Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 11/08/2564 ]
สายพันธุ์เดลต้ายึดปท.ไทยลามครบทุกจว.กรุงเทพฯสาหัสติดเชื้อหนักสุด

   'บิ๊กตู่'ห่วงราคาชุดATKแพงสั่งเร่งสต๊อกยา'ฟาวิพิราเวียร์'ดับนิวไฮ235ศพ-ป่วย19,843คน
          โควิดไทยเกินวิกฤติติดเชื้อวันเดียวยัง 19,843 คน ตายทำนิวไฮ 235 ราย ภาพรวมติดเชื้อยอด 71 จว.ป่วยหมื่นกว่าแซงหน้ากทม.-ปริมณฑลแล้ว ส่วนฉีดวัคซีน สะสม 21.1 ล้านโดส บูสเตอร์โดสแล้ว 2.6 แสนราย ครอบคลุม "กทม.-ปริมณฑล"42.1%  สธ.เผยสายพันธุ์เดลต้าระบาดครบทุกจังหวัด 91% กทม.อ่วมตรวจ เจอมากถึง 95% วอนปชช.ช่วยหยุด แพร่เชื้อ ชี้ตรวจภูมิหลังฉีดไม่จำเป็น ขณะที่มท.สั่งผู้ว่าฯเร่งฉีดวัคซีนกลุ่ม เปราะบาง โฆษกรัฐบาลแจงทยอยส่งไฟเซอร์ เป็นลอต เพื่อประสิทธิภาพบริหารจัดการ ยันทยอยส่งครบตามแพทย์ขอมา  นายกฯย้ำกลางครม.เร่งตรวจเชิงรุกแยกคนป่วยมา รักษา เชื่อว่าจะคุมระบาดได้  สั่งสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ให้เหลือใช้มากกว่าพอดี สธ.ยันต.ค.-ธ.ค.จะหาได้เดือนละร้อย ล้านเม็ด
          เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม  ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมง
          ตายนิวไฮ235-ติดเชื้อยังทรง19,843คน
          โดยไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นใหม่ 19,843  ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 19,445 ราย  ติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 398 ราย  ป่วยสะสม 767,088 ราย หายป่วยกลับบ้าน 22,806 ราย หายป่วยสะสม 550,714 ราย ผู้ป่วยกำลังรักษา 211,223 ราย  ในโรงพยาบาล 62,717 ราย  โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 148,506  ราย อาการหนัก 5,450 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,106  ราย เสียชีวิต 235 ราย เสียชีวิตสะสม 6,494 ราย
          โควิดลาม71จว.หมื่นกว่ารายแซงกทม.
          เมื่อดูการติดเชื้อรายใหม่ในประเทศภาพรวมทั้งประเทศ อยู่ ต่างจังหวัด 71 จังหวัด 10,557 ราย หรือ 54% กรุงเทพฯและปริมณฑล 8,867 ราย หรือ 46% สำหรับยอดเสียชีวิต 235 ราย นั้น กระจายใน 39 จังหวัด มากสุดกรุงเทพฯ 111 ราย สมุทรสาคร 14 ราย นนทบุรี 1 ราย สมุทรปราการ 6 ราย ปทุมธานี 5 ราย ปัตตานี 9 ราย นราธิวาส 3 ราย สตูล 1 ราย   นครราชสีมา 3 ราย อุบลราชธานี 3 ราย หนองคาย 2 ราย ศรีสะเกษ 2 ราย ขอนแก่น 2 ราย กาฬสินธุ์ 1 ราย มุกดาหาร 1 ราย ยโสธร 1 ราย ร้อยเอ็ด 1 ราย หนองบัวลำภู 1 ราย อุดรธานี 1 ราย   พิจิตร 13 ราย ตาก 3 ราย กำแพงเพชร 2 ราย สุโขทัย 2 ราย อุทัยธานี 2 ราย นครสวรรค์ 2 ราย พิษณุโลก 1 ราย เพชรบูรณ์ 1 ราย อุตรดิตถ์ 1ราย อยุธยา 7 ราย ราชบุรี 6 ราย ปราจีนบุรี 5 ราย ฉะเชิงเทรา 4 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 2 ราย ชลบุรี 2 ราย สระแก้ว 1 ราย ตราด 1 ราย นครนายก 1 ราย เพชรบุรี 1 ราย ระยอง 1 ราย
          อายุ100ปี-หญิงท้องเสียชีวิตด้วย
          เป็นชาย 122 ราย หญิง 113 ราย ไทย 233 ราย เมียนมา 2 ราย  ค่ากลางอายุ 66 ปี ตั้งแต่ 20-100 ปี ไม่ทราบอายุ 1 ราย โดยมากสุดยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 96%  เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 150 รายหรือ 64% อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 75 ราย หรือ 32% ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 8 รายหรือ 3% ตั้งครรภ์ 1 ราย ที่จ.ปทุมธานี พบเสียชีวิตในบ้าน 2 รายที่กรุงเทพฯและนราธิวาส  สำหรับผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศ 21 ราย ได้แก่ โอมาน 1 ราย, เมียนมา 17 ราย ผ่านด่านพรมแดนทางบกและช่องทางธรรมชาติ, มาเลเซีย 3 ราย ผ่านช่องทางธรรมชาติ
          ไทยฉีดวัคซีนแล้ว21.1ล้านโดส
          ศบค.ยังสรุปภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์- 9 สิงหาคม มียอดสะสม 21,171,110 โดส แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 16,336,743 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 4,566,345 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 268,022 ราย  โดยวันที่ 9 สิงหาคม มีผู้ฉีดวัคซีนทั้งหมด 501,330 โดส แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 350,389 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 104,484 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 46,457 ราย  ทั้งนี้ เมื่อแยกรายพื้นที่ในส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑล มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น รายวัน 117,598 ราย มียอดสะสม 7,703,588 ราย ครอบคลุม 42.1% เป็น กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นรายวัน 10,721 ราย สะสม 1,293,761 ราย กลุ่ม ผู้มีโรคประจำตัว เพิ่มขึ้นรายวัน 16,339 ราย สะสม 884,588 ราย
          พื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เพิ่มขึ้นรายวัน 16,938 ราย สะสม 703,179 ราย ครอบคลุม 19.6% เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นรายวัน 3,211 ราย สะสม 148,304 ราย กลุ่มผู้มีโรค ประจำตัว เพิ่มขึ้นรายวัน 1,867 ราย สะสม 65,430 ราย   จังหวัดอื่น 67 จังหวัด เพิ่มขึ้นรายวัน 232,791 ราย สะสม 8,633,155 ราย ครอบคลุม 16.1% เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น รายวัน 67,439 ราย สะสม 2,120,922 ราย กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว เพิ่มขึ้นรายวัน 28,571 ราย สะสม 910,897 ราย
          เดลต้ายึดปท.ไทยแพร่ครบทุกจว.
          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงความคืบหน้าผลการตรวจเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆในประเทศไทยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม- 6 สิงหาคม ทั่วประเทศตรวจรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 จำนวน 1,632 ราย พบเป็นสายพันธุ์เดลต้า 1,499 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.9 สายพันธุ์อัลฟ่า 129 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.9 และสายพันธุ์เบต้า 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.2 โดยพบในภาคใต้ทั้งหมด เมื่อพิจารณาเฉพาะกรุงเทพมหานครตรวจ 1,157 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลต้า ร้อยละ 95.4 สายพันธุ์อัลฟ่าเหลือ ร้อยละ 4.6 ส่วนภูมิภาคมีการตรวจ 475 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลต้า ร้อยละ 83.2 สายพันธุ์อัลฟ่า ร้อยละ 16 และสายพันธุ์เบต้า ร้อยละ 0.8
          เหลือสุพรรณฯยังตรวจไม่เจอ
          "พูดง่ายๆ สายพันธุ์เดลต้าพบมากขึ้น และคงเบียดสายพันธุ์อัลฟ่าเรื่อยๆ จนสุดท้ายเกือบทุกรายน่าจะเป็นสายพันธุ์เดลต้าเป็นหลัก  เมื่อดูจากกราฟการตรวจพันธุกรรมในทุกสัปดาห์ สายพันธุ์เดลต้าขึ้นทุกสัปดาห์มาค่อนข้างเร็ว เพราะกระจายเชื้อได้ง่าย จึงครอบครองพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ ขณะนี้พบทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว แม้การตรวจนี้จะยังไม่พบที่จ.สุพรรณบุรี แต่เข้าใจว่าอาจยังตรวจไม่เจอ แต่ไม่ได้แปลว่า ไม่มี จึงอาจสรุปได้ว่ามีสายพันธุ์เดลต้าครบทุกจังหวัดของไทยแล้ว" นพ.ศุภกิจ กล่าว
          เบต้า70%อยู่ที่นราฯจำกัดในภาคใต้
          และว่า ส่วนสายพันธุ์เบต้าสัปดาห์ที่ผ่านมาพบ 4 รายคือ จ.ภูเก็ต 3 ราย และ จ.พัทลุง 1 ราย ภาพรวม ร้อยละ 70 อยู่ที่จ.นราธิวาส ที่เริ่มต้นจากมีคนเดินทางข้ามมาจากมาเลเซียและเอาสายพันธุ์นี้ เข้ามาด้วย สายพันธุ์เบต้าอำนาจแพร่เชื้อไม่มาก ค่อนข้างจำกัดวงที่ ภาคใต้ การเจอนอกภาคใต้คือ จ.บึงกาฬ พบช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 5 ราย ซึ่งยุติไปแล้ว ส่วน 3 ราย ที่จ.สมุทรปราการ อยู่ในสถานกักกันโรค และ กรุงเทพฯ เคยพบ 1 รายแรก บวกญาติ 2 ราย ก็จบแล้ว ไม่พบเพิ่มเติม ฉะนั้น กรณีเบต้าไม่น่าเป็นปัญหานอกพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด  ขอให้ช่วยกัน เพราะธรรมชาติสายพันธุ์เดลต้าติดเชื้อง่ายมากกว่าเดิมหลายเท่า ทำให้การกระจายถึงรวดเร็ว ผู้ป่วยเพิ่มหลัก 2 หมื่นราย ต่อวัน เพราะแพร่เชื้อง่ายทำให้ติดง่าย
          จับตาแลมบ์ด้า-วอนช่วยหยุดแพร่เชื้อ
          นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า ดังนั้น ต้องเคร่งครัดสวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง อย่ารวมกลุ่ม ให้คนไทยช่วยกันหยุดยั้ง เพราะไวรัสไปเองไม่ได้ ไปกับผู้คน การทำกิจกรรมเสี่ยงทั้งหลาย ถ้าเราหยุดการแพร่เชื้อเร็ว ควบคุมโรคเร็ว โอกาสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่จะน้อยลง ขณะนี้ยังไม่เจอสายพันธุ์อื่น เช่น แลมบ์ด้า โดย เฝ้าระวังคนมาจากต่างประเทศ ทั้งในสถานกักกันโรค ชายแดน คลัสเตอร์แปลกๆ หรือผู้ป่วยหนัก
          ชี้ตรวจภูมิหลังฉีดวัคซีนไม่จำเป็น
          อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯยังกล่าวถึงกรณีคนที่ฉีดวัคซีนแล้วไปตรวจภูมิคุ้มกันว่าขึ้นเท่านั้น เท่านี้ว่า การตรวจไม่ได้บอกอะไร ไม่คุ้มที่จะไปตรวจ เพราะเป็นการขึ้นของภูมิคุ้มกันในภาพรวม ไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่า จัดการกับเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ ได้มากน้อยแค่ไหน และแล็บแต่ละแห่งมีค่าตัวเลขการวัดที่แตกต่างกันไป
          "องค์การอนามัยโลกยังไม่กำหนดว่าระดับภูมิคุ้มกันแค่ไหนจะป้องกันโรคได้ ดังนั้น หากไปตรวจ ก็ควรถามคนตรวจว่า ใช่การตรวจ Neutralizing Antibodies ที่เป็นภูมิกำจัดเชื้อโรคหรือไม่ เป็นภาพรวม หรือจำเพาะต่อเชื้อสายพันธุ์ใด ต้องถามเพื่อให้คนตรวจอธิบายว่า ผลแปลว่าอะไร เพราะถ้าเป็นภูมิคุ้มกันทั่วไป ไม่มีประโยชน์ พอขึ้นไม่มาก ก็ไม่สบายใจ หรือขึ้นมาก ก็ไม่ได้แปลว่าป้องกันโรคได้ มองว่ามีกระบวนการชักชวนให้ตรวจ แต่ ไม่จำเป็น" นพ.ศุภกิจ กล่าว
          รพ.ขอนแก่นได้รับไฟเซอร์ครบแล้ว
          นพ.เอกชัย  เพียรศรีวัชรา โฆษกกรมอนามัยและผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพกล่าวถึงกรณีมีข่าวองค์กรแพทย์โรงพยาบาล (รพ.) ขอนแก่น ออกแถลงการณ์ทวงวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า เนื่องจากได้รับเพียงครึ่งเดียวของจำนวนที่ขอไปทั้งหมด ซึ่ง ผู้อำนวยการ รพ.ขอนแก่น ชี้แจงว่า เป็นความเข้าใจผิดในการสื่อสาร เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์ที่ส่งมาครึ่งหนึ่งเป็นลอตแรก เพราะด้วยการจัดเก็บที่ต้องอยู่ในอุณหภูมิเหมาะสม มิฉะนั้นอาจเกิดผลเสียต่อคุณภาพวัคซีน วันนี้จัดส่งและได้รับจำนวนวัคซีนที่เหลือเรียบร้อยแล้ว พร้อมฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ทันที การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์เริ่มทยอยฉีดแล้วตั้งแต่ วันที่ 4 สิงหาคมเป็นต้นมา
          รพ.มธ.ได้ไฟเซอร์ครบเริ่มฉีดวันแรก
          ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ โรงพยาบาลที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ไปฉีดให้บุคลากรแพทย์และ เจ้าหน้าที่ด่านหน้าว่า  วันนี้เป็นวันแรกที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี เปิดฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็ม 3  เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า 2 ,400 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบ  2 เข็ม  โดยแบ่งการฉีดเป็น 2 รอบ วันละ 400-500 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ โรงพยาบาลได้รับจัดสรรวัคซีนจากคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ปทุมธานี เพียง 1 ,400 โดส หรือ ร้อยละ 60 ไม่ครบตามจำนวน ที่ขอ ไป จนเกิดปัญหาสื่อสารให้บุคลากรเข้าใจ แต่ล่าสุด กรมควบคุมโรคได้จัดสรรวัคซีนมาให้เพิ่มเติมในส่วนที่ขาด แล้ว  เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม
          นพ.พฤหัส  ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า ขอบคุณภาครัฐที่จัดสรรวัคซีนให้จนครบ ลดปัญหาบริหารจัดการภายในโรงพยาบาล และลดความกังวลใจให้ ผู้ปฏิบัติงานได้มาก  อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข บริหารจัดการวัคซีนให้เหมาะสม และจัดสรรวัคซีนตามรายชื่อที่หน่วยบริการทั่วประเทศร้องขอ ให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพราะแต่ละแห่งมีระบบที่ภาครัฐตรวจสอบความโปร่งใสได้อยู่แล้ว หรือ ตรวจสอบจากระบบหมอพร้อมจัดส่งแล้วไฟเซอร์ให้ 13 จว.แดงเข้ม
          ขณะที่นพ.โอภาส  การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคแถลงความคืบหน้าการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรแพทย์พื้นที่เสี่ยงว่า วันนี้ส่งไฟเซอร์ ลอตที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐฯลงไปใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า และประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ได้แก่ ผู้อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การส่ง ไฟเซอร์ลอตที่ 1 และ ลอตที่ 2 แบ่งเป็น 1.บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า 77 จังหวัด ส่งไปแล้ว 445,960 โดส กำลังจัดส่งอีก 244,040 โดส รวม 690,000 โดส ส่วนอีก 10,000 โดส จะให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่อาจตกหล่น และสำรวจเพิ่ม ซึ่งจะแจ้งเข้ามาที่สธ.อีกครั้งหนึ่ง
          2.กลุ่มประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 ใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและ เข้มงวด แผนการจัดสรรกลุ่มนี้คือ 645,000 โดส วันนี้ส่งแล้วรวม 320,860 โดส จะถึงปลายทางอย่างช้าวันที่ 11 สิงหาคม  สำหรับเข็มที่ 2 ฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์ จะส่งไปสัปดาห์ต่อไปอีก 320,000 โดส และกลุ่มชาวต่างชาติกับคนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศกับเด็กนักเรียนที่เหลือและการวิจัยจนครบ 1.5 ล้านโดส
          สำหรับจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัดแรก ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สงขลา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
          มท.สั่งทุกจว.เร่งฉีดกลุ่มเปราะบาง
          ด้านนายฉัตรชัย  พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ประชุมสั่งการ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานครบริหารจัดการวัคซีน โดยเร่งรัดฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ทั้งในจุดฉีดวัคซีนที่เป็นในโรงพยาบาลและจุดฉีดนอกโรงพยาบาล โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
          แจงไฟเซอร์ทยอยส่งเป็นลอตๆแรก75%
          ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประเด็นจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ที่บุคลากรทางการแพทย์ออกมาถามหา ทำไมรัฐจัดสรรน้อยกว่าจำนวนแพทย์ที่แจงลงทะเบียนมาว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่เข้ามาไทย 1.5 ล้านโดส จัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 7 แสนโดส เบื้องต้นส่งลอตแรกไปแล้วประมาณ 50-75% ไปโรงพยาบาลต่างๆ ที่ได้สำรวจผู้ต้องการฉีดวัคซีน โดยจะทยอยส่งเป็นลอต เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการ เพราะหากส่งไปครั้งเดียวร้อยเปอร์เซ็นต์บางพื้นที่อาจได้รับเกินหรือขาด แต่ขอยืนยันหลังจากนี้จะทยอยส่งให้ครบตามจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่แจ้งความจำนงมา และที่จะได้ฉีดตามกฎระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งไว้
          นายกฯจี้ตรวจเชิงรุกหาผู้ป่วยรักษา
          รายงานข่าวจากทำเนียบฯแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวสั่งการก่อนเริ่มประชุม ครม.ถึงสถานการณ์ระบาดของ โควิด-19 ในประเทศไทยว่า วันนี้มีผู้ป่วย รักษาหายมากกว่าผู้ติดเชื้อ ถ้าเร่งค้นหาเชิงรุก และรักษาให้หายได้เร็วแบบนี้ ต่อเนื่อง สถานการณ์น่าจะดีขึ้น นอกจากนี้ นายกฯยังย้ำกระทรวงสาธารณสุขให้ เบิกจ่ายงบกลางของกระทรวงเพื่อเร่งรัด ใช้จ่ายเงินหมุนเวียนไปเพื่อเยียวยาบุคลากรทางการแพทย์
          สั่งสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ให้เหลือใช้
          รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมวันนี้ ใช้เวลาหารือเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์นานที่สุด เพราะนายกฯนำประเด็นที่โซเชียลมีเดียโจมตีว่าทำไมรัฐบาลไม่ให้เอกชนตั้งฐานผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขชี้แจงว่า รัฐบาลไม่ได้ห้าม ตั้งได้แต่การ ตั้งฐานการผลิตต้องใช้เวลา อย่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ยังใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะตั้งโรงงานได้ และขณะนี้อภ.ได้เปลี่ยนไลน์การผลิต โดยให้โรงงานอื่นผลิตยาตัวอื่นแทน อภ. เช่น พาราเซตามอล เพื่อนำกำลังมาผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ให้ได้มากขึ้น เดือนตุลาคม-ธันวาคมจะผลิตได้เดือนละประมาณ 30-40 ล้านเม็ด เมื่อรวมกับการนำเข้าจากจีน อินเดีย จะทำให้ได้เดือนละประมาณ 100 ล้านเม็ด ถือว่าเพียงพอ ต่อการใช้ 8.5 แสนเม็ดต่อวัน ขณะที่ นายกฯขอว่า อยากให้เตรียมสำรองเผื่อไว้แบบเหลือใช้มากกว่าที่จะจัดหาให้พอดี โดยนายอนุทินรับแนวทางดังกล่าวไปดำเนินการ ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันสภากาชาดไทยเอง ก็ประสงค์จะผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ด้วย นายอนุทิน จึงระบุว่าจะเร่งหารือเรื่องตั้งโรงงานผลิต
          คุมราคาATKไม่ได้ทุนนำเข้าต่างกัน
          รายงานข่าวเผยอีกว่า นายกฯยังสอบถามราคาชุดตรวจ ATK ว่าพอจะควบคุมได้หรือไม่ เนื่องจากยังมีหลายคน บ่นว่าแพง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ชี้แจงว่า ได้ไปพูดคุยกับผู้นำเข้าชุด ATK แล้ว ทำให้รู้ว่า แต่ละยี่ห้อมีต้นทุนนำเข้าต่างกัน จึงเป็นเรื่องยากควบคุมให้อยู่ในราคาเดียวกัน นายอนุทินแจ้งที่ประชุมว่า วันเดียวกัน (10 ส.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จัดประกวดราคาจัดซื้อชุดตรวจ ATK ที่รัฐบาลจะนำไปแจกให้ประชาชน ขอให้ รอดูราคากลาง นายกฯจึงย้ำกับที่ประชุม ครม.ว่า ไม่ว่าจะเรื่องวัคซีน หรือยาฟาวิพิราเวียร์ขอให้ดำเนินการ ทุกอย่างให้ชัดเจน และเตรียมข้อมูล เพื่อชี้แจงด้วย
          ทั้งนี้ ได้เกิดการปะทะกันขึ้นอีกระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งวางแนวสกัดรับมือคาร์ม็อบบางส่วนช่วงสามเหลี่ยมดินแดงตัดเข้าถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อป้องกัน ไม่ให้มวลชนมาถึงหน้า ร.1 รอ. ที่เป็นบ้านพักหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โดยเวลา 17.10 น. สถานการณ์บริเวณแยกดินแดงใกล้จุดที่เคยมีการปะทะกันไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เริ่มดุเดือดขึ้น โดยมีมวลชนขว้างปาประทัด และก้อนอิฐเข้าไปใส่แนวสกัดของเจ้าหน้าที่
          มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้ตัดสินใจใช้แก๊สน้ำตา พร้อมกับมีเสียงระเบิดคล้ายประทัดดังเป็นระยะ โดยทางเจ้าหน้าที่ประกาศให้มวลชนถอยออกไปส่วนแกนนำ ฝั่งผู้ชุมนุมประกาศให้ประชาชนที่อยู่ บริเวณแยกดินแดงให้ไปรวมตัวกันที่หน้าคิง พาวเวอร์

 pageview  1205469    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved