Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 13/02/2555 ]
"ขนมบูด" บุกชุมชน !! คุณภาพชีวิตเด็กแนวชายแดนดิ่งเหว

         "ขนมที่หมดอายุหรือไม่ได้มาตรฐานปกติแล้วโรงงานจะต้องทิ้งทั้งหมดแต่ผู้ประกอบการในภาคอีสานนำรถไปตระเวนซื้อในช่วงเวลาค่ำๆ แล้วนำมาทำหีบห่อย่อยๆไปเร่ขายให้กับร้านค้าในชุมชน ที่สำคัญพบวางขายอยู่ในร้านค้าโรงเรียนในพื้นที่ชนบทหลายแห่ง"

          ในขณะที่ชุมชนเมืองได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดคุณภาพชีวิตคนชนบทกลับถดถอยน่าใจหาย ความเหลื่อมล้ำนี้มีให้เห็นในทุกมิติ ข้อมูลหนึ่งจากสมัชชาสุขภาพสะท้อนคุณภาพชีวิตเด็กในชุมชนอย่างน่าห่วง...
          ข้อมูลจาก ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน (www.isranews.org)รายงานว่า ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.) เปิดเผยว่าจากการสำรวจได้พบพฤติกรรมผู้ประกอบการจำหน่ายขนมกรุบกรอบในพื้นที่จังหวัดแนวชายแดน ซึ่งทำอันตรายต่อเด็กและผู้บริโภคอย่างรุนแรง โดยทำกันอย่างโจ่งแจ้ง และไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปดูแล
          ทพ.ธงชัย อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่ามีด้วยกัน 3 ลักษณะ ได้แก่ 1.พบการนำเข้าขนมกรุบกรอบคุณภาพต่ำจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จีน มาเลเซีย ขนมเหล่านี้ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีตรารับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)จึงพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีส่วนประกอบใด เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคมากน้อยเท่าใด
          2.พบพฤติกรรมของผู้ประกอบการในประเทศไทย ที่จงใจผลิตขนมกรุบกรอบหรืออาหารเลียนแบบผลิตภัณฑ์ที่วางขายอย่างถูกต้อง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งระบุไว้เพียงคำว่ารสต้มยำโดยมีบรรจุภัณฑ์ภายนอกคล้ายคลึงยี่ห้อดัง แต่ขายเพียง 1-2 บาทแต่ไม่ระบุผู้ผลิต สถานที่ผลิต ส่วนประกอบ ไม่มีตรา อย.
          3.พฤติกรรมของผู้ประกอบการที่ไปตระเวนรับซื้อขนมที่หมดอายุ ผลิตไม่ได้มาตรฐาน หีบห่อฉีกขาด จากโรงงานเอามาใส่บรรจุภัณฑ์ใหม่ ไปวางขายในราคาถูก
          "ขนมที่หมดอายุหรือไม่ได้มาตรฐาน ปกติแล้วโรงงานจะต้องทิ้งทั้งหมด แต่ผู้ประกอบการในภาคอีสานนำรถไปตระเวนซื้อในช่วงเวลาค่ำๆ แล้วนำมาทำหีบห่อย่อยๆไปเร่ขายให้กับร้านค้าในชุมชน ที่สำคัญพบวางขายอยู่ในร้านค้าโรงเรียนในพื้นที่ชนบทหลายแห่ง"
          สำหรับการกระจายของขนมเถื่อนเหล่านี้ หากเป็นขนมที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ในจังหวัดแนวชายแดน ส่วนขนมที่ผู้ประกอบการตั้งใจเลียนแบบหรือนำมาบรรจุหีบห่อใหม่จะมีวางขายทั่วประเทศแต่จะอยู่ในหมู่บ้าน ชุมชน ชนบท เพราะกลุ่มเป้าหมายของผู้ขายคือตลาดล่าง โดยแหล่งผลิต-นำเข้า-จำหน่ายขนมกรุบกรอบเถื่อนใหญ่ที่สุดคือ จ.ปัตตานี หนองคายอุบลราชธานี และสุรินทร์
          คุณหมอธงชัยขยายความอีกว่า โดยทั่วไปขนมกรุบกรอบจะมีอันตรายเนื่องจากความหวาน-มัน-เค็ม เมื่อเด็กกินเข้าไปจะได้รับน้ำตาล เกลือ ไขมันเกินความพอดี แต่กรณีเด็กแนวชายแดนจะยิ่งอันตรายมากกว่า เพราะมีโอกาสได้รับเชื้อรา แบคทีเรีย สีผสมอาหารเข้าสู่ร่างกาย
          "จากผลการสำรวจทั่วประเทศ โดยเก็บตัวอย่างจากเด็ก3 หมื่นคน พบว่า 30% ของเด็กไทยอายุ 2-14 ปี รับประทานขนมกรุบกรอบทุกวัน และอีก 20% กินบางวัน หมายความว่าเด็กประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทยเข้าถึงขนม โดยที่ไม่รู้ว่าขนมเหล่านั้นมีความปลอดภัย-อันตรายเพียงใด"
          เขาบอกอีกว่า มูลค่าขนมขบเคี้ยวในประเทศสูงถึง16,600 ล้านบาท และเด็กไทยมีแนวโน้มบริโภคเพิ่มมากขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละ 10% โดยบริโภคในอัตราส่วนที่เกินกว่าองค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 2 เท่า
          ทพ.ธงชัยมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ เพราะต้นตอของปัญหาอยู่ที่ผู้ประกอบการที่แสวงหากำไรโดยปราศจากความรับผิดชอบส่วนร้านค้า โรงเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงเด็กก็รู้เท่าไม่ถึงการณ์มองไม่เห็นอันตรายเหล่านี้ จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งควบคุม
          "พฤติกรรมของพ่อค้าขนมบูดพวกนี้ เมื่อบรรจุหีบห่อใหม่น่ารับประทาน อาจมีการหลอกล่อเด็กด้วยของเล่นหรือสีสันที่ดึงดูดจากนั้นก็จะเอาสินค้าใส่รถกระบะเร่ขายให้กับร้านขายของชำทุกหมู่บ้าน"
          ด้าน ทพญ.สุขจิตรา วนาภิรักษ์ สาธารณสุขจังหวัดแพร่(สสจ.แพร่) เสริมว่าที่ผ่านมาได้ทำงานขับเคลื่อนนโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมและขนม แต่เมื่อทบทวนข้อมูลในจังหวัดกลับพบว่าแนวโน้มขนมที่ไม่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น โดยในจ.แพร่ พบผลิตภัณฑ์อาหารและขนมที่ผิดกฎหมายถึง 16%ของทั้งหมดในพื้นที่
          "ไม่เข้าใจว่าขนมคุณภาพต่ำเหล่านี้ผ่านศุลกากรเข้ามาได้อย่างไร เพราะวางขายแพร่หลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"
          ทพญ.สุขจิตรา ให้รายละเอียดอีกว่า เด็กใน จ.แพร่มีโอกาสเข้าถึงขนมที่ไม่มีตรา อย.อย่างง่ายดายโดยเฉพาะร้านค้าหน้าโรงเรียน หรือเป็นขนมที่หน่วยงานต่างๆ มักนำมาแจกในงานเทศกาลเช่น วันเด็ก โดยปรากฏการณ์เหล่านี้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบเฝ้าระวังในประเทศไทย
          ทพญ.จินดา พรหมทา โรงพยาบาลจอมพระสุรินทร์ เล่าว่า เฉพาะใน อ.จอมพระมีแหล่งบรรจุหีบห่อขนมใหม่ติดกับแนวชายแดนถึง 4 พื้นที่ และใช้เส้นทาง อ.ศรีขรภูมิเป็นทางผ่านในการกระจายขนม จ.สุรินทร์จึงถือเป็นแหล่งบรรจุหีบห่อขนมขนาดใหญ่และจะกระจายไปทั้ง จ.บุรีรัมย์ จ.ร้อยเอ็ดและจ.ศรีสะเกษ เธอบอกว่าที่ผ่านมามีการจับกุมแหล่งบรรจุหีบห่อขนมเถื่อน 2 โรงงาน สภาพเป็นเพียงพื้นปูเสื่อมีแรง งานนั่งบรรจุขนม เศษขนมกระจัดกระจายเต็มพื้นที่กลิ่นเหม็นอับ พบเชื้อราอยู่ทั่ว มีการใช้สีที่ไม่ใช่สีผสมอาหารใส่ลงไปในขนม
          "ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือมาตรการทางกฎหมายแต่ในขณะนี้ก็ยังมีข้อจำกัดคือเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสิ่งปนเปื้อนในขนมได้ ไม่มีผู้แจ้ง"
          ส่วน ภก.ภาณุโชติ ทองยัง สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม ไม่เชื่อว่ากฎหมายคือเครื่องมือแก้ปัญหาที่วิเศษที่สุด ต้องสร้างเครือข่ายให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหา คือแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน ต้องมองปัญหาเป็นองค์รวมคือไม่แยกแก้ไขเฉพาะขนมกรุบกรอบหรืออาหาร ที่สำคัญคือให้ความรู้ชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การออกมาตรการเฝ้าระวังความเสี่ยงในชุมชนเอง
          "ผมไม่หวังว่าขนมทุกอย่างต้องมี อย. ถามว่าขนมที่มี อย.มีประโยชน์ทั้งหมดจริงหรือ เราต้องทำให้เด็กเปลี่ยนทัศนคติเลือกกินเฉพาะของมีประโยชน์ ชุมชนต้องร่วมตระหนัก ทุกคนต้องร่วมกันเฝ้าระวังภัย"
          ทั้งนี้ข้อมูล อย.ระบุว่า ผู้ที่บรรจุหีบห่อขนมใหม่โดยไม่ขออนุญาต มีโทษตามมาตรา 51 พ.ร.บ.อาหาร ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หากเข้าข่ายโรงงานไม่ขออนุญาตโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการทำบรรจุภัณฑ์ปลอมหรือทำให้คล้ายคลึงสินค้าที่ผลิตอย่างถูกต้อง ผิดฐานทำอาหารปลอมหรือมีฉลากเพื่อหลอกลวงหรือทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ โทษจำคุก 6-10 ปี ปรับ 5,000-10,000 บาทนอกจากนี้หากตรวจพบว่าขนมไม่บริสุทธิ์ โทษจำคุกไม่เกิน2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          คำถามคือ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังแล้วหรือไม่ และเพียงพอหรือยังที่จะปกป้องคุณภาพชีวิตเด็กชนบทให้รอดพ้นจากขนมเถื่อนเหล่านี้?!?
 pageview  1205119    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved