Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 11/12/2556 ]
'สังคมไทยไร้แร่ใยหิน' สัญญาสุขภาพที่รอวันเป็นจริง
 ความรู้เชิงปัญญาที่คนไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ ยังมีอยู่อีกมากมาย เนื่องจาก ในสังคมไทยทุกวันนี้ ยังมีคนที่ "ขาดคุณธรรม" แฝงอยู่ในสังคมเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ใส่ตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของ ผู้อื่นอีกมากมาย การได้เรียนรู้เรื่องราวทางวิชาการเพื่อเอาไว้ประดับปัญญาจึงเป็นสิ่งที่คนไทยจะขาดเสียมิได้
          ตัวอย่างจากเรื่อง "แร่ใยหิน" ที่ "ปานมณี" นำเอา มาให้อ่านกันในวันนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ชี้ให้เห็นถึง การขาดคุณธรรมของคนบางคน บางกลุ่มในสังคม
          เรื่องของ แร่ใยหิน แม้จะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ สู่ระดับสากลแล้วว่า "แร่ใยหินทุกชนิดเป็นอันตราย ต่อมนุษย์" เพราะมันคือ "สารก่อมะเร็งที่ส่งผลให้เกิด โรคมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง มะเร็งกล่องเสียง" จึงทำให้หลายประเทศประกาศยกเลิกใช้และนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหินทั้งสิ้น
          ในประเทศไทย ครม.ได้มีมติในเดือนเมษายน 2554 ให้มีการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ ภายในปี 2554 และยกเลิกการผลิตและนำเข้าสินค้าแร่ใยหินทั้งหมดภายในปี 2555 แต่ปัจจุบันกลับพบว่า มติดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังมีการยืดระยะเวลาออกไป คล้ายกับรอท่าทีอะไรบางอย่าง...
          เพื่อร่วมกันหาคำตอบและแนวทางดำเนินการผลักดันตัวอันตรายนี้ให้ออกไปจากสังคมไทย แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) และภาคีเครือข่าย จึงได้ร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้อันตรายของแร่ใยหิน
          โดย รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ กล่าวว่า แม้แต่องค์การที่ให้ ความสำคัญด้านการเงินอย่างองค์การธนาคารโลก ยังเป็นหนึ่งในองค์การนานาชาติที่ให้การสนับสนุนการยกเลิกใช้ แร่ใยหิน รวมถึงองค์การมาตรฐานสากล หรือ ISO ซึ่งเป็น ผู้ออกมาตรฐานต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจและอุตสาหกรรม ได้กำหนดข้อตกลงในการขอรับรองมาตรฐานที่ระบุว่า ต้องปลอดแร่ใยหินอันส่งผลอันตรายต่อพนักงานหรือผู้ที่เข้ามาใช้งาน
          "ฉะนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า การรับรู้ถึงพิษภัยของแร่ใยหิน คือกระแสโลกที่ปัจจุบันต่างชาติกว่า 58 ประเทศ ได้ประกาศยกเลิกการใช้และการรับผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบแล้วทั้งสิ้น แต่เมื่อหันกลับมามองสถานการณ์ที่บ้านเรา กระทั่งจนถึงวันนี้ยังมีการออกหนังสือทางวิชาการมาคัดค้านผลวิจัยเรื่องอันตรายจากแร่ใยหิน ทำให้เกิดเป็นคำถามว่า เรากำลังเดินสวนกระแสโลกอยู่ หรือไม่" ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ กล่าว
          ในปี 2540 ในวงการแพทย์ ได้ระบุว่า โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ร้อยละ 80 จากแร่ใยหิน แม้จะมี อัตราการสัมผัสขนาดต่ำ เพราะเกณฑ์ในการตรวจก็เพียงแค่มีการพบเซลล์มะเร็งที่เยื่อหุ้มปอดและจากการซักถามประวัติการทำงานของคนไข้เท่านั้น อาชีพที่พบว่ามีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสแร่ใยหิน ได้แก่ คนงานและวิศวกรที่ดูแลการทุบทำลายสิ่งปลูกสร้าง เพราะไม่มีตึกหรืออาคารใดที่มีระดับปลอดภัยในการสัมผัสแร่ใยหิน
          ศ.นพ.ดร.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาทำให้มติดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จ คือขณะนี้ในบ้านเรายังมีผู้ป่วยที่บ่งชี้ได้ว่ามีสาเหตุมาจากแร่ใยหินน้อยมาก แต่ก็ไม่มีเหตุผลใดที่บอกว่าคนไทยสามารถทนต่อการสัมผัสแร่ใยหินได้มากกว่าชนชาติอื่น และก็คงไม่มีความจำเป็นที่ต้องรอให้เกิดการสูญเสียเพิ่มขึ้น ทั้งที่ปัจจุบันได้มีการผลิตสารทดแทนการใช้แร่ใยหินแล้วในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลก หากยังคงมีข้ออ้างในเรื่องของราคาที่สูงขึ้น
          "ถึงแม้ว่าเราจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินในตอนนี้ แต่ยังคงมีวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่เหลือค้างสต๊อกอยู่อีกมากมาย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องเผชิญกับการสัมผัสแร่ใยหินนี้ต่อไปอีกเป็น 10 ปี และโรคที่เกิดจากแร่ใยหินนี้ ต้องใช้เวลาถึง 20-30 ปีถึงจะเกิดอาการ" ศ.นพ.ดร.พรชัย กล่าวทิ้งท้าย
          เป็นเรื่องที่น่าวิตกว่า การต่อสู้เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น และยังคงเป็นโจทย์ให้ชวนคิดหาคำตอบต่อไปว่า "ผู้ที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจจะเลือกเดินหมากตัวไหนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม ระหว่างการขจัดแร่ใยหินตัวทำร้ายสุขภาพให้หมดไปจากสังคมไทย กับ การรักษาผลประโยชน์มหาศาลด้านการค้าแต่ทำลายชีวิตคนทั้งประเทศ คนไทยที่ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีจะต้องไม่ทิ้งเรื่องนี้ให้มันหายลอยไปกับสายลมอย่างเด็ดขาด
 pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved