้" รศ.ดร.ศิริอร ระบุ นอกจากภัยคุกคามจากการถูกทำร้ายร่างกาย-ล่วงละเมิดทางเพศแล้ว "อุบัติเหตุ" บนถนนที่ทีมกู้ภัยเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บก็เป็นอีกความเสี่ยง นายอิทธิกร บุตรสาระ เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี ให้มุมมองว่า สิ่งที่ควรจะทำคือ ผู้ปฏิบัติงานควรมีการจัดแบ่งหน้าที่ ก่อนที่จะลงเหตุทันที โดยแบ่งเป็นทีมจราจรที่จะเคลียร์พื้นที่ เช่น การจัดตั้งกรวยให้ห่างจากจุดเกิดเหตุและการติดสัญญาณไฟ ให้เห็นอย่างเด่นชัด ซึ่งจะต้องเป็นทีมที่แยกออกจากทีมที่จะต้องเข้าไปช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด "อุบัติเหตุซ้อน" จนเพิ่มความสูญเสีย
          ขณะที่ข้อคิดเห็นต่อกรณีอุบัติเหตุทีมกู้ภัย จ.ตรัง ถูกรถกระบะชน พญ.จันทิรา แก้วสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้ากล่าวว่า ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองก่อนทุกครั้ง "เพราะหากเราอยู่ในสภาวะที่ไม่ปลอดภัย ก็จะไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้" ดังนั้นทุกครั้งที่ต้องออกเหตุช่วยเหลือผู้ป่วย ต้องตั้งสติให้ดีและยึดหลักปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของตนเองดังต่อไปนี้
          1.เมื่อไปถึงแล้วจะต้องสำรวจถึงสถานที่ที่เกิดเหตุ ว่าคือที่ไหน? มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนหรือไม่? หากมีก็ให้รีบประสานขอการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น ตำรวจ เพื่อมาดูแลการจราจร ต้องมีการวางกรวยจราจรให้ห่างจากจุดเกิดเหตุอย่างน้อย 50 เมตร หากไม่มีจะต้องหากิ่งไม้ ขนาดใหญ่มาวางไว้ให้ประชาชนที่ขับรถสัญจรไปมาสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญควรจอดรถปฏิบัติงานให้อยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัย
          2.ในส่วนของเรื่องสภาพแวดล้อมที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องสำรวจความเสี่ยง เช่น บริเวณนั้นมีกลิ่นแก๊สหรือไม่? มีเสาสายไฟฟ้าหักล้มหรือไม่? จะต้องดูอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียต่อเจ้าหน้าที่ลงไปช่วยปฏิบัติหน้าที่ ขอให้ผู้ที่เข้าให้การช่วยเหลือ โทร.แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากตำรวจแล้วอาจจะมีหน่วยอื่น อาทิ การไฟฟ้าฯ หรือว่าหน่วยเสริม กรณีที่ผู้บาดเจ็บมีเป็นจำนวนมาก และ 3.ในกรณีกลางคืน ควรจะเตรียมเครื่องมือที่ใช้ส่องสว่างในพื้นที่เกิดเหตุให้เพียงพอ
          "ที่สำคัญคือประชาชนเองจะต้องมีวินัยจราจร เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่จะต้องชะลอรถอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติได้ง่ายขึ้น" ผช.ผอ.รพ.พระนั่งเกล้า ฝากถึงประชาชน ด้านนายวสันต์ ศุภศรี เจ้าหน้าที่กู้ชีพจากมูลนิธิร่วมกตัญญู ฝากถึง "กู้ภัยรุ่นใหม่" หรือบรรดาน้องๆ อาสาที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ทราบดีว่าแต่ละคน "ใจเกินร้อย" มุ่งมั่นที่จะรีบไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ว่าอย่าลืมปฏิบัติตามหลักสูตรความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้เรียนรู้มาอย่างเคร่งครัด รวมถึงเมื่อเวลาไปถึงที่เกิดเหตุ ขอให้มีสติและคิดถึงสิ่งที่ได้อบรมฝึกฝนมา
          "บางครั้งไปถึงที่เกิดเหตุเห็นคนไข้ร้องโอยๆ จะลงไปช่วยเลยก็ไม่ได้ ต้องคิดถึงความปลอดภัยที่จะเกิดซ้ำทั้งสำหรับตัวเองและผู้ประสบภัยด้วย นอกจากนี้ก็อยากฝากถึงผู้ใช้รถใช้ถนน หากเห็นเจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติงานก็อยากให้ช่วยอำนวยความสะดวก ให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงานอย่างปลอดภัยด้วย" ตัวแทนจากมูลนิธิร่วมกตัญญู ฝากทิ้งท้าย
          ทั้งหมดนี้คือ "ชีวิตจริง" ของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงอาสากู้ภัยในแต่ละวัน บางเรื่องอาจปรากฏผ่านสื่อแต่อีกหลายเรื่องก็ไม่ค่อยมีใครได้รับรู้ ฉะนั้นแล้ว อยากให้ผู้ใช้บริการรวมถึงคนทั่วไป "เข้าใจ-เห็นใจ" เพราะพวกเขาเหล่านี้ "ปิดทองหลังพระ" ทำงานอย่างเสียสละ..
          แม้ใน "ช่วงเวลาพักผ่อน" ของใคร หลายคน!!!

 pageview  1204381    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved