Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 28/03/2560 ]
ยา...'กิน-ใช้'ไม่ถูกวิธี! เสี่ยง'ไตวาย-เชื้อดื้อ'ถึงตาย

  “ผมป่วยเป็นไตวายเพราะซื้อยากินเอง โดยเชื่อการโฆษณาว่ายาสมุนไพรสามารถบำรุงล้างไต ซึ่งมีราคาแพงถึง 7,000-25,000 บาท แต่กลับป่วยเป็นไตวาย”
          เรื่องเล่าของ ธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ที่เขาย้ำว่าเป็น “บทเรียนราคาแพง” เพราะหลงไปซื้อยาตาม“โฆษณาชวนเชื่อ” บอกว่ามีสารพัดสรรพคุณทั้งรักษาและบำรุงร่างกาย ทว่าเมื่อใช้ไปสักพัก ผลกลับตรงข้าม กว่าจะได้เปลี่ยนไตใหม่ เขาต้องทนทุกข์ทรมานกับการฟอกเลือดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง..
          นานถึง 10 ปี!!!
          เช่นเดียวกับ ป้าผกา (นามสมมุติ) หญิงวัย 45 ปี เล่าว่า เธอเคยมีลูกชายอยู่คนหนึ่ง ลูกชายคนนี้ในวัย 17 ปีได้เป็นนักฟุตบอลทีมจังหวัด แต่ละวันต้องฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อเตรียมลงแข่งขัน และเมื่อมีอาการปวดเมื่อยก็ได้รับคำชักชวนแบบ “ปากต่อปาก” จากนักกีฬาคนอื่นๆ ให้ไปซื้อยามากินแก้ปวด ลูกชายของคุณป้ากินยาลักษณะนี้อยู่เป็นปีก็ล้มป่วย เมื่อไปถึงมือแพทย์พบว่า “ไตวาย” ท้ายที่สุด คุณป้ารายนี้ต้อง “สูญเสีย” ลูกชายไปอย่าง..
          ไม่มีวันกลับ!!!
          จากอุทาหรณ์ทั้ง 2 กรณี ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล(สยส.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยากลุ่มที่เรียกว่า “เอ็นเสด” (NSAIDs) อันหมายถึง ยาแก้ปวดแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น อินโดเมทาซิน (Indomethacin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ไพร็อกซิแคม (Piroxicam) ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เมเฟนามิคแอซิด (Mefenamic acid) เซเลโคซิบ (Celecoxib) และ เมล็อกซิแคม (Meloxicam) เป็นยาที่มี “ผลข้างเคียง” ต่อไต
          การใช้จึงต้อง “ระมัดระวัง” ใช้ให้ถูกขนาด ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น และไม่ใช้ต่อเนื่องนานๆ ผู้ใช้ยาต้องได้รับการตรวจติดตามการทำงานของไต และหลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่เป็นโรคไตอยู่เดิม แต่ขณะนี้กลับพบการใช้ยากลุ่มดังกล่าว “พร่ำเพรื่อ” ในสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนรวมถึงร้านขายยาต่างๆ แต่ที่น่าห่วงมากคือการ “ลักลอบ” จำหน่ายอย่างผิดกฎหมายตามร้านชำหรือรถเร่ ในรูปแบบ “ยาชุด” ซึ่งมีเอ็นเสดมากกว่า 1 ชนิดในยาชุดแต่ละซอง “ซ้ำเติม” ให้เกิดพิษต่อไตอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น
          สอดคล้องกับ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ที่ระบุว่า วันนี้ชุมชนต่างๆ ยังมีความเสี่ยงจากโรคไตเพราะได้รับตัวยาอันตราย เช่น การฉีดยาต้านอักเสบที่ไม่ถูกต้อง ยาที่อนุญาตขึ้นทะเบียนไม่เหมาะสม อาทิ ยาสูตรผสมระหว่างยาต้านอักเสบเอ็นเสดกับสเตียรอยด์และวิตามิน มีการอนุญาตทะเบียนยาที่อ้างบำรุงไตหรือล้างไตที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึง “ยาสมุนไพรแผนโบราณ” ที่ลักลอบใส่ยาต้านอักเสบ ที่ยังไม่มีการจัดการปัญหาโฆษณาเกินจริง ทำให้ผู้ป่วยหลงเชื่อหาซื้อมาบริโภคจนเป็นอันตราย
          ด้าน ศ.นพ.ชัยรัตน์ ฉายากุล อายุรแพทย์โรคไต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ฝากเตือนประชาชนถึงหลัก “4 ไม่” หรือข้อห้าม 4 ประการเพื่อป้องกันผลกระทบต่อไตจากการกินยา คือ 1.ไม่หยุดยาเอง 2.ไม่ซื้อยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ หรือยาบำรุงอาหารเสริมมากินเอง 3.ไม่หลงเชื่อคำโฆษณาจนกินยาที่ไม่รู้จัก และ 4.ไม่กินยาของผู้อื่นโดยเชื่อว่าตัวเราน่าจะใช้ได้ผลดีเหมือนกัน
          “มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคไตเพราะใช้ยากลุ่มเอ็นเสดโดยตรง มาเป็นเวลานาน ยาฆ่าเชื้อบางชนิด หรือยาจีน ยาสมุนไพรไทยที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด บางครั้งจะทำให้ไตเสื่อมหรือหยุดทำงานได้” นพ.ชัยรัตน์ ระบุ
          นอกจากเรื่องของการเสียไตเพราะใช้ยาไม่ถูกต้องแล้ว ภาวะ “เชื้อดื้อยา” จากการใช้ “ยาปฏิชีวนะ” (Antibiotic) อย่างไม่สมเหตุสมผล ก็กำลังเป็น“วิกฤติ” ไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่การหาซื้อยากินเองค่อนข้างทำได้ง่าย รวมถึงการนำไปใช้กับปศุสัตว์ในฟาร์ม ดังที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยในเวทีสัมมนาผู้บริโภค และรณรงค์วันสิทธิผู้บริโภคสากล เมื่อเร็วๆ นี้ ณ รร.อมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง ว่า จากการตรวจสอบเนื้อหมูผ่านตลาด ห้างค้าปลีก และการสั่งซื้อผ่านออนไลน์จำนวน 15 แห่ง
          แม้จะพบเพียง 2 แห่งที่มีเนื้อสัตว์ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ และพบในปริมาณไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ไม่ว่าปริมาณมากหรือน้อย ก็มีโอกาสทำให้เชื้อดื้อยาได้ทั้งสิ้นหากบริโภคเข้าไป ซึ่งหลังจากนี้จะส่งข้อมูลให้กรมปศุสัตว์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำกับดูแลต่อ รวมทั้งจะแจ้งไปยังเจ้าของตลาดทั้ง 2 แห่งเพื่อหาต้นตอว่าเนื้อสัตว์นั้นมาจากฟาร์มไหน เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ดำเนินการจัดการต่อไป
          นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันมีเชื้อดื้อยามากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลได้มีมติ เห็นชอบ แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 ให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ ในเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นการร่วมมือหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาให้ได้ร้อยละ 50 ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในคน ร้อยละ 20 ในสัตว์ร้อยละ 30 และประชาชนมีความตระหนักรู้เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี ซึ่ง 1 ในนั้น มีเรื่องของการใช้ในสัตว์เลี้ยงด้วย
          โดยมี 2 ส่วน คือ 1.การดูแลสุขภาพสัตว์ไม่ให้เจ็บป่วย รักษาความสะอาดและสุขอนามัยในฟาร์ม 2.การควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ทุกกระบวนการห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่การผลิตจากฟาร์ม โรงฆ่า การขนส่ง จนถึงการแปรรูปหรือตลาด และส่งถึงผู้บริโภค ไม่ให้มียาปฏิชีวนะตกค้างในอาหารหรือมีเชื้อดื้อยาปนเปื้อนในอาหาร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะร่วมกันดำเนินการเพื่อให้ผู้บริโภครับประทานอาหารที่ปลอดภัย
          ภาวะเชื้อดื้อยา หรือในต่างประเทศเรียกเชื้อโรคประเภทนี้ว่า “ซูเปอร์บั๊ก” (Super Bug) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ได้รับยาปฏิชีวนะไม่ถูกชนิด หรือถูกชนิดแต่ไม่ครบขนาด ซึ่งนอกจากเชื้อจะไม่ตายแล้ว ยังวิวัฒนาการตนเองให้ “แข็งแกร่งกว่าเดิม” ทนทานต่อยาปฏิชีวนะชนิดนั้นได้ ส่งผลให้วงการแพทย์ต้องคิดค้นยาตัวใหม่ๆ ที่ฤทธิ์แรงกว่าเดิมต่อไปเรื่อยๆ
          แน่นอนว่าการคิดยาใหม่แต่ละตัว “ไม่ง่าย” จึงกลายเป็น “ความเสี่ยง” หากต้องเจอกับเชื้อกลายพันธุ์เหล่านี้ เช่น ในอดีตบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ รวมถึงการผ่าตัดของแพทย์ สามารถทำคนตายได้จากภาวะ “ติดเชื้อในกระแสเลือด” เมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในร่างกาย กระทั่งมนุษย์ค้นพบยาปฏิชีวนะตัวแรก “เพนิซิลลิน” (Penicillin) ในปี 2471 และมีการพัฒนายาตัวอื่นๆ มาตามลำดับ การตายของมนุษย์ด้วยภาวะนี้จึงลดลงไปมาก
          ทว่าหากยังปล่อยให้เกิดภาวะเชื้อดื้อยาจนกลายร่างเป็นซูเปอร์บั๊กต่อไป เว็บไซต์ amr-review.org ซึ่งเป็นเครือข่าย เฝ้าระวังภาวะเชื้อดื้อยาในอังกฤษ ถึงกับทำนายว่า ในปี 2593 (ค.ศ.2050) จะมีประชากรโลกต้องตายเพราะภาวะเชื้อดื้อยาถึง 10 ล้านคน และนี่อาจเป็น“หายนะครั้งใหญ่” ที่นำไปสู่...
          “จุดจบ” ของมนุษยชาติ!!!

 pageview  1204512    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved