Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 27/04/2560 ]
เทคนิคการเสริมสร้างความมั่นใจให้ลูก หมอแนะ ต้องรู้จักชม

  “คำชม” ย่อมเป็นสิ่งดีที่ใครๆ ก็อยากได้ยินโดยเฉพาะสำหรับเจ้าตัวน้อย การได้รับคำชื่นชมจากพ่อแม่ย่อมทำให้เกิดความภาคภูมิใจและมั่นใจในตัวเอง ถือเป็นแรงเสริมทางบวกที่จะช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ซึ่งครั้งนี้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีเทคนิคการเลี้ยงลูกเพื่อให้เกิดความภูมิใจในตัวเองมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพของลูกๆ ในยุคปัจจุบัน
          ความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็ก เปรียบเสมือนการที่เด็กมองเห็นภาพของตัวเองในด้านดี โดยภาพเหล่านี้จะถูกเก็บสะสมเรื่อยๆ จนกลายเป็นทัศนคติความเชื่อตนเอง พญ.ถิรพร ตั้งจิตติพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ ได้อธิบายว่า “ในช่วง 3 ปีแรกของชีวิตเป็นช่วงเวลาที่เด็กอยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่มากที่สุด ซึ่งเด็กจะมีวิวัฒนาการและการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา โดยเริ่มมีการทำสิ่งต่างๆ เป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรก โดยเด็กในวัยนี้จะเริ่มเรียนรู้จากการทำพฤติกรรมและดูว่าผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ดังนั้นในช่วงนี้ การที่พ่อแม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ช่วยเหลือตนเอง และลองผิดลองถูกในการแก้ปัญหา จะยิ่งเพิ่มความสามารถและความภาคภูมิใจให้กับลูกได้ ซึ่งพ่อแม่นับเป็นผู้ช่วยที่สำคัญเปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่ดี ผ่านการชมเชย แต่จุดอ่อนที่หมอพบเจอได้บ่อยๆ จนทำให้ลูกไม่มีการพัฒนาความมั่นใจในตนเอง คือ การไม่ให้โอกาสแก่ลูกได้ช่วยเหลือตนเอง และไม่ค่อยได้ชื่นชมลูกจะคอยแต่ตำหนิติเตียน หรือเรียกว่าการจับผิดมากกว่าจับถูก ซึ่งสิ่งสำคัญเหล่านี้พ่อแม่ควรทราบและนำมาปฏิบัติให้ถูกวิธีก่อน
          โดยความเป็นจริงการสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกควรอยู่ในอัตราส่วนการกล่าวคำชม 5 ครั้งต่อการดุ 1 ครั้ง นั่นคือพ่อแม่จะต้องคอยมองว่าลูกสามารถทำสิ่งที่พ่อแม่ชอบได้ เมื่อทำถูกต้องก็ต้องกล่าวชมลูกเพื่อทำให้ลูก สุขใจและเรียนรู้ที่จะทำพฤติกรรมนั้นซํ้าๆ ซึ่งต้องประกอบด้วย 3 หลักใหญ่เข้าด้วยกัน คือ 1.ชมถึงพฤติกรรม 2.พฤติกรรมนั้นเรียกว่าคุณสมบัติอะไร และ 3.ความรู้สึกของพ่อแม่ อาทิ “ลูกเก่งมากที่ทำการบ้านเสร็จ หนูเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบ แม่ภูมิใจในตัวหนูนะ” สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ต้องรู้สึกอย่างนั้นกับลูกจริงๆ ถ้าแกล้งทำลูกก็จะดูออกว่าพ่อแม่ไม่ได้ชื่นชมจริง”
          ทั้งนี้ เด็กๆ ที่พ่อแม่เจาะจงชมที่ตัวพฤติกรรมอันเหมาะสม หรือชื่นชมในความพยายามของลูก จะทำให้เด็กๆ พร้อมเผชิญความท้าทายต่างๆ ของชีวิตในอนาคตได้ดีกว่าเด็กๆ ที่พ่อแม่ชมแบบกว้างๆ อย่างคำว่า “ดีจัง หรือ เก่งจัง” เพราะบางครั้งเด็กทำพฤติกรรมหลายอย่างพร้อมกัน เด็กจะไม่รู้ว่าตัวเองได้รับคำชมจากการกระทำอะไรที่ทำแล้วพ่อแม่ชอบ ดังนั้นการชมโดยเจาะจงที่พฤติกรรมทำให้เด็กๆ รู้ว่าเขามีศักยภาพและความสามารถอย่างไร และการชื่นชมในความพยายามของลูก แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ ก็ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าความพยายามเป็นทักษะที่จำเป็นในชีวิต แต่ในขณะเดียวกันการชมลูกด้วยคำพูดปิดท้ายประโยคว่า “ที่สุดในโลก” เช่น เก่งที่สุดในโลก หรือ ดีที่สุดในโลก หากชมนานๆ ครั้งก็คงไม่เกิดผลอะไร แต่หากเราติดปากพูดเป็นประจำก็อาจทำให้เด็กหลงคิดว่าตนเองนั้นเก่งและดีที่สุดในโลกจริงๆ จนยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรืออาจคิดเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นเสมอ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาด้านทักษะการเข้าสังคมในอนาคตได้”
          นอกจากนี้ การชมของคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ได้ฝึกพูดบ่อยๆ จะทำให้ดูขัดเขินซึ่งไม่เป็นผลดี ดังนั้นพ่อแม่ควรเริ่มต้นในการชมกันเองก่อน เพื่อให้พร้อมในการชมลูกได้ติดปาก โดยไม่ต้องกลัวว่าจะชมลูกมากเกินไปแล้วลูกจะเหลิง เพราะการชมนอกจากจะช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในตนเองแล้วยังเป็นการช่วยสร้างสัมพันธภาพของลูกกับพ่อแม่ รู้ได้เรียนรู้ว่าพ่อแม่ยอมรับตนเอง ซึ่งจะทำให้เด็กเป็นเด็กที่เก่ง ดี และมีความสุขต่อไป

 pageview  1204953    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved